บอร์ดเภสัชฯแถลงการณ์โต้ 8 เครือข่าย ยันใช้เงินกองทุนเพื่องานองค์การฯ
บอร์ดองค์เภสัชฯ ออกแถลงการณ์ 4 ข้อโต้ 8 เครือข่าย ยันทำงานเต็มที่เพื่อเป็นหลักประกันประชาชนเข้าถึงยาคุณภาพ ไม่เป็นภาระทางด้านงบประมาณรัฐ ระบุผลิตยาที่ลดลงผลพ่วงจากพาราเซตามอลปนเปื้อน เบิกจ่ายเงินกองทุนดอกพิกุล เพื่อกิจกรรมองค์การ ไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบปกติได้
จากกรณี 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพร่วมกันไปยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้พิจารณาปลดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากบริหารองค์การเภสัชกรรม จนเกิดวิกฤตด้านยา รวมทั้ง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถเลี่ยงความรับผิดชอบนี้ได้ เพราะเป็นกรรมการบอร์ดมาตลอด
ล่าสุด องค์การเภสัชกรรม ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงข้อเท็จจริง และสาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นของ องค์การเภสัชกรรม โดยระบุเนื้อหาสำคัญว่า ดังนี้
จากเหตุการณ์ ที่ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ได้ยื่นหนังสือขอปลดบอร์ด อภ. และ ผอ.อภ. สาเหตุจาก ทำยาขาด ไม่ผลิตยากำไรน้อย ส่อทุจริตสร้างโรงงานใหม่นั้น
ทางองค์การฯ โดยคณะกรรมการองค์การฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงและสาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้
1.เรื่องการผลิตยาที่ลดลงในปีนี้
สืบเนื่องจากปัญหาเรื่องคุณภาพยาที่องค์การฯ เป็นผู้ผลิต ในช่วงปี 2556 ตลอดทั้งปีที่เป็นข่าวกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของผู้ป่วยและแพทย์ผู้ใช้ยาขององค์การฯ คงจำกันได้ทั้งเรื่องยาพาราเซตามอลที่ปนเปื้อน และตามมาด้วยยาสลับปนแผงกัน โดยเฉพาะยาพาราเซตามอลปนเปื้อน ที่ทำให้บอร์ด อภ. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน เมื่อพบว่าเป็นความบกพร่องการบริหารของ ผอ.อภ. ก็ได้มีมติเลิกจ้างอดีต ผอ.ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 และขณะนี้เรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครอง ที่อดีต ผอ. ได้ฟ้องคณะกรรมการองค์กาฯ และผู้เกี่ยวข้องต่อศาลปกครอง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ยาสลับปนแผงกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ผิดพลาดขึ้นอีก ทางคณะกรรมการองค์การฯ ได้มีมติขอให้ อย. เข้ามาตรวจทานระบบมาตรฐานการผลิตของ อภ. ทุกสายการผลิต ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่องค์การฯ ได้ผู้อำนวยการคนใหม่เข้ามาบริหารในเดือนกันยายน 2556 ทาง อย. ได้เสนอให้ปรับปรุงทั้งสถานที่และขบวนการผลิตใหม่หลายสายการผลิต และสายการผลิตบางแห่งถึงขั้นต้องหยุดการผลิตทันที เพราะไม่สามารถปรับปรุงสถานที่ผลิตเดิมได้ โดยเฉพาะจุดผลิต Mass Productionเดิม ที่มีเครื่องปั๊มยา HI SPEED และสายการผลิตยาผงเกลือแร่ และสายการผลิตที่เหลือก็ต้องหยุดปรับปรุงใช้เวลา 1-3 เดือนแล้วแต่ปัญหาของแต่ละจุดผลิตโดยภาพรวมแล้ว ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 องค์การฯต้องหยุดการผลิตเกือบทุกสายการผลิตเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม ทางคณะกรรมการ อภ.เห็นว่าเรื่องมาตรฐานการผลิตนี้เป็นปัญหาที่สำคัญเพราะหากไม่แก้ไข หากเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพยาขึ้นอีกจะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคและภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของ องค์การฯ เป็นอย่างยิ่ง จากเหตุดังกล่าวทำให้ในปีนี้การผลิตยาขององค์การฯ ไม่สามารถผลิตตามแผน กระทบต่อผลผลิตมาก
สาเหตุดังกล่าวท่านผู้อำนวยการองค์การฯ ได้เสนอปรับลดการผลิตยาบางรายการลง เพื่อคงการผลิตยาที่สำคัญตัวอื่นๆเอาไว้ โดยเฉพาะยาเบาหวาน METFORMIN ที่มียอดการผลิตปีละเกือบ 900ล้านเม็ด โดยขอปรับลดการผลิตลงเพื่อเฉลี่ยการผลิตไปยังยาตัวอื่นที่สำคัญ โดยยาเบาหวานตัวนี้ทางอภ.เห็นว่ามีจำหน่าย โดยผู้ผลิตอื่นๆในท้องตลาดมากกว่า 10 บริษัท โดยองค์การฯจะกลับมาผลิตยาตัวนี้เต็มกำลังตามความต้องการในเร็ววันนี้
