สหภาพฯ ร้อง “ประยุทธ์” สะสางปัญหาทีโอที หลังบอร์ด-ฝ่าย กม.เมินแก้ไข
สหภาพทีโอทีฯ ยื่นหนังสือร้อง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" วอน ตั้งคณะทำงานตรวจสอบปัญหาหมักหมมในทีโอที หลายกรณี เกี่ยวพัน AIS-AWN เผย ผู้จัดการฝ่ายกฎหมายตีความเอื้อเอกชน บอร์ด-ซีอีโอ เมินแก้ปัญหา ด้าน "ยงยุทธ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ แจง ยินดีปฏิบัติตามนโยบาย คสช.
วันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ได้รับการเปิดเผยจากนายสมโชค ศิธรกุล รองประธาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) หรือ สรท. และนายอำนวย อ่อนชิต เลขาธิการ สรท. ว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา สหภาพทีโอที นำโดย นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รักษาการประธาน สรท. เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อร้องเรียนปัญหา ความไม่โปร่งใสในการจัดทำสัญญาต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน บริษัท ทีโอทีฯ และต้องการให้ คสช. เข้ามาตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเนื้อหาของหนังสือดังกล่าว สรท. นำเรียนต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระบุด่วนที่สุด
เลขที่ สรท. 57 / ป 0092 เรื่อง ขอให้ช่วยรักษาสมบัติของชาติที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาสัมปทานกับบริษัท AIS
ในหนังสือร้องเรียนระบุถึงประเด็นปัญหา ที่ต้องการให้หัวหน้า คสช. คั้งคณะทำงานเข้ามาตรวจสอบและแก้ไข ใจความสำคัญตอนหนึ่งเปิดเผยถึงการตีความของฝ่ายกฎหมายของบริษัททีโอทีฯ และแนวทางของผู้บริหารบางรายที่อาจเอื้อประโยชน์ ต่อ AIS กรณีที่ AIS ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทาน สืบเนื่องจาก กรณีที่ บริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) ได้ทำสัญญาร่วมงานแบบ BTO ( Built-transfer-Operate ) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด ( มหาชน ) หรือ AIS ตามนโยบายของรัฐในขณะนั้น ที่ต้องการให้เอกชนมาร่วมลงทุนแทนรัฐ โดยสัญญาดังกล่าว AIS เป็นผู้ลงทุนในการจัดหาสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ในระบบทั้งระบบ แล้วยกให้เป็นทรัพย์สินของ ทีโอที และ ทีโอที ยินยอมให้บริษัท AIS นำระบบโครงข่ายที่สร้างขึ้นไปประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีระยะเวลา 25 ปี นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2533 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 และแบ่งส่วนแบ่งรายได้ จากการประกอบกิจการให้ทีโอทีตามสัญญา ซึ่งบริษัท AIS ได้ให้บริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่เรื่อยมาจนปัจจุบัน และมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับการบริหารสัญญาสัมปทานกับบริษัท AIS ที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข เพื่อป้องกันความเสียหายอย่างมากมายที่กำลังเกิดขึ้น
หนังสือร้องเรียนระบุว่า เจตนารมณ์ของการทำสัญญาแต่แรก คือการให้เอกชนลงทุนแทนรัฐทั้งหมด ตามสัญญาแบบ BTO แล้วยกให้เป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยรัฐจะมอบสิทธิการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์โครงข่ายที่ได้ลงทุนไป และเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน บริษัทเอกชนต้องส่งคืนอุปกรณ์ทั้งหมด แล้วถือกระเป๋าเดินออกไป เพื่อให้รัฐเข้าประกอบกิจการแทนที่ได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสัญญาสัมปทานจึงควรเป็นกรรมสิทธิ์ของทีโอที ไม่ควรเลือกอุปกรณ์ใด จะส่งมอบและอุปกรณ์ใดจะไม่ส่งมอบ เพราะมิฉะนั้นแล้ว เมื่อทีโอทีเข้ามาทำหน้าที่ให้บริการภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ก็จะไม่สามารถประกอบกิจการได้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง
