ประมวลข้อกล่าวหา-หลักฐาน ปลด “ ปธ.-บอร์ด อภ.” ถึง คสช. (ฉบับเต็ม)
“…ในการพิจารณาปลดบอร์ด และผู้อำนวยการ อภ. ต้องปลดทั้งคณะ รวมทั้ง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นผู้ร่วมในการทำให้เกิดความเสียหายแก่ อภ. จึงต้องปลดให้พ้นไปด้วย และไม่ควรได้รับความไว้วางใจให้กลับเข้ามาเป็นผู้แก้ปัญหา หรือเป็นกรรมการของบอร์ด อภ. อีก ดังนั้น นพ.ณรงค์จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้…”
หมายเหตุ : เป็นเนื้อหาสำคัญในจดหมายจากตัวแทนกลุ่มองค์กรแพทย์หลายแห่ง ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกร้องให้ปลดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กรณีเกิดปัญหาความไม่โปร่งใส และส่อทุจริตของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม
----
7 กรกฎาคม 2557
เรื่อง ขอให้พิจารณาปลดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม
เรียน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ ข้าพเจ้าผู้เป็นตัวแทนองค์กรที่มีชื่อข้างท้าย ขอเสนอให้ดำเนินการกับองค์การเภสัชกรรมที่เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่เพียงต้องปรับปรุงประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ต้องเร่งรัดแก้ปัญหาเพราะกำลังเป็นปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤต ด้วยข้อมูลและเหตุผลดังต่อไปนี้
1.เดิมองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถทำตามบทบาทหน้าที่ในเรื่องการผลิต จัดหาและจำหน่ายยาให้แก่หน่วยงานสาธารณสุขโดยเฉพาะในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลอื่นๆ ได้ด้วยดี สามารถเพิ่มยอดจำหน่าย และทำกำไรส่งกระทรวงการคลังได้ตามเป้าหมาย
2.ตั้งแต่คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด) ชุดนี้เข้ามาบริหาร (นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555) อาจมีการสร้างความเสียหายให้แก่ อภ. โดยเชื่อว่าเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่
2.1 บอร์ดนี้แต่งตั้งโดย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลที่แล้ว มีพฤติการณ์ส่อว่าจะดำเนินการเพื่อมุ่งเป้าหมายสำคัญ 2 เรื่อง คือ
(1) มุ่งทำให้องค์การเภสัชกรรมอ่อนแอเพื่อประโยชน์ของธุรกิจยาข้ามชาติ
(2) มุ่งหาประโยชน์จากองค์การเภสัชกรรมเพื่อไปแจกจ่ายแก่พวกพ้อง
2.2 การแต่งตั้งบอร์ด ใช้วิธีแต่งตั้งจากผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก เพื่อให้สามารถสั่งการได้ตามอำเภอใจ ซึ่งส่อผิดหลักธรรมาภิบาลอย่างชัดแจ้ง
3. บอร์ดได้ดำเนินการตามเป้าหมายในข้อ 2 อย่างเป็นขั้นตอน คือ
3.1 นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการซึ่งมีความรู้ความสามารถสูง ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่สามารถเพิ่มยอดขายจากปีละ 5,000 ล้านบาท เป็น 12,000 ล้านบาท (แต่เวลานี้ยอดขายตกลงไปเกือบพันล้านบาทแล้ว) ถ้าปล่อยให้ทำหน้าที่ต่อไปจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อ 2.1 ได้ จึงหาทางบีบออกโดย
(1) บังคับให้จ่ายเงิน 75 ล้าน ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนภาครัฐตามระเบียบของ อภ. เพื่อนำไปจ่ายให้แก่นักการเมืองที่รัฐมนตรีต้องดูแล ปรากฏหลักฐานในคำฟ้องศาลปกครองของ นพ.วิทิต โดย นพ.วิทิต ไม่ยอมทำตาม จึงถูกบีบคั้นเพื่อให้ลาออก
