โปรดฟังอีกครั้ง! "บิ๊กตู่"แจงโครงสร้างดับไฟใต้ กับงานสัปดาห์แรกของ"บิ๊กโด่ง"
แม้โครงสร้างใหม่การบริหารจัดการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุค คสช. จะถูกนำเสนอเป็นข่าวทางสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องมานานหลายสัปดาห์ แต่ดูเหมือนหลายฝ่ายยังไม่เข้าใจรายละเอียด
เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ก.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หัวหน้า คสช.) จึงได้ถือโอกาสอธิบายเรื่องนี้ในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และถือเป็นครั้งแรกที่หัวหน้า คสช.พูดถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง เมื่อ 22 พ.ค.57
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เทศกาลถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม ขออำนวยพรให้พี่น้องชาวมุสลิมทุกคนที่ถือศีลอดตามแนวทางของศาสนาอิสลาม ประสบผลสำเร็จตามที่ทุกท่านมุ่งหวังไว้ ขอให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และอื่นๆ ช่วยกันทำให้พื้นที่ภาคใต้ของเรากลับคืนสู่ความสงบสุขโดยเร็วอย่างยั่งยืน คสช. มีนโยบายสนับสนุนชาวมุสลิมทั่วประเทศในการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม
ปัจจุบันในส่วนของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คสช.ได้ผ่อนผันให้สถานีวิทยุชุมชนในพื้นที่บางแห่งออกอากาศได้เป็นการชั่วคราว เพื่ออธิบายวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องของชาวไทยมุสลิม และเผยแพร่ข่าวสารในเทศกาลถือศีลอดนี้ ในห้วงปลายเดือน ก.ค. ในนามของรัฐบาลก็จะจัดงานเลี้ยงตามประเพณี โดย คสช.จะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว
สำหรับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบัน คสช.ได้ปรับโครงสร้างการทำงาน ขอเรียนให้ทราบอีกครั้งเพื่อต้องการให้เกิดเอกภาพและมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีอยู่ 3 ระดับด้วยกัน ดังนี้
ระดับนโยบาย หัวหน้า คสช.ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้คำปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายปัจจุบัน และการจัดทำนโยบายในห้วงต่อไป
ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เพื่อบูรณาการหน่วยงาน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลไกการบริหารจัดการที่มีอยู่เดิม ได้แก่ กพต. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) กปต. (คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) โดยมีรองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) เป็นประธาน มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ลมช.) เป็นเลขาธิการ และมีเลขาธิการรักษาความมั่นคงภายใน (ลธ.รมน.) กับเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้ช่วยเลขาฯ
คณะกรรมการขับเคลื่อนฯจะทำหน้าที่บูรณาการแผนงานโครงการของทุกหน่วยงาน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านความมั่นคงและการพัฒนา รวมทั้งบูรณาการการดำเนินงานของทุกส่วนราชการให้สอดคล้องกันอย่างต่อเนื่อง
ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบขับเคลื่อนในการนำนโยบายต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ เป็นการขับเคลื่อนงานของทุกส่วนราชการในภาพรวมเพื่อให้เกิดการบูรณาการ และเกิดความสอดคล้องของแผนงานโครงการ รวมทั้งสถานการณ์และความต้องการของประชาชน โดยอำนวยการ กำกับดูแลการปฏิบัติงานของจังหวัด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (กอ.รมน.จว.) กองกำลังตำรวจ (กกล.ตำรวจ) กองกำลังทหาร (กกล.ทหาร) ส่วนราชการของกระทรวงต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด
การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯนั้น เพียงแต่เพื่อให้การบูรณาการแผนงานและงบประมาณของทั้ง 3 ส่วน คือ กระทรวง ศอ.บต. และ กอ.รมน. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกหน่วยงานยังคงมีอิสระในการทำงานเป็นปกติ ยกเว้นในเรื่องของนโยบายเท่านั้น ซึ่ง คสช.ต้องการให้ใช้นโยบาย "การเมืองนำการทหาร" เอาความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง งบประมาณทุกงบประมาณจะต้องลงถึงประชาชนอย่างแท้จริง
