นักวิชาการเห็นพ้องสภาปฏิรูปปชช.ต้องมีส่วนร่วม
เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปชู 5 โมเดลสร้างสร้างความเชื่อมั่นสภาปฏิรูป ขณะที่ผอ.ศูนย์สันติศึกษาม.มหิดลหวังเห็นการทำงานโปร่งใสและประชาชนมีส่วนร่วม ตรวจสอบได้
7 กรกฏาคม 2557 เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปจัดเวทีเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปชวนเพื่อนภาคีปฏิรูปร่วมคิดร่วมคุยในหัวข้อ “กลไกและกระบวนการปฏิรูปอย่างมีส่วนร่วม” ณ โรงแรม เดอะสุโกศล พญาไท
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป กล่าวว่า เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปต้องการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปที่สำคัญ 5 ประเด็น เพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับอนาคตที่เราจะสามารถสร้างความไว้วางใจ สร้างความเชื่อมั่น ลดความระแวงหรือข้อสงสัยและนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมทางตรงอย่างกว้างขวางในระยะยาวต่อไปเพื่อให้ความพยายามที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น เป็นการปฏิรูปที่จะนำไปสู่การปรองดองและการร่วมกันสร้างประเทศไทยให้ดีขึ้นจากทุกฝ่าย
ดร.บัณฑูร กล่าวถึง 5ประเด็นสำคัญสำหรับสภาปฏิรูปที่จะต้องคำนึงถึงดังนี้ 1.แนวคิด หลักการสำคัญในการจัดตั้งสภาปฏิรูป 2.หลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และที่มาของผู้ที่เป็นสมาชิกในสภาปฏิรูป 3.กระบวนการ วิธีทำงานของสภาปฏิรูป 4.ผลลัพธ์ของสภาปฏิรูปใน 1 ปี และ 5.การทำให้กลไกสภาปฏิรูปทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรจะเปิดให้ประชาชน สามารถใช้สิทธิในการเข้าร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ รวมทั้งให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องด้านการปฏิรูปสามารถเสนอร่างกฎหมายต่อสภาปฏิรูปได้ เช่น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นต้น
ด้านรศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สภาปฏิรูปถือเป็นองค์กรที่ดำเนินการวางพื้นฐานการพัฒนาประชาธิปไตยแบบยั่งยืน โดยจะต้องมีหน้าที่
1.กำหนดและวางแผนการปฏิรูปที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 1 ปี และกำหนดโครงการปฏิรูปในระยะยาว
2.จัดการศึกษา ให้องค์ความรู้ในประเด็นที่สภาปฏิรูปให้ความสำคัญ
3.รับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้อื่น
4.สนับสนุนร่วมจัดเวทีสาธารณะเพื่อให้สามารถถกแถลงร่วมกับกับภาคประชาสังคมได้
5.จัดทำการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนเพื่อให้เกิดการเห็นพ้องเรื่องการปฏิรูป
6.รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำโรดแม๊พการปฏิรูปเพื่อให้เกิดแนวทางในการปฏิบัติ
7.สภาปฏิรูปควรมีอำนาจเสนอร่างกฎหมายให้สภานิติบัญญัติ หรือรัฐบาลและยังสามารถที่จะเสนอความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญ
8.จัดองค์กรสภาปฏิรูปที่ประกอบด้วย ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายถกแถลง ฝ่ายประชุมกลุ่ม ฝ่ายสื่อสารสังคมและฝ่ายที่สร้างหรือตัดสินใจในข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป
ดร.โคทม กล่าวถึงการเลือกตัวแทนภาคประชาชนเข้าสู่สภาปฏิรูปว่า 1.ในการคัดเลือกคนหรือตัวแทนวิชาชีพต่างๆควรจะให้ผู้ที่สมัครใจสมัครเข้ามาแล้วให้แต่ละจังหวัดทำการคัดเลือกกันเองจะทำให้เราได้คนที่สมัครใจเข้ามาทำงาน ส่วนคนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกก็ทำงานในพื้นที่ช่วยกัน ส่วนคนที่ได้รับการคัดเลือกก็มาร่วมทำงานกับองค์กรวิชาชีพ ที่สำคัญการปฏิรูปครั้งนี้เราควรเอาคนชายขอบเข้ามามีส่วนร่วมเพราะนั้นคือกลุ่มเป้าหมายของเราด้วย 2.ในการทำงานของสภาปฏิรูปต้องเป็นในรูปแบบเชิงเปลี่ยนพฤติกรรม 3.มาตรการการสื่อสารในการทำประชามติอย่างในเรื่องของรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมี ส่วนในเรื่องอื่นอาจจะเป็นการเสนอประชามติลำลองคือเอาคนที่สมัครใจให้เข้ามาช่วยทำ ใครที่ประสงค์จะออกเสียงก็ลงทะเบียนแล้วนำรหัสมาลงคะแนนในสภาปฏิรูป 4.สภาคู่ขนานของเครือข่ายวิชาการที่จะทำหน้าที่อย่างหลากหลายทั้งให้ความเห็นข้อเสนอแนะคือกลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องให้สภาปฏิรูปให้การยอมรับและสภาปฏิรูปเองก็จะต้องยอมรับฟังเสียงเหล่านี้ โดยการเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างสร้างสรรและเว้นระยะห่างเพื่อที่จะได้วิจารณ์ได้อย่างชัดถ้อยชัดคำหากสภาปฏิรูปทำอะไรที่ไม่เหมาะสม
“สิ่งที่อยากเห็นในสภาปฏิรูปคืออยากเห็นการทำงานที่มีความโปร่งใส คืออาจจะมีการประชุมแล้วถ่ายทอดสดออกวิทยุหรือโทรทัศน์เพื่อให้ภาคประชาชนได้ติดตาม อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญและเป็นผลลัพภ์ที่ต้องเร่งทำเพราะเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์กับประชาชนคือ การปฏิรูปเรื่องการเมืองและการเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจ ลดความเหลื่อมล้ำไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และลดความฉ้อฉล”