หนังสือร้องเรียน ของ สหภาพ อ้างถึง สัญญาข้อ 4 ระบุให้บรรดาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ หรือทรัพย์สินที่บริษัทได้กระทำขึ้นหรือจัดหามาไว้สำหรับดำเนินการตามระบบ Cellular 900 ตามสัญญานี้ เป็นกรรมสิทธิ์ของทีโอที ทันทีที่ติดตั้งเรียบร้อย แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเครื่องรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่กระนั้นก็ตาม ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย ( ผจก.กม. ) ของทีโอที ในขณะนั้น ตีความในลักษณะที่ว่า อุปกรณ์ทั้ง 6 รายการนั้น ไม่ใช่อุปกรณ์ที่ระบุไว้ในสัญญา บริษัท AIS ไม่จำเป็นต้องส่งมอบก็ได้
หนังสือร้องเรียนระบุด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย ให้ความเห็นไว้ครั้งแรก จนกระทั่งวันนี้ เวลาได้ผ่านไปกว่า 3 ปี แล้ว ทีโอทียังไม่มีอะไรคืบหน้าเลย ไม่มีแม้กระทั่งความชัดเจนของคณะกรรมการบริษัททีโอที จำกัด ( มหาชน ) ที่ได้รับมอบหมายให้มากำกับดูแลกิจการของทีโอที ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร นอกจากนี้ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกฎหมายและบริหารผลประโยชน์ ( รจญ.ท) คนปัจจุบัน ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลการบริหารสัญญาสัมปทานของ ทีโอที ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว และทีโอที ต้องรับมอบอุปกรณ์ที่เป็นทรัพย์สินของทีโอทีคืนมาแล้ว ทีโอที จะประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างไร ในสภาพที่ยังมีปัญหาคาราคาซังในเรื่องอุปกรณ์ที่จะส่งมอบทรัพย์สินของทีโอที คืนกลับมา
ส่วนปัญหาข้อที่ 2 ที่ สรท. ร้องเรียนต่อหัวหน้า คสช. คือ กรณีที่บริษัท AIS ได้มีหนังสือถึง ทีโอที เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 แจ้งยกเลิกการส่งมอบเสาติดตั้งสายอากาศ ( Tower ) ทั้งๆ ที่เคยส่งมอบมาในอดีต แต่พอใกล้สิ้นสุดสัมปทาน กลับมีหนังสือแจ้งยกเลิกการส่งมอบเสาติดตั้งสายอากาศ ที่ใช้ในการให้รับส่งคลื่นวิทยุของสถานีฐานที่ติดต่อกับอุปกรณ์มือถือ และระบุด้วยว่า สรท.เกรงว่า หากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว ทีโอทีจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ เพราะยังไม่สามารถเอาเสาคืนมาจากบริษัท AIS ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและอาจเป็นเหตุที่ทำให้ กสทช. อ้างการที่ ทีโอที ไม่สามารถให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มายึดคลื่นความถี่ 900 Mhz คืน ไปจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลใหม่
ปัญหาอีกข้อที่ สรท. ร้องเรียนต่อหัวหน้า คสช. คือกรณี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 กสทช. ได้ออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2100 Mhz เป็นระยะเวลา 15 ปี ให้กับบริษัทแอดวาน์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด ( AWN ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกขอบริษัท AIS ในการนำคลื่นความถี่ ดังกล่าวมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเทคโนโลยี 3 จี โดยบริษัท AIS อยู่ภายใต้สัมปทานของรัฐ ไม่สามารถเข้าประมูลคลื่นความถี่ได้ ดังนั้น จึงต้องตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อขเร่วมประมูลแทน ทั้งๆ ที่มีข้อกังวลว่าจะมีการถ่ายโอนลูกค้าเกิดขึ้น เพราะ กสทช. ได้เอื้อให้ดำเนินการโดยการออกระเบียบในเรื่องการคงสิทธิเลขหมาย ด้วยการให้ผู้ใช้บริการยังสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์เดิมได้แต่เปลี่ยนผู้ให้บริการ