เรื่องการพูดคุยสันติภาพนั้น คสช.ยังคงดำเนินการอยู่ โดยจะต้องอยู่ภายใต้หลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย โดยได้นำบทเรียนจากต่างประเทศมาใช้ มีการประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ของเรา และยังคงต้องให้ประเทศมาเลเซียช่วยเป็นผู้อำนวยความสะดวก พร้อมทั้งดำเนินการให้มีการพูดคุยกับบุคคลระดับสูง ขอยืนยันว่าจะปรับปรุงและแก้ไขทุกอย่างให้ดีขึ้น โดยอาศัยความเห็นชอบความร่วมกันของทุกพวกทุกฝ่าย
วันนี้ทางประเทศมาเลเซียใช้หลักการการแก้ไขปัญหาที่ว่า Win Heart and Mind แต่สำหรับประเทศไทย เราคงยึดถือยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะดำเนินการโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน ดำเนินการทุกอย่างภายใต้กฎหมายไทย
กก.ขับเคลื่อนฯถกนัดแรกวางกรอบงบ 58
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 30 มิ.ย.57 ได้มีการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1/2557 โดยมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ.เป็นประธาน
ผลการประชุม นอกจากการทำความเข้าใจเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่แล้ว พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน.แถลงว่า ยังมีเรื่องการบูรณาการแผนงาน/โครงการและงบประมาณ ปี 2558 โดยให้ยึดถือนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 เป็นกรอบทิศทางต่อเนื่องไปก่อน โดยให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์นโยบาย 9 ข้อ และเป้าหมายยุทธศาสตร์รวม 29 เป้าหมาย ตามลำดับความสำคัญหลักและรอง เพิ่มเติมด้วยนโยบายของหัวหน้า คสช.ที่ต้องการให้การแก้ไขปัญหามีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับในแผนงานและงบประมาณปี 2558 หน่วยงานศาลจะเพิ่มเข้ามาร่วมในแผนงาน และในที่ประชุมมีมติให้เพิ่มแผนงานของกระทรวงคมนาคมเข้ามาด้วย หลังจากนี้จะได้หารือหน่วยที่เกี่ยวข้องต่อไปตามปฏิทินงบประมาณ
การปรับแผนงานของ กอ.รมน. และ ศอ.บต.ในห้วงท้ายปีงบประมาณ 2557 ได้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันแล้ว สำหรับผลการจัดสรรและเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2557 สำนักงบประมาณรายงานความคืบหน้าว่ามีผลการเบิกจ่ายจนถึง 28 มิ.ย.57 จำนวนร้อยละ 66.96
เปลี่ยนชื่อพูดคุยสันติภาพเป็น "พูดคุยสันติสุข"
โฆษก กอ.รมน.แถลงต่อว่า การติดตามความคืบหน้า ปัญหา และอุปสรรคของการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2557 ภายใต้โครงสร้างศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ของกลุ่มงานต่างๆ ได้แก่
งานด้านการข่าว ที่ประชุมรับทราบการบูรณาการงานด้านการข่าวทั้งทางยุทธศาสตร์และทางยุทธวิธี ด้วยการจัดตั้งศูนย์ข่าวร่วม งานด้านการประชาสัมพันธ์ ให้กำหนดเป้าหมายเฉพาะ ทำงานเชิงรุกภายใต้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง
กลุ่มงานสาธารณสุข ขอให้ขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วพื้นที่ห่างไกล เพิ่มการเยียวยาทางด้านจิตใจต่อผู้ได้รับผลกระทบ และเสริมสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ให้มีความพร้อม
กลุ่มงานสนับสนุนการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ให้ สมช.รับผิดชอบในการประสานงาน การจัดทำแผนขับเคลื่อน เพื่อสร้างหลักประกันความต่อเนื่อง และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยให้มีแนวทางการเปิดช่องทางพูดคุยในระดับพื้นที่เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อกันก่อน และที่ประชุมเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อเรียกในภาษาไทยจากเดิม "กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้" เป็น "กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อให้สอดคล้องกับความเข้าใจที่มีอยู่เดิมของคนในพื้นที่
