กลุ่มทุนบังคับหางเสือสื่อ ‘กล้านรงค์’ หนุนทำข่าวสืบสวนแก้ปมคอร์รัปชั่น
"ถ้าตราบใดยังมีหางเสือหรือคงติดยึดกับเงินที่ได้จากการประชาสัมพันธ์ ยากเหลือเกินที่สื่อจะทำข่าวจากการสืบสวน"
วันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปาฐกถาพิเศษ ‘บทบาทสื่อกับการตรวจสอบคอร์รัปชั่นในสังคมไทย’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 17 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
นายกล้านรงค์ เริ่มต้นกล่าวถึงการคอร์รัปชั่นในสังคมไทยเป็นปัญหาเรื้อรังและมีมานานแล้ว ซึ่งหากเราย้อนกลับไปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จะพบการ ‘ฉ้อราษฎร์ บังหลวง’ เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ยังไม่รุนแรง เพราะสังคมไทยสมัยนั้นไม่ยอมรับ
“สิ่งที่ผมกล่าวมานี้ล้วนมาจากคำบอกเล่าของ ‘อาจิณ ปัญจพรรค์’ ว่า การคอร์รัปชั่นมีมานานแล้ว อีกทั้งยังเอ่ยชื่อขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้กระทำการฉ้อราษฎร์ บังหลวง แต่ขณะนั้นสังคมไทยไม่ยอมรับ เนื่องจากคนสมัยนั้นจะกดดัน บีบคั้น ทำให้คนไม่กล้า” อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว และว่า ต่อมาเหตุการณ์ก็พลิกผันสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 สังคมไทยเปลี่ยนแปลง สุดท้ายเกิดคำว่า ‘เศรษฐีสงคราม’ ขึ้นมา และสะท้อนกลับมาสู่สภาพปัจจุบัน คือ การไม่รู้สึกหรือไม่รังเกียจการคอร์รัปชั่น ฉะนั้นปัญหาดังกล่าวจึงมีความสำคัญ
นายกล้านรงค์ กล่าวต่อว่า "ผมเป็นทั้งสื่อและมีหน้าที่การป้องกันปราบปรามการคอร์รัปชั่น ซึ่งอยู่กับสื่อมาตลอด ทำงานร่วมกันเรื่องการให้ข่าวสาร และอีกส่วนหนึ่งนายมานิจ สุขสมจิตร ได้ชวนผมขอให้เข้าไปช่วยงานที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คนที่ 2
ตอนที่เข้าไปได้รับหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ผมพูดตรง ๆ ขณะนั้นได้ถามนายมานิจว่า ธรรมนูญของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเขียนขึ้นมาไม่มีกฎหมายรองรับ ทำไมไม่ออกเป็นพระราชบัญญัติเหมือนสภาทนายความ เพราะการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์นั้น ในธรรมนูญมีเรื่องเกี่ยวกับการลงโทษอยู่ด้วย
นายมานิจบอกผมว่า ไม่ต้องการออกพระราชบัญญัติ เพราะต้องผ่านรัฐบาลเเละสภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้นกิจการนี้จะถูกแทรกแซงได้ เราจึงอยากตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อควบคุมกันเอง โดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้นบอกตามตรงผมไม่ค่อยศรัทธา.
อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อว่า กระทั่งมีหนังสือพิมพ์อยู่ฉบับหนึ่งได้กระทำความผิด ซึ่งในฐานะประธานอนุกรรมการวินิจฉัย เมื่อมีการร้องเรียนถึงผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น จึงวินิจฉัยว่าผู้สื่อข่าวผิดจริยธรรม และคณะอนุกรรมการต่างมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ นำเข้าสู่ที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์มีความเห็นเป็นเอกฉันท์เช่นกัน
"ที่ต้องหยิบยกขึ้นมาพูด เพราะหนังสือพิมพ์เป็นฉบับที่ประธานสภาการหนังสือพิมพ์สังกัดอยู่ ผมอยากจะดูว่าจะได้รับการต่อต้านหรือสนับสนุนมากน้อยเพียงใด" นายกล้านรงค์ ระบุ เเละว่า เมื่อมีมติเป็นเอกฉันท์และส่งเรื่องไปหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ปรากฏว่า ได้มีการลงคำวินิจฉัยของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในหน้า 1 และพิจารณาลงโทษนักข่าวผู้นั้น
"ผมจึงบอกในที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่า หากเป็นเช่นนี้ธรรมนูญไปรอด เพราะเราเคารพในกติกาที่ตั้งขึ้นมาเอง เราไม่ยอมให้คนนอกเข้ามาควบคุมกำกับดูแล แต่เราควบคุมกำกับดูแลกันเอง ฉะนั้นจึงเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามหาศาล ถ้าเรายังเคารพในกฎตรงนี้อยู่"
"เมื่อผมจากมาไม่ทราบว่าปัจจุบันความศักดิ์สิทธิ์ยังมีอยู่หรือไม่ แต่ก็ขอฝากความศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้เอาไว้ สำหรับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติต่อไป" อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ระบุ
ยึดถือวิกฤติเป็นโอกาสปราบคอร์รัปชั่น
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า อยากให้สื่อมีความรู้สึกตรงกันว่า ในขณะนี้เราควรยึดถือวิกฤตในบ้านเมือง เป็นโอกาสในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งถ้าย้อนหลังกลับไปประมาณ 1 ปี การทำงานด้านการป้องกันกับสื่อมวลชน นักศึกษา เด็กและเยาวชน มาตลอด เพื่อต้องการระดมการสร้างจิตสำนึกความซื่อสัตย์ให้ลงไปสู่ประชาชน
"ผมพยายามชี้ให้เห็นภัยจากการคอร์รัปชั่นว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกหรือสังคมเกิดความตื่นตัว เพราะการคอร์รัปชั่นไม่ได้ส่งกระทบกับสังคม ข้าราชการยังคงได้รับเงินเดือนและโบนัส ขณะเดียวกันประชาชนยังได้รับประโยชน์จากประชานิยม ฉะนั้นการคอร์รัปชั่นจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไรก็ไม่รู้สึกได้
แต่ในปัจจุบันผมเชื่อว่าทุกคนตื่นตัวและรับรู้ถึงภัยของการคอร์รัปชั่น การที่คนออกมาชุมนุมนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่ออกมาเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่น แต่ออกมาเพราะปัญหาการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นจุดร่วมของคนไทยไม่ยอมรับ ถ้าคนทำผิดแล้วไม่ได้รับโทษ ฉะนั้นสิ่งนี้จึงเป็นจุดร่วมให้ประชาชนออกมาพร้อมกัน"
อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เมื่อออกมาแล้วได้มีการพูดกันเกี่ยวกับเรื่องการคอร์รัปชั่นทุกวัน และสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้เห็นถึงการคอร์รัปชั่นจนก่อให้เกิดปัญหา คือ โครงการรับจำนำข้าว มีชาวนาได้รับความเดือดร้อน จนถึงขั้นฆ่าตัวตาย
"ควรให้ถือวิกฤตเป็นโอกาส โดยต้องระดมให้คนเลิกและรังเกียจการคอร์รัปชั่น ฉะนั้นสื่อมวลชนจึงมีบทบาทสำคัญอย่างที่สุด"
