145 องค์กรประชาชน รณรงค์ใหญ่ ยื่นนายกฯใหม่ 3 นโยบายหลัก 15 เร่งด่วน
เครือข่ายประชาชน จัดทัพรณรงค์จากเหนือ-อีสาน สู่รัฐสภาฯ ยื่น “ยิ่งลักษณ์” ปฏิรูปอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน สร้างรัฐสวัสดิการ เสนอ 3 นโยบายหลัก 15 นโยบายเร่งด่วน เร่งกฎหมาย 9 ฉบับ
วันที่ 8 ส.ค.54 เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน รวม 145 องค์กร เดินทางมาพบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่รัฐสภา เพื่อเสนอนโยบายและทวงสัญญาประชาคม ทั้งนี้เครือข่ายฯได้จัดกิจกรรมรณรงค์ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.โดยเครือข่ายที่ดินและทรัพยากรภาคเหนือ เคลื่อนขบวนมอเตอร์ไซด์จากลานครูบาศรีวิชัย จ.เชียงใหม่ ส่วนทางภาคอีสานวันที่ 7 ส.ค.ขบวนเริ่มที่สระบุรี และในวันที่ 8 ส.ค. ได้มารวมตัวกับขบวนประชาชนใน กทม. และเดินทางมาที่รัฐสภา
โดยมีการออกแถลงการณ์ที่ได้ร่วมกันจัดทำนโยบายภาคประชาชนเสนอต่อรัฐบาล ใจความว่าประเทศไทยได้ชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กลับมีความเหลื่อมล้ำสูงสุดติดอันดับโลก โดยคนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศมีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นร้อยละ 69 ของประเทศ ครอบครองความร่ำรวย เกือบ 3 ใน 4 ขณะที่คนยากจนที่สุดร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกันเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น
มีความทุกข์ยากอันเกิดจากความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมมากมาย ทั้งปัญหาความยากจน สิทธิและโอกาส การถูกกีดกันเข้าไม่ถึงทรัพยากรอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตทั้งที่ดินเพื่อทำกินและที่อยู่อาศัย เข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคมทั้งหลักประกันการศึกษาและสุขภาพ ถูกกดค่าจ้างแรงงานเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน ต้องแบกรับหนี้สินอันเกิดจากระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวฉ้อฉล แบกรับผลกระทบจากมลภาวะอุตสาหกรรมเพื่อความรุ่งเรืองของประเทศ และท้ายที่สุดคือถูกเบียดขับจากกระบวนการยุติธรรมและความเป็นธรรม
เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน จึงรวมตัวกันจัดทำนโยบายภาคประชาชนเสนอต่อรัฐบาล เพื่อเป็นนโยบายของประเทศ และที่สำคัญยิ่งกว่าคือเป็นเครื่องมือของประชาชนเองในการติดตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ดังต่อไปนี้
1.นโยบายปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ ได้แก่ ให้ยกเลิกองค์กรส่วนภูมิภาค เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดตรง ให้มีอิสระในการเก็บภาษีและงบประมาณ, ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ให้มีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศ และปรับใช้กับการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กลุ่มอื่นๆ เช่น แรงงานนอกระบบ เกษตรกรในระบบพันธะสัญญา ผู้ผลิตเพื่อขาย หาบเร่ แผงลอย และอาชีพอิสระอื่น, ออกกฎหมายโฉนดชุมชน กฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน และจัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า
ทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แหล่งน้ำระหว่างประเทศ และชะลอโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ เช่น กรณีโครงการโขง เลย ชี มูล ให้มีการประเมินโครงการเขื่อนที่สร้างไปแล้วทุกเขื่อน เช่น กรณีเขื่อนปากมูล, ยกเลิกคดีคนจนที่เกิดจากกรณีพิพาทที่ดินและทรัพยากร เนื่องจากส่วนใหญ่มีต้นตอจากจากปัญหาโครงสร้างการจัดการที่ดินและการบริหารจัดการทรัพยากรรัฐที่ไม่เป็นธรรม
2. นโยบายเพิ่มอำนาจประชาชน ได้แก่ ให้มีกองทุนพัฒนาสตรีเป็นองค์กรอิสระ สนับสนุนการมีส่วนร่วม ส่งเสริมโอกาสผู้หญิง และขจัดความรุนแรง การค้ามนุษย์ ที่กระทำต่อเด็กและสตรี, เร่งออกกฎหมายองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ และปรับปรุงคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีสัดส่วนผู้บริโภคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง, จัดสรรเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลมาสมทบเพิ่มมากขึ้นสำหรับกองทุนดูแลผู้ด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงโอกาสและทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน การถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม รวมถึง เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ คนเร่ร่อน แรงงานข้ามชาติภาค
หยุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถาวร หนุนพลังงานหมุนเวียนทุกตำบล ยกเลิกสัมปทานและให้มีกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรแร่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาให้บริการประชาชน และยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภค, ให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศ ตามพันธกรณีที่ได้ทำไว้กับนานาประเทศ โดยออกกฎหมายและมาตรการมารับรอง รวมทั้งงบประมาณสนับสนุน
3. นโยบายสร้างรัฐสวัสดิการ ได้แก่ ปรับเปลี่ยนกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกองทุนหลักประกันการศึกษาปลอดดอกเบี้ย ให้ทุกคนเข้าถึงได้ มีการออกแบบการใช้คืนเงินกู้ที่ยืดหยุ่นตามสภาพการมีงานทำและรายได้, รักษาทุกคน ทุกโรค ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ใช้ระบบภาษี ไม่เก็บ 30 บาท และให้มีกองทุนเยียวยาความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ลดการฟ้องร้องแพทย์และพัฒนาคุณภาพบริการ
สานต่อโครงการบ้านมั่นคงเพื่อสร้างหลักประกันที่อยู่อาศัย มีนโยบายนำที่ดินรัฐมาจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยคนจน เช่น ที่ดินการรถไฟ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินสาธารณะ ที่กรมศาสนา และที่วัด โดยให้เช่าในอัตราต่ำ ใช้ระบบกรรมสิทธิ์ และการบริหารจัดการร่วมกันโดยชุมชน, ตั้งกองทุนบำนาญชราภาพพื้นฐานสำหรับทุกคน 1,500 บาทแทนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จ่ายรายเดือนให้ผู้สูงอายุทุกคนเพื่อให้ยังชีพได้ และมีรายได้เข้าไปสะสมในกองทุนการออมแห่งชาติได้ด้วย, ยกเลิกนำเข้าสารเคมีการเกษตรอันตราย มีระบบประกันรายได้เกษตรกร ประกันภัย ประกันราคาผลผลิต ยกเลิกหนี้เกษตรกรกรณีตาย พิการ สูงอายุ
เร่งรัดกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย 9 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ, ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข, ร่าง พ.ร.บ. การเลือกปฏิบัติว่าด้วยเพศสภาพ, จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัยจากการทำงาน พ.ศ. 2554, ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับผู้ใช้แรงงาน 14,500 รายชื่อ), ร่าง พ.ร.บ. บำนาญประชาชน, ร่าง พ.ร.บ. กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ, ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ
และให้มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสตรีที่มีอยู่มีประสิทธิภาพ แก้ไขกฎหมายที่ปิดกั้นสิทธิและเลือกปฏิบัติต่อสตรี ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์, การป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว, พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535, การส่งเสริมสถานภาพทางกฎหมายของ “ภิกษุณี” เพื่อเติมเต็มพุทธบริษัท 4 ในประเทศไทย
ทั้งนี้ได้จัดตั้งกระบวนการติดตามนโยบายรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โดยมีสภาประชาชนประเมินและติดตามผลงานรัฐบาลทุก 6 เดือน โดยแต่ละข่ายจะเกาะติดนโยบายกระทรวงที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงอย่างใกล้ชิด, มีความร่วมมือกับสื่อมวลชน ในการติดตามนโยบายรัฐบาล
โดย 145 องค์กร ได้แก่ เครือข่ายองค์กรประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, เครือข่ายผู้พิการ, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, เครือข่ายผู้บริโภค, เครือข่ายผู้สูงอายุ, เครือข่ายสลัม ๔ ภาคและคนไร้บ้าน, เครือข่ายเกษตร, เครือข่ายองค์กรสตรีฯ, เครือข่ายการศึกษา, เครือข่ายแรงงานนอกระบบ, เครือข่ายแรงงานสมานฉันท์, เครือข่ายเยาวชน และ สภาองค์กรชุมชน .