กลุ่มงานอำนวยความยุติธรรม ให้มุ่งเน้นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงงานนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อลดขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรม
กลุ่มงานสิทธิมนุษยชน/สร้างความเข้าใจ ขอให้กระทรวงการต่างประเทศดำรงบทบาทที่เหมาะสมในการสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ
แจงปรับโครงสร้างใหม่ไม่กระทบหน่วยงานเดิม
"ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจ หน้าที่ บทบาทของหน่วยงานในโครงสร้างเดิมตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม ทั้ง กอ.รมน. ศอ.บต.รวมทั้งโครงสร้าง ศปก.กปต.เดิมยังคงมีอยู่ แต่ในปี 2558 ก็ต้องมาว่ากันอีกครั้ง ทั้งนี้แทนที่จะแยกย้ายการดำเนินงานของแต่ละหน่วย ที่ประชุมขอให้มีแนวคิดการบูรณาการงานร่วมกัน โดยมีคณะทำงานขึ้นมา รวมเอางานทุกๆ อย่างมาคุยพร้อมๆ กัน" พ.อ.บรรพต อธิบาย
เขาบอกด้วยว่า ในจังหวัดชายแดนใต้ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 พื้นที่ คือ พื้นที่เสริมสร้างความมั่นคง พื้นที่เร่งรัดการพัฒนา และพื้นที่เร่งรัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ ทั้งนี้ พื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงมอบหมายให้ กอ.รมน.รับผิดชอบ พื้นที่เร่งรัดการพัฒนาให้ ศอ.บต.รับผิดชอบ
ทำข้อตกลงในพื้นที่ก่อนคลอด "โรดแมพ"
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. เลขาธิการ คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า หลักของการทำงานยังเป็นเรื่อง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักอยู่เช่นเดิม แต่พยายามจะเน้นให้ความสำคัญของการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับล่าง คือชุมชนหมู่บ้านขึ้นมา ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอที่เคยวางไว้ก็จะใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ให้ลุล่วงไป
ส่วนในช่วงเดือนรอมฎอน คสช.ได้ให้นโยบายเน้นย้ำกับ พล.ท.วลิต โรจนภักดี ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งได้ปฏิบัติไปก่อนล่วงหน้าแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ใกล้จะสิ้นสุดเดือนรอมฎอนหรือหลังจากเดือนรอมฎอนไปแล้ว ก็เน้นย้ำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในพื้นที่ว่าต้องควบคุมพื้นที่ให้ได้ พร้อมทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่าหลักศาสนาที่ควรปฏิบัติเป็นอย่างไร ส่วนกรณีกลุ่มที่เห็นต่างมักนำเอาช่วงเดือนรอมฎอนไปปลุกความคิดที่ไม่ถูกต้อง ก็พยายามชี้แจงเพื่อให้สถานการณ์ในช่วงนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ในส่วนการข่าว ขณะนี้ที่ดำเนินการมาไม่น่าเป็นห่วงอะไร แต่ก็ระมัดระวังและพยายามทำให้การข่าวลงลึกและเกิดประสิทธิภาพ ในส่วนของเหตุร้ายรายวันก็ต้องแก้ไขต่อไป ในพื้นที่บางจุดอาจมีช่วงโหว่ของการปฏิบัติภารกิจ กลุ่มที่มุ่งหวังจะก่อเหตุทำได้ง่ายอยู่แล้ว ถ้าวางกำลังหรือการข่าวไม่ทันท่วงที ก็อาจเกิดปัญหาได้
ส่วนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ยังคงต้องมีการพูดคุยกัน และยังให้ความไว้วางใจกับประเทศมาเลเซียในการอำนวยความสะดวก แต่จะมีการปรับการทำงานเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา โดยจะพยายามให้มีการดำเนินการในพื้นที่ให้ได้รายละเอียดให้มากเสียก่อน และมีการปรับระดับของการพูดคุยสันติภาพด้วย
"ในขั้นตอนที่จะนำกลับมาปฏิบัติใหม่ จะต้องให้ในพื้นที่มีข้อตกลงและไว้เนื้อเชื่อใจกันให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะปรับระดับขึ้นมาสู่ขั้นตอนการลงสัตยาบันและนำไปสู่ระดับสุดท้ายคือการทำโรดแมพร่วมกันเพื่อนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน" พล.อ.อุดมเดช กล่าว
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ขณะออกรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