"กรอ." เล็งสร้างโรงเผาขยะอุตฯ 4 แห่ง แทนฝังกลบ
เครือข่ายต่อต้านบ่อขยะจี้รัฐประกาศ ‘แพรกษา’ เป็นเขตปนเปื้อนเพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตั้งคกก. 4 ฝ่าย ติดตาม-ตรวจสอบ-ประเมินผล กรอ.เตรียมสร้างโรงเผาขยะมีพิษ 4 แห่ง ทั่วประเทศ คาดแล้วเสร็จปี 61 ประสิทธิภาพสูงกว่าวิธีฝังกลบ
วันที่ 7 กรกฎาคม 2557 มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายต่อต้านบ่อขยะแพรกษา และประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติ จัดสัมมนา ‘แพรกษาโมเดล และแนวทางจัดการปัญหาบ่อขยะในประเทศไทย’ ณ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษายังไม่สามารถระบุข้อมูลที่ชัดเจนได้ว่าฝ่ายใดเป็นผู้สร้างความเสียหาย มีผู้ขนส่งขยะกี่ราย และโรงงานทิ้งกากของเสียอันตรายกี่แห่ง ทำให้ไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ ส่วนที่ทราบตัวผู้กระทำผิดก็ไม่มั่นใจว่าจะนำไปสู่การดำเนินคดีได้หรือไม่
“ผู้ได้รับกระทบต้องมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและเข้าไปตรวจสอบ รับรู้ และเสนอข้อคิดเห็น โดยยืนอยู่บนหลักการความเป็นธรรมทางสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความโปร่งใสในกระบวนการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเรื่องความโปร่งใสถือเป็นเรื่องใหญ่มากและเป็นเรื่องที่ปั่นทอนสังคมไทยมายาวนาน” ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว
ด้านดร.อาภา หวังเกียรติ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ช่วงที่ไทยเข้าสู่การปฏิรูปประเทศ จึงถึงเวลาที่ต้องมีการสะสางปัญหาการจัดระบบกำจัดขยะให้ครอบคลุมขยะอุตสาหกรรมและชุมชนภายใต้หลักการวิธีคิดใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องเสนอเทคนิคการจัดการที่มีประชาชนส่วนร่วม เปิดเผยข้อมูลชัดเจน และติดตามตรวจสอบบ่อขยะภายใต้การวางแผนป้องกันปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยยังมีกระบวนการเหล่านี้น้อยมาก
สำหรับการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่นั้น นักวิชาการ ม.รังสิต ระบุว่า ต้องแยกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะทั้งหมดออกเป็นการเฉพาะ พร้อมผลักดันให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรอ. เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษจากอุตสาหกรรมให้ประชาชนเข้าถึงได้ ตลอดจนจัดการขยะจากต่างประเทศ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย
“กรณีแพรกษาโมเดลต้องเร่งปิดพื้นที่เพื่อหยุดการทิ้งขยะเพิ่มและผลักดันเป็นพื้นที่ตัวอย่างการจัดการขยะมุ่งสู่สมุทรปราการโมเดล แต่ต้องมีคณะทำงานระดับชาติที่มีประชาชนเข้าร่วม” ดร.อาภา กล่าว
ขณะที่นายเสรี อติภัทธะ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยตัวเลขขยะอุตสาหกรรมมี 40 ล้านตัน และขยะอุตสาหกรรมอันตราย 4 ล้านตัน แต่ไทยกลับมีโรงเผาขยะไม่เพียงพอ ฉะนั้นเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะมีพิษในอนาคต กรอ.เตรียมขออนุมัติงบประมาณ ปี 2558 ก่อสร้างโรงเผาขยะ 4 แห่ง แห่งละ 3,000 ล้านบาท ครอบคลุม 4 ภูมิภาค เนื่องจากการจัดการขยะด้วยวิธีการเผามีประสิทธิภาพกว่าการฝังกลบ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดพื้นที่ตั้งโครงการได้ เพราะกำลังอยู่ในช่วงการวางแผนศึกษาผลกระทบและสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2559 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี
“วันที่ 8 กรกฎาคม 2557 เราจะตั้งคณะทำงานจะลงพื้นที่สำรวจโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้จัดการดูแลขยะมลพิษจากแหล่งอุตสาหกรรม โดยจะใช้เวลา 2 เดือน เพื่อให้โรงงานเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎหมาย หากพบการกระทำผิดจะมีการเเจ้งเตือนเเละให้เเก้ไขภายใน 30 วัน” รองอธิบดี กรอ. กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายต่อต้านบ่อขยะแพรกษาได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยขอให้ประกาศพื้นที่แพรกษาเป็นเขตปนเปื้อนเพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม พร้อมขอให้มีคำสั่งยกเลิกและห้ามออกใบอนุญาตประกอบกิจการทุกประเภทในพื้นที่บ่อขยะที่จะส่งผลกระทบ และเจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการต้องทำรั้วกั้นพื้นที่ไม่เกินระดับสายตาสามารถมองเห็นได้จากภายนอก
นอกจากนี้ในการฟื้นฟูและปรับปรุงพื้นที่ปนเปื้อนนั้นต้องถูกต้องตามหลักวิชาการ มีคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ประกอบด้วย ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการ เจ้าของที่ดิน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และหน่วยงานของรัฐ อีกทั้ง ต้องสร้างหลักประกันให้เครือข่ายและผู้เรียกร้องได้รับความปลอดภัยจากการข่มขู่คุกคาม .