ต่างชาติยึด 'การอุปถัมภ์' คอร์รัปชั่น
สำหรับความหมายการคอร์รัปชั่นในต่างประเทศ นายกล้านรงค์ เห็นว่า ไทยจะยึดถือตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ต่างชาติหรือองค์กรทำการสำรวจ 8 องค์กรนั้น จะยึดถือ 'การอุปถัมภ์' เป็นการคอร์รัปชั่นด้วย ในที่นี้ คือ การเล่นพรรคพวกคัดสรรบุคคลที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองเข้ามาทำงานหรือให้ได้รับประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม จึงถือเป็นการคอร์รัปชั่น
"สมมติว่าตำแหน่งนี้บอกว่าคนจะดำรงตำแหน่งนี้ต้องมีความรู้ จบปริญญาตรี จึงจะแต่งตั้งได้ ดังนั้นเขาจึงแต่งตั้งนาย ก. มาดำรงตำแหน่งนี้ ไม่ขัดคุณสมบัติของตำแหน่ง แต่นายก.ไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถและความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง แต่ของเราเองเห็นว่าเป็นเรื่องขัดหู ขัดตา ขัดใจ แต่ก็ไม่มีปฏิกิริยา แต่องค์กรต่าง ๆ ไปตีว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการคอร์รัปชั่น"
นายกล้านรงค์ ยังยกตัวอย่างองค์กร ICRG ให้คะแนนด้านคอร์รัปชั่นไทยต่ำสุด 31 คะแนน เพราะนำข้อมูลเกี่ยวกับการอุปถัมภ์มาพิจารณา แต่องค์กร BF_BTI กลับให้คะแนนเราสูงสุด 41 คะเเนน โดยดูจากความถี่เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับลงโทษจากการทุจริตและกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้นหากเราแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นหรือสื่อมวลชนจะมีบทบาทในการตรวจสอบ จะต้องดูว่าการคอร์รัปชั่นไม่ใช่เฉพาะในความหมายไทยเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงแนวคิดของต่างประเทศด้วย
อดีตกรรมการ ป.ป.ช.ยังระบุสาเหตุนิวซีเเลนด์เป็นประเทศความโปร่งใส เนื่องจากมีความเป็นประชาธิปไตย และสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสูง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นหรือการสร้างความโปร่งใส
"ถามว่าสื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสูงหรือไม่ ผมหยิบยกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 45-48 ให้เสรีภาพสื่อมาก สะท้อนออกไปว่าหากมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องมีการคงไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หมวดที่ 7 สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็น เพราะจะป้องกันให้สื่อมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ได้รับการปกป้อง นักการเมืองจะเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ นั่นคือทางพฤตินัย แต่ทางนิตินัย สื่อมวลชนมีเสรีภาพจริงหรือไม่
หางเสือสื่อถูกบังคับจากกลุ่มทุน
นายกล้านรงค์ กล่าวถึงประเด็นที่สำคัญ สื่ออยู่ได้เพราะทุน สื่อหนังสือพิมพ์ต่อให้พิมพ์และขายได้วันละ 1 ล้านฉบับก็อยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนกับราคาขายแตกต่างกันไม่เท่าไหร่ แต่สื่ออยู่ได้เพราะการลงโฆษณา เเละคนที่มีอำนาจในการลงโฆษณามากที่สุด คือ รัฐบาล เพราะมีงบประมาณประชาสัมพันธ์อยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ หรือบริษัทใหญ่ ๆ ฉะนั้นรัฐบาลเองจึงมีบทบาทในเรื่องสื่อ เเต่จะเป็น 'หางเสือ' ให้สื่อไปในทิศทางใด
"ถามว่าถ้าสื่อลงข่าวหรือมีบทบาทในการตรวจสอบคอร์รัปชั่นองค์กรนี้ ถามว่าองค์กรจะให้การสนับสนุนการประชาสัมพันธ์กับสื่อฉบับนั้นหรือไม่ เเละถ้าสื่อไม่ลดการตรวจสอบยากเหลือเกินที่จะสนับสนุนสื่อนั้นต่อไป ฉะนั้นสิ่งนี้จึงเป็นข้อจำกัด ซึ่งหางเสือของสื่อจึงไปในทิศทางของทุนที่จะเป็นผู้กำหนด
