สถาบันพระปกเกล้าเปิดสถิติกระบวนการถอดถอนไทย ไม่สำเร็จสักเรื่อง
สถาบันพระปกเกล้า จับมือกลาโหมเปิดเวที ระดมสมอง ขรก.ท้องถิ่น กำนัน ผญบ.คิดปฏิรูปประเทศไทย นักวิชาการ พบระบบเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว.ไทยใช้มาแล้วแทบทุกแบบ แต่ยังย่ำอยู่กับที่ไม่ไปไหน โดยเฉพาะกระบวนการถอดถอน อึ้งไม่เคยสำเร็จสักราย
วันที่ 5 กรกฎาคม สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับกระทรวงกลาโหม จัดงานสัมมนา “การปฏิรูปประเทศไทย : การเข้าสู่อำนาจของสมาชิกรัฐสภาและการตรวจสอบ" ครั้งที่ 3 : กลุ่มข้าราชการท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ณ ห้องพินิตประชานาถ ศาลาว่าการกลาโหม ถ.สนามไชย กรุงเทพฯ โดยมีพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานปรองดองและปฏิรูป กล่าวเปิดงาน
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงการปฏิรูปว่า ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ด้วยมีข้อเสนออยู่มากมาย ทั้งจากงานวิจัย ฝ่ายการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ฯลฯ ที่เคยทำมาอยู่แล้ว ส่วนการปฏิรูปเรื่องเร่งด่วนสุด ไฮไลท์อยู่ที่การปฏิรูปการเมือง การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ปฏิรูประบบราชการ พลังงาน การศึกษา และกระบวนการยุติธรรม
สำหรับการปฏิรูปการเมือง ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า มีทั้งเรื่องการเข้าสู่อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) การเข้าสู่อำนาจของฝ่ายบริหาร การคัดสรร การเลือกตั้งทำอย่างไรให้มีความยุติธรรม ทำอย่างไรให้มีกระบวนการถอดถอนที่ทำได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการมีพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง มีการบริหารตามระบอบประชาธิปไตย
ส่วนแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจนั้น พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องใหญ่ กระจายกันแบบไหนอย่างไร คำว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” เป็นอีกเรื่องที่ต้องมาพิจารณากัน ทั้งหมดต้องมีการสรุปให้ได้ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม ก่อนเสนอสภาปฏิรูป
“คสช.เป็นสิ่งจำเป็น ไม่น่ารักมากในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งต้องทำตามโรดแมปและให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด”
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาธิปไตยมีความยั่งยืน ต้องพ่วงด้วยคุณภาพของประชาธิปไตยที่ว่าด้วย เรื่องของการมีวัฒนธรรม มีธรรมาภิบาล ทั้งสำนึกและพฤติกรรมในพลเมืองของชาติ
“การปฏิรูปประเทศไทย จำเป็นต้องช่วยกันคิดและออกแบบกระบวนการเข้าสู่อำนาจของส.ส. และส.ว.”
ด้านดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการ กล่าวถึงการคัดสรรตัวแทนเข้าสู่อำนาจของประเทศไทยผ่านการคิด ออกแบบ รวมถึงใช้มาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเบอร์เดียว,การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตพวงใหญ่,แบบบัญชีรายชื่อ และโลกปัจจุบันพยายามนำข้อดีข้อเสียแต่ละระบบมาคัดกรองกัน จนได้ระบบการเลือกตั้งแบบผสม แบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ
ดร.สติธร กล่าวถึงระบบการคัดสรรตัวแทนเข้าสู่อำนาจในแบบอื่นๆ ที่ไทยยังไม่เคยนำมาใช้ 1.ระบบเสียงข้างมากเด็ดขาด คนชนะต้องได้คะแนนเกินครึ่งเท่านั้น เช่น ที่ฝรั่งเศส เป็นต้น 2.เลือกตั้งแบบจัดลำดับความนิยม พลิกวิธีการเลือกตั้งแบบที่ไทยเคยทำมา เป็นการใส่ตัวเลข แต่ความเสี่ยงคือ เราพร้อมหรือไม่ที่จะเลือกตั้งแบบการจัดลำดับ กรอกตัวเลข และในระบบการเมืองที่แบ่งขั้วการเมืองชัดเจนนั้น จะแปรเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งแบบเรียงลำดับได้และ3.การเลือกตั้งแบบผสมโดยให้คะแนนที่พรรคได้รับในระบบบัญชีรายชื่อมีผลต่อจำนวน ส.ส.เขต เช่น ประเทศเยอรมนี ระบบแบบนี้ข้อเสียคือความซับซ้อนในการคิดคะแนน หมายถึงความน่าเชื่อ เราไว้วางใจคนคิดคะแนนให้มากน้อยแค่ไหน
กรณีการเข้าสู่อำนาจของ ส.ว.นั้น นางสาวชมพูนุท ตั้งถาวร นักวิชาการ กล่าวว่า ทุกประเทศในโลกมีสภาผู้แทนราษฎร์ 1 สภาอย่างน้อย หากจะมีสภาสอง หรือสาม เราจำเป็นนั้นเริ่มต้นก่อนว่า ประเทศไทยต้องการ ส.ว.เพื่อเป็นตัวแทนของอะไร เพราะบางประเทศ เช่น นอร์เวย์ มีสภาเดียว ด้วยมองว่า การเลือกส.ส.เป็นตัวแทนของคนกลุ่มน้อยในประเทศครบแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมี ส.ว. แต่บางประเทศมีส.ว.เพื่อให้เป็นตัวแทนของท้องถิ่น บ้างก็ให้ ส.ว.เป็นตัวแทนประเทศ และให้ส.ส.เป็นตัวแทนของเขตพื้นที่ เป็นต้น
“ประเทศไทยก่อนปี 2540 ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง ปี 2540 มาจากการเลือกตั้ง และปี 2550 มี 2 แบบ คือเลือกตั้งและมาจากการสรรหา เรียกว่า เราใช้ระบบเลือกส.ว.มาแล้วเกือบทุกแบบ มีทั้งข้อดี และข้อเสีย”นางสาวชมพูนุท กล่าว และว่า โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ 2550 การเข้าสู่อำนาจ และการให้อำนาจส.ว. ค่อนข้างเยอะ เช่น สามารถไปแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอื่นได้ และถอดถอนได้นั้น ก็เป็นที่มาของคำถามถึงอำนาจที่ไม่สอดคล้องกัน ไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชนมากพอที่จะมีอำนาจมากขนาดนั้น
ปชช.ถถอดถอนออกจากตำแหน่งได้โดยตรง ?
นายณวัฒน์ ศรีปัดถา นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวในส่วนของกระบวนการถอดถอนของประเทศไทย แม้อาจจะยังใช้ได้อยู่ แต่ต้องมาคิดต่อหากอยากให้กระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งมีผลสำเร็จจะทำอย่างไรต่อไป หรือจะให้ประชาชนสามารถถอดถอนได้โดยตรง ดังเช่นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีกฎหมายว่าด้วยการถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยประชาชนอยู่ ผลการดำเนินก็น่าประทับใจกว่าในระดับประเทศ
“ข้อสังเกต จากสถิติในปี 2540 มีเรื่องเข้าสู่กระบวนการถอดถอน 31 เรื่อง สำเร็จศูนย์เรื่อง และปี 2550 มีเรื่องเข้าสู่กระบวนการถอดถอน 45 เรื่อง สำเร็จศูนย์เรื่อง นี่คือความผิดปกติของกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งในบ้านเราที่ไม่สำเร็จสักเรื่อง”
ทั้งนี้ นายณวัฒน์ กล่าวถึงกระบวนการถอดถอนที่เป็นแบบการประชุมเพื่อโหวต ให้คนออกจากตำแหน่งโดยไม่สามารถสอบถามแต่ละท่านที่โหวตว่า คิดเห็นอย่างไร ซึ่งเนื้อหาสาระถือเป็นการนำกระบวนการทางการเมืองโดยแท้มาใช้ ในต่างประเทศจะใช้กับฝ่ายบริหารได้ แต่ของประเทศไทยใช้กับข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลากหลายแบบ
จากนั้น มีเวทีสานเสวนาระดมความคิดเห็น ก่อนที่ทางกระทรวงกลาโหมและสถาบันพระปกเกล้าจะนำไปรวบรวมและวิเคราะห์ผล เพื่อจัดทำข้อเสนอสู่การปฏิรูปการเมืองที่ยั่งยืนต่อไป