จากเหตุที่ต้องมีการปรับปรุงสายการผลิตในช่วงต้นปีทาง อภ.ได้เร่งปรับปรุงสายการผลิต Mass Production ที่อดีต ผอ.ได้ปรับปรุงมาร่วม 3 ปี และตรวจรับงานไปเมื่อเดือน เม.ย.56 แต่ก็พบว่าต้องใช้เวลาปรับปรุงต่ออีก เพราะมีปัญหาเรื่องระบบปรับอากาศในห้องบรรจุ ทั้งๆที่ได้ตรวจรับงานไปแล้ว ขณะนี้ได้ปรับปรุงแก้ไขและเริ่มเข้าสู่ระบบการผลิตได้บางส่วน เพื่อเสริมการผลิตที่ต้องหยุดสายการผลิตเดิมแล้ว และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เรื่องการตรวจรับงานที่ผ่านมาแล้ว
2.เรื่องการก่อสร้างโรงงานยาที่รังสิตและโรงงานวัคซีนที่สระบุรีล่าช้า
ขอเรียนว่าเรื่องการผลิตที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะโรงงานที่รังสิตซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดเปิดประมูลรอบใหม่ เพราะตรวจพบว่าอดีตผู้บริหาร อภ.ได้มีการอนุมัติเปลี่ยนแบบรายการครุภัณฑ์ที่สำคัญ และมีการเพิ่มวงเงินการก่อสร้างอีกรวม 45 ล้านบท ซึ่งอยู่ในระหว่างการสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามระเบียบและเหมาะสมหรือไม่ และอยู่ระหว่างเริ่มการจัดประมูลใหม่ เพราะ TOR เดิมไม่เหมาะสม ส่วนโรงงานวัคซีนอยู่ในระหว่างเสนอปลัดกระทรวง สธ.เพื่อพิจารณาเสนออนุมัติต่อ คสช.ในการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมภายหลังเปลี่ยนแบบที่เหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นชอบในหลักการของการปรับปรุงแล้ว
3.ในส่วนเรื่องงบการวิจัยที่เสนอปรับลดลงจาก 45 ล้านบาทคงเหลือ 20 ล้านบาท นั้น ทางคณะกรรมการ อภ.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า อภ.ได้ตั้งงบรายจ่ายเพื่อสนับสนุนกองทุนเป็นประจำทุกปี ส่วนปีนี้ที่ปรับลดลง ก็เพราะเห็นว่างบสะสมเพื่อใช้ในการวิจัยมียอดคงเหลือรวม 194 ล้านบาท การปรับลดมิได้กระทบต่องบประมาณที่จะใช้ตามแผนงานวิจัยที่กำลังดำเนินการ หรือจะดำเนินการในปีต่อไปแต่อย่างใด
4.ในเรื่องการใช้จ่ายเงินกองทุนดอกพิกุล ซึ่งเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของ อภ.และเพื่อเป็นการสนับสนุนกีฬาและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ขององค์การฯนั้น ขอเรียนว่าที่มาของเงินกองทุนนี้ได้มาจากการจัดกอล์ฟการกุศลของ อภ.ปี 2557 นี้ ก็มีการจัดแข่งกอล์ฟการกุศลของ อภ.โดยประธานการจัดงานคือประธานกรรมการ อภ. (ประธานบอร์ด) โดยได้มีการมอบเงินจากรายได้การจัดงานจำนวน 1 ล้านบาท ให้กองทุนดอกพิกุล
สำหรับการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศก็เป็นการเบิกจ่ายค่ารับรองเลี้ยงผู้ประสานงาน ค่าใช้จ่ายเรื่องกอล์ฟก็เป็นการสนับสนุนกอล์ฟการกุศลที่หน่วยงานต่างๆขอรับการสนับสนุนมายังอภ. รวมทั้งการรับรองแขกของ อภ.
ส่วนค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันรถ ก็เป็นการเบิกจ่ายรถของประธานที่ใช้ออกเดินทางพบปะตรวจเยี่ยมลูกค้าขององค์การฯในต่างจังหวัด รวมไปถึงค่าเหมาจ่ายค่าโทรศัพท์ของประธาน ซึ่งใช้ในการติดต่อประสานงาน ซึ่งการเบิกจ่ายกองทุนดอกพิกุลนี้เป็นการเบิกจ่ายเพื่อกิจกรรมขององค์การฯที่ไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบปกติได้
ขอเรียนว่าการผลิตและจำหน่ายยาของ อภ.เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่คงต้องรอการปรับปรุงที่รังสิต ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตกลับคืนมา และมีการผลิตเพิ่มขึ้น และจะเข้าสู่แผนการปรับปรุงโรงงานที่เดิมที่พระราม 6 ทำได้เต็มรูปแบบ ขอเรียนว่าทางองค์การฯ ยังมีปัญหาที่สะสมรอการแก้ไขอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่สั่งซื้อมาเป็นจำนวนมาก เช่น วัตถุดิบโอเซลทามิเวียร์ ที่ใช้รักษาไข้หวัด ที่สั่งซื้อมา จำนวนรวม 864 ล้านบาท ซึ่งจะหมดอายุต้องทำลายทิ้ง ในปี 2556 เกือบ 500 ล้านบาท จะทำให้กระทบต่อผลประกอบการ อภ.เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งเรื่องที่สร้างความเสียหายอีกหลายเรื่องของอดีตผู้บริหารองค์การฯ โดยคณะกรรมการได้ส่งเรื่องไปยัง ปปช. เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อ และบางเรื่องก็อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการที่คณะกรรมการ อภ.แต่งตั้งตรวจสอบอยู่
อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าคณะกรรมการ อภ. ยืนยันที่จะปกป้อง พัฒนาการดำเนินงานของ อภ.เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ และไม่เป็นภาระทางด้านงบประมาณของรัฐในการสนับสนุนการรักษาพยาบาลให้คนไทยทุกคน