หางเสือของสื่อนั้นใครเป็นคนบังคับ และถ้าหากว่าสื่อมวลชนมีประชาธิปไตย และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น"
อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ยังกล่าวถึงสาเหตุของการคอร์รัปชั่นเกิดจากเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม แต่ในปัจจุบันจากผลการสำรวจออกมามีสาเหตุ 5 ประการ คือ วัตถุนิยม บริโภคนิยม โครงสร้างสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ กระบวนการยุติธรรมไม่เข้มแข็ง ถูกแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพล และเกิดความเบื่อหน่ายของประชาชน
"เอกสารการวิจัยม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ระบุสังคมไทยเป็นเเนวดิ่ง โดยผู้มีอำนาจพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง โดยอาศัยมือของผู้ไม่มีอำนาจเป็นผู้ทำให้ปัจจุบันนี้นักการเมืองจะทำทุกวิถีทาง โดยอาศัยมือของข้าราชการประจำในการรักษาอำนาจของตนเองไว้ การคอร์รัปชั่นของนักการเมืองไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ หากข้าราชการประจำไม่ให้ความร่วมมือ เพราะกระดาษแผ่นแรกต้องมาจากข้าราชการประจำ"
สำหรับบทบาทของสื่อที่จะต้องทำการตรวจสอบ นายกล้านรงค์ เสนอเเนะว่า สื่อต้องให้ความรู้ประชาชน โดยต้องนำสาเหตุเเละผลเสียของการคอร์รัปชั่นมาให้ประชาชนรับรู้ เพราะสื่อจะเป็นองค์กรเดียวที่เข้าถึงประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล จึงต้องทำให้เขาเข้าใจเเละให้รู้ว่าการดำรงชีวิตของเขา เมื่อเกิดการคอร์รัปชั่นมีผลเสียหายเเละจะมีชีวิตตกต่ำอย่างไร
"ผมยืนยันว่าไม่ได้ต้องให้การสื่อเกลียดชังการคอร์รัปชั่น เพราะคำว่าเกลียดชังเป็นเรื่องในใจของตัวเอง แต่ต้องการให้สื่อสร้างบทบาทประชาชนให้รับรู้ถึงความเสียหาย"
ทำข่าวสืบสวนต้องให้ทุกฝ่ายชี้เเจง
ทั้งนี้ การทำข่าวเชิงสืบสวน สื่อต้องยึดข้อเท็จจริงและความถูกต้อง อีกทั้งต้องเสนอข่าวที่ให้โอกาสแก่องค์กรหรือบุคคลที่สื่อตรวจสอบให้เขามีสิทธิชี้แจงหรือแสดงเหตุผลข้อเท็จจริง ถ้าเห็นว่าคนที่ถูกลงข่าวอ้างเหตุผลรับฟังไม่ได้ เรามีเหตุผลอย่างอื่นที่จะหักร้างได้ แต่ไม่ควรลงข่าวก่อนโดยที่ไม่ให้เขาชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำความผิดพลาดจะมีผลกระทบต่อสื่อเอง
"ฝากประธานสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติเอามาสานต่อ เพราะการทำข่าวสืบสวนต้องดูเเลสื่อจากการฟ้องหมิ่นประมาท"
นายกล้านรงค์ สรุปช่วงท้ายว่า การทำหน้าที่ทำข่าวเชิงสืบสวน ต้องมีใจบริสุทธิ์ ไม่ตกเป็นเครื่องมือใคร แกล้งใคร ช่วยเหลือใคร เเละไม่แสวงหาผลประโยชน์ ใจท่านต้องบริสุทธ์จริง ๆ ท่านต้องกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะมีความสำคัญอย่างที่สุด
"ถ้าตราบใดยังมีหางเสือหรือคงติดยึดกับเงินที่ได้จากการประชาสัมพันธ์ ยากเหลือเกินที่สื่อจะทำข่าวจากการสืบสวน"
ผมคิดว่าสิ่งที่ได้พูดให้ท่านฟังนั้นมีสาระสำคัญ สิ่งที่สภาการหนังสือพิมพ์ทำเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะสื่อจะเป็นหนทางเดียวที่จะเข้าถึงประชาชนได้ และเจ้าของสื่อทั้งหลายต้องร่วมมือทำ สภาการหนังสือพิมพ์เเห่งชาติจะทำคนเดียวไม่ได้ เพราะถึงเวลาแล้วที่ต้องชี้ให้เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นทำลายบ้านเมืองอย่างไร .