(2) มีการพยายามสร้างเรื่องกล่าวหา นพ.วิทิต โดยร่วมมือกับ ดีเอสไอ ในที่สุดบอร์ดได้มีมติปลด นพ.วิทิต ออกไปอย่างมีเงื่อนงำ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2556 ซึ่ง นพ.วิทิต ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้ว โดยการปลด และอาจมีการบีบบังคับให้กรรมการทุกคนต้องเข้าประชุมและมีมติเอกฉันท์ให้ปลด กรรมการบางคนมีภารกิจต้องไปต่างประเทศ ต้องงดเดินทางทั้งๆ ที่ซื้อตั๋วเครื่องบินแล้ว บางคนติดประชุมต่างจังหวัด ต้องรีบบินกลับมาร่วมลงมติ
3.2 มีการแต่งตั้งโยกย้ายผู้มีความรู้ความสามารถออกจากตำแหน่ง ตั้งคนอื่นเข้าไปรับหน้าที่แทน จนทำให้การบริหารภายในระส่ำระสาย
3.3 ผลจากข้อ 3.1 และ 3.2 ทำให้เกิดผลกระทบต่อ อภ.อย่างรุนแรง คือ
(1) ยอดขายตกอย่างมาก
(2) ผลดำเนินงานขาดทุนหลายเดือน
(3) ไม่สามารถส่งยาให้แก่ลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลของรัฐ เป็นประจำ
ยอด “ตัดจ่าย” สูงขึ้นมาก (ยาตัดจ่ายหมายถึง ยาที่โรงพยาบาลสั่งซื้อแล้ว อภ.ไม่มียาส่งให้ จึงต้องยกเลิกใบสั่งซื้อ)
(4) ไม่แก้ปัญหาเรื่องการขาดวัตถุดิบยาต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งยาดังกล่าวมียอดขายสูง และคนไข้จะขาดยาไม่ได้ ซึ่งหากภาวะเช่นนี้ยังดำเนินต่อไป อภ. จะต้องถูกปรับวันละหลายแสนบาทเพราะไม่สามารถส่งยาได้ตามกำหนด และมีแนวโน้มที่ต่อไปคนไข้อาจขาดยา จนเกิดปัญหาร้ายแรงตามมา คือ ภาวะดื้อยา ทำให้คนไข้เสียชีวิต หรือต้องไปใช้สูตรยาราคาแพง สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
3.4 เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมคนใหม่ (นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556) ได้แก้ปัญหา โดยสั่งงดผลิตยาจำเป็น เช่น Metformin 500mg. ยาเบาหวาน ซึ่ง อภ. เป็นผู้ผลิตส่งให้ รพ. ต่างๆ ของรัฐราว 80% ของที่ใช้กับคนไข้ในประเทศด้วยเหตุเพราะเห็นว่า “กำไรน้อย” ซึ่งผิดต่อพันธกิจขององค์การเภสัชกรรมที่ต้องสนับสนุนให้ รพ.รัฐ มียาจำเป็นราคาเหมาะสมไว้บริการประชาชน ไม่มุ่งแต่ทำกำไรสูงสุด
3.5 เมื่อปลด นพ.วิทิต ออกไปแล้ว บอร์ดและผู้อำนวยการคนปัจจุบันแทนที่จะเร่งรัดการก่อสร้างโรงงานยาที่รังสิต และโรงงานวัคซีนที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย สระบุรี กลับดำเนินการอย่างล่าช้า และมีพฤติการณ์ส่อทุจริต คือ
(1) ขาดความรู้ความสามารถในการบริหาร ไม่สามารถแก้ปัญหาการก่อสร้างโรงงานวัคซีนที่สระบุรี จนเกิดกรณีที่ไม่ควรเกิดขึ้น ได้แก่ นพ.สุวัช ผู้อำนวยการ และ นพ.นิพนธ์ โพธิพัฒนชัย กรรมการบอร์ด (ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณี นพ.วิทิต) สั่งการอย่างผิดๆ กรณีโรงงานวัคซีนที่สระบุรี จนประธานบอร์ดออกหนังสือตำหนิและสั่งให้ชี้แจงภายใน 7 วัน
เมื่อไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการก่อสร้างโรงงานวัคซีนตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้บริษัทวัคซีน Kaketsuken ของญี่ปุ่นที่มาเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แจ้งลดระดับความช่วยเหลือ อภ. ทำให้ประเทศไทยเสียชื่อเสียงอย่างมาก
(2) การก่อสร้างโรงงานยาที่รังสิต นพ.พิพัฒน์ ประธานบอร์ด และ นพ.สุวัช ผอ.มีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์แก่บริษัท Ascon Takasako ทั้งๆที่เป็นบริษัทที่ อภ.ยกเลิกสัญญา เนื่องจากบริษัทนี้ไม่เข้ามาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา โดยการบีบบังคับให้คณะกรรมการจัดจ้าง ยกเลิกการประมูลที่ได้บริษัทที่เสนอราคาต่ำกว่าหลายล้านบาท นอกจากนี้ นพ.สุวัช ผอ.ไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนชื่อบริษัท Ascon Takasako เป็นผู้ละทิ้งงาน