เวลาผ่านไปไม่ถึงปี หลังจากการประมูลเสร็จสิ้น บริษัท AIS และบริษัท AWN แม้ว่าจะเป็นคนละนิติบุคคลกัน แต่ก็ร่วมมือกันถ่ายโอนลูกค้า โดยบริษัท AWN นำฐานข้อมูลของบริษัท AIS ทำการส่ง SMS เชิญชวนให้อัปเกรดซิมแก่ลูกค้าที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้สัญญาสัมปทานที่มีบริษัท AIS เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อใช้ใช้ AIS 3 G 2100 ที่มีคุณภาพดีกว่า ด้วยการคีย์เลขบัตรประจำตัวประชาชน ลูกค้าหลายคนเข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่มีคุณภาพดีขึ้น จึงทำตามข้อความ SMS ที่ประกาศเชิญชวนให้ย้ายค่าย แม้ว่าทีโอที จะได้มีหนังสือแจ้งการดำเนินการดังกล่าวให้ กสทช. ทราบ แต่ กสทช. เมื่อทราบเรื่องก็มิได้ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจที่มีการฮั้วกันระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก สร้างสนามแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งบริษัท AIS และบริษัท AWN ทำการอัปเกรดซิมโดยอัตโนมัติอีกหลายระลอก
หนังสือร้องเรียน ระบุด้วยว่า บริษัท AIS ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานรัฐ จะต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ 20 % เมื่อย้ายไปอยู่บริษัท AWN จะจ่ายค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่ กสทช. ประมาณ 6 % เท่านั้นเอง การดำเนินการเช่นนี้ ทำให้สัญญาสัมปทานของ ทีโอที เสื่อมสิทธิ โดยสัญญาสัมปทานยังคงอยู่ แต่ลูกค้าหายหมด ทำให้ไม่มีรายได้ตามสัญญาเกิดขึ้น ผู้บริหารทีโอที ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ก็ปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการอะไรเลย กลับปล่อยให้บริษัทถ่ายโอนลูกค้าไปอย่างสบาย ไม่มีการดำเนินการในทางกฎหมายเลย เช่น ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย หรือสั่งให้ยุติการโอนย้ายลูกค้า หรือเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากบริษัท AIS
ทั้งนี้ หนังสือของ สรท. เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ แก่หัวหน้า คสช. ด้วยว่า “ขอให้ตั้งคณะทำงาน เพื่อเร่งรีบดำเนินการตามกฎหมายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และสั่งให้ยุติการถ่ายโอนลูกค้าของบริษัท AIS ที่ร่วมมือกับ AWN ทันที”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ผ่านมา โทรศัพท์สัมภาษณ์นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัททีโอที ฯ ว่าที่ผ่านมามีการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ สรท. ร้องเรียนต่อ คสช. บ้างหรือไม่และจากนี้จะดำเนินการแก้ปัญหาตามที่มีการร้องเรียนอย่างไร
นายยงยุทธกล่าวว่าเราเป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับของกระทรวงไอซีที ซึ่งตอนนี้ ไม่มีรัฐบาลแล้ว คำสั่งของ คสช. ให้เราปฏิบัติอย่างไร เราก็ต้องปฏิบัติตาม ส่วน สหภาพ ก็ทำไปตามบทบาทของเขา
ผู้สื่อข่าวถามว่าหนังสือร้องเรียนระบุประเด็นปัญหาที่ AIS ต้องส่งคืนอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสัญญาสัมปทาน แต่ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย ( ผจก.กม. ) ของทีโอที ในขณะนั้น ตีความไว้ในปี 2554 ในลักษณะที่ว่า อุปกรณ์ทั้ง 6 รายการนั้น ไม่ใช่อุปกรณ์ที่ระบุไว้ในสัญญา บริษัท AIS ไม่จำเป็นต้องส่งมอบก็ได้ ถ้าเช่นนั้น จะดำเนินการอย่างไร
นายยงยุทธกล่าวว่าเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะหากสมบัติต้องเป็นของทีโอทีโดยชอบธรรมก็ต้องเป็นของทีโอที และกล่าวด้วยว่าที่ผ่านมา จากการประชุมร่วมกันกับฝ่ายกฎหมาย ก็ไม่เคยเห็นว่าฝ่ายกฎหมายระบุเช่นนั้น
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าว่านายยงยุทธมีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไรอีกบ้าง ต่อประเด็นต่างๆ ที่สหภาพร้องเรียน นายยงยุทธกล่าวว่า ตอนนี้ ต้องขอเรียนตามตรงว่าเราต้องฟังนโยบายจาก คสช. เนื่องจากตอนนี้ คสช เป็นรัฐถาธิปัตย์ คสช.ให้นโยบายอย่างไรเราก็ต้องปฏิบัติตาม
“แต่ขอยืนยันว่า อะไรที่เป็นสมบัติของทีโอที เราก็ต้องรักษาไว้เป็นของทีโอที” นายยงยุทธระบุ