“ทนายปู”ยื่นอุทธรณ์ป.ป.ช.คดีข้าวจี้สอบ“อำพน” ชี้รู้ดีสุดมีทุจริตหรือไม่
“นรวิชญ์” ทนาย “ยิ่งลักษณ์” ร้องอุทธรณ์คดีรับจำนำข้าวต่อ ป.ป.ช. ให้พิจารณาเพิ่ม 4 ประเด็น จี้สอบ “อำพน” เป็นพยานปากเอกเพราะรู้พฤติการณ์อดีตนายกฯในเรื่องป้องปรามทุจริตดีที่สุด ยันไต่สวนเร็วเกินไปหากเทียบกับคดีอื่น ขอให้รอผลสอบสำนักนายกฯประกอบสำนวนด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ผู้ถูกกล่าวหาในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เดินทางมายื่นหนังสืออุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีนายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นตัวแทนลงมารับหนังสือร้องเรียน
นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้งดสอบกรณีข้าวสารสูญหาย 2.977 ล้านตัน และพยาน 8 ปากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มอบหมายให้มายื่นโต้แย้งคัดค้านใน 4 ประเด็น ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้งดสอบเพิ่มเติม เพื่อขอความเป็นธรรม โดยประเด็นที่ 1 คือมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้งดการสืบพยานข้าวจำนวน 2.977 ล้านตัน และตัดพยาน 3 ปาก ซึ่งเราเห็นว่า พยานทั้ง 3 ปากเกี่ยวข้องโดยตรง และจำนวนข้าว 2.977 ล้านตัน ยังมีข้อโต้แย้งตามรายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว กับองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร
นายนรวิชญ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 การคำนวณการเสื่อมราคาข้าว ในรายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ คิดแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเป็นจริงจะคำนวณแบบนั้นไม่ได้ ต้องดูความเป็นจริงว่า ข้าวนั้นเสียหาย หรือมีความเสื่อมจริงหรือไม่ ประเด็นที่ 3 การประเมินผลขาดทุน ซึ่งรายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ยังมีข้อโต้แย้งกับผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เป็นตัวเลขกว่า 172,933 ล้านบาท ซึ่งแม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่ทำให้ผลการขาดทุนลดงลง จึงถือว่าไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“ประเด็นที่ 4 เจตนาพิเศษที่ทำให้เกิดความเสียหาย เราขอให้ไต่สวนนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานนายกรัฐมนตรี แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้งดการไต่สวน โดยอ้างว่าพยานปากนี้ได้ทำหนังสือชี้แจงมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวไว้แล้วนั้น เราเห็นว่า การพิจารณาว่าใครทำผิดอาญาหรือไม่ ไม่ควรพิจารณาแค่เอกสาร แต่ต้องดูพฤติการณ์ด้วย ซึ่งนายอำพน เป็นเลขาธิการสำนักนายกฯ เห็นว่าในการประชุมโครงการรับจำนำข้าว ท่านอดีตนายกฯได้สั่งการอะไรเพื่อป้องปรามการทุจริตบ้าง อยากให้สืบเพิ่มในส่วนนี้ด้วย ก่อนคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง” นายนรวิชญ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีมติทบทวนอุทธรณ์จะทำอย่างไร นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ต้องดูว่ามีช่องทางไหนบ้างที่เราจะดำเนินการได้ แต่เราไม่สามารถบังคับได้ เพราะเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะพิจารณา อย่างไรก็ดีสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาจะต้องพยายามให้ได้รับความเป็นธรรมที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าการทำงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวดเร็วเกินไปหรือไม่หากเทียบกับคดีอื่นในอดีต นายนรวิชญ์ กล่าวว่า มันมีประเด็นข้อถกเถียงอยู่ เช่น ในเรื่องของกรณีข้าวสูญหาย 2.977 ล้านตัน ซึ่งตามรายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ยังมีข้อโต้แย้งกับ อ.ต.ก. และอคส. อยู่ อย่างไรก็ดียังมองว่ามีความรวดเร็วหากเทียบกับบุคคลอื่นในคดีข้าว ที่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าทีควร กลับกันที่เรื่องของท่านอดีตนายกฯ ที่ทราบมาว่า จะมีการพิจารณา รวบรวมสำนวน และไม่มีการไต่สวนเพิ่มเติมอีกแล้ว ส่วนกรณีทีมของม.ล.ปนัดดา ดิสกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างตรวจสอบข้าวนั้น เป็นคนละประเด็นกัน อย่างไรก็ดีถ้ารอการตรวจสอบของทีมสำนักนายกฯเพื่อนำมาประกอบด้วย ก็จะเป็นผลดี
“ขณะนี้ยังสงสัยอยู่ว่าการตรวจสอบข้าวของสำนักนายกฯ มีการโหมโรงให้กระแสข่าวชี้นำสังคมว่า อาจมีการทุจริตใหญ่โต ทั้งที่เพิ่งตรวจสอบไม่กี่โรงสี ผมมองว่า ไม่เป็นธรรมกับท่านอดีตนายกฯ และทำให้สังคมเชื่อว่ามีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ดังนั้นควรรอตัวเลขให้แน่ชัด และตรวจสอบให้เสร็จสิ้นเสียก่อน” นายนรวิชญ์ กล่าว