ทั้งนี้ การก่อสร้างโรงงานยาที่รังสิต ต้องเร่งให้แล้วเสร็จสามารถเปิดใช้งานได้ ในเดือนตุลาคม 2557 เพราะในปี 2558 จะต้องปิดโรงงานยาที่ถนนพระราม 6 เพื่อตรวจรับรอง GMP แต่ไม่มีทีท่าว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย เมื่อต้องปิดโรงงานยาที่พระราม 6 จะเกิดปัญหาใหญ่ กระทบต่อโรงพยาบาลและคนไข้ทั่วประเทศ
(3) รายงานการสอบสวนเพื่อหาเหตุปลด นพ. วิทิต ระบุว่า นพ.วิทิต ต้องมี “ส่วน” รับผิดชอบในฐานะผู้บริหารสูงสุด แต่เวลาผ่านมาแล้วปีเศษ บอร์ดและ ผอ.อภ.ละเลยไม่ได้ดำเนินการใดๆ กับผู้เกี่ยวข้องระดับต้นๆรายอื่นเลย
4.นพ. สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ. ปัจจุบัน ขาดความรู้ความสามารถ จนทำให้ อภ. เสียหายมากตามข้อ 3 แล้ว ยังเสนอตัดงบวิจัย 45 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาขาดทุน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของ อภ. ที่ต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา
5.นพ. พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด มีพฤติการณ์รับใช้ฝ่ายการเมืองที่แต่งตั้งตน ไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหาร และยังมีพฤติการณ์เบียดบังผลประโยชน์ของ อภ. โดยเป็นประธานบอร์ดคนเดียวที่บีบบังคับเอาเงินจากกองทุนดอกพิกุล ซึ่งเป็นกองทุนสวัสดิการของพนักงาน อภ. ไปใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศ ตีกอล์ฟ เบิกค่าน้ำมันรถ และเป็นค่าโทรศัพท์
(อ่านประกอบ : โชว์หลักฐาน 'ปธ.บอร์ดเภสัช' เบิกค่าตีกอล์ฟ-น้ำมัน-มือถือ ส่อขัดระเบียบ )
6.ในการพิจารณาปลดบอร์ด และผู้อำนวยการ อภ. ต้องปลดทั้งคณะ รวมทั้ง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นผู้ร่วมในการทำให้เกิดความเสียหายแก่ อภ. จึงต้องปลดให้พ้นไปด้วย และไม่ควรได้รับความไว้วางใจให้กลับเข้ามาเป็นผู้แก้ปัญหา หรือเป็นกรรมการของบอร์ด อภ. อีก ดังนั้น นพ.ณรงค์จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้
7จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรมชุดนี้ ได้บริหารงานอย่างไร้ประสิทธิภาพ และไร้ธรรมาภิบาล แต่บุคคลเหล่านี้ได้ขยายอิทธิพลไปเป็นกรรมการในบริษัทลูกของ อภ. หลายบริษัททั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ และสร้างปัญหาแก่บริษัทลูกด้วย ดังนั้น นอกจากปลดบอร์ด และผู้อำนวยการแล้ว ขอให้พิจารณาปลดบอร์ดที่ไปเป็นกรรมการในบริษัทลูกของ อภ. ทุกคนด้วย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาโดยด่วน จะเป็นพระคุณ
ขอแสดงความนับถือ
(นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ชมรมแพทย์ชนบท)
(นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กลุ่มคนรักหลักประกัน)
(ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ชมรมเภสัชชนบท)
(รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ประธานมูลนิธิเภสัชชนบท)
(นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย)
(นางสาวบุญยืน ศิริธรรม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค)
(ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา)
(ผศ.ดร.ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค กลุ่มศึกษาปัญหายา)
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี จาก mlm.thaimlmnews