หวังราคาข้าวเขยิบขึ้น ‘ดร.อัมมาร’ ลุ้นลุยตรวจโกดัง ขอให้เจอ 'สต๊อกลม'
‘ดร.อัมมาร’ ชี้ทางรอดอนาคตข้าวไทยสดใส คสช.ต้องตรวจเจอสต๊อกลมมากที่สุด หวังดึงราคาตลาดสูงขึ้น ระบุระบายสินค้าต้องทำใจรับขาดทุน เชื่อชาวนามีแรงจูงใจลดต้นทุนการผลิตได้
ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐตรวจสอบสต๊อกข้าว 1,800 โกดัง และ 137 ไซโลทั่วประเทศ จำนวน 18 ล้านตัน โดยมีกรอบการทำงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2557 เพื่อหวังจัดระเบียบที่เกิดขึ้นจากความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว จนส่งผลกระทบวงกว้าง
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงโอกาสตลาดข้าวไทยจะสดใสในอนาคตเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อการตรวจสต๊อกข้าวในโกดังของ คสช. เจอสต๊อกลม เพราะเมื่อไทยไม่มีข้าว ราคาก็จะเขยิบสูงขึ้น แต่ตราบใดที่มีสต๊อกข้าวปริมาณมาก ราคาก็จะตกลงเรื่อย ๆ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดจะต้องลุ้นในเจอ 'สต๊อกลม' แล้วค่อยไปเอาผิดกับคนดูแลโกดังข้าวเหล่านั้น
“การตรวจสต๊อกข้าวจะต้องทราบข้อมูลจากบัญชี แต่ตอนนี้รู้สึกบัญชีเลอะเทอะไปหมด จึงไม่แน่ใจว่าจริง ๆ เเล้ว มีปริมาณเท่าไหร่และเก็บไว้ที่ไหนบ้าง” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว
สำหรับการเปลี่ยนผ่านนโยบายจำนำข้าว ดร.อัมมาร กล่าวว่า คสช.พยายามลดต้นทุนการผลิตเป็นสิ่งที่ดี และชาวนาก็มีแรงจูงใจสูงมากที่จะลดต้นทุนดังกล่าว เพราะหากยังดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท/ตัน ชาวนาจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย ไปกับการใส่ปุ๋ยเคมี หรือยาฆ่าแมลง รวมถึงพยายามบีบคั้นข้าวจนถึงเมล็ดสุดท้ายขึ้นจากดิน แต่เมื่อมีแรงจูงใจจากตัวเงินน้อยลง ต้นทุนการผลิตจะลดลงไปเอง
ส่วนการแก้ปัญหาการเช่าที่ดินทำนาราคาสูง จำเป็นต้องเจรจากับเจ้าของที่ดิน แต่หากเดือดร้อนจริง ๆ รัฐบาลอาจต้องเข้าไปดูแล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าชาวนาที่เช่าที่ดินนั้นไม่ได้มีฐานะยากจนเสมอไป บางทีอาจเป็นชาวนาที่มีหัวคิดเชิงพาณิชย์ไปเช่าและมีเงินเสียค่าเช่าราคาสูง แต่หากชาวนายากจนจริงก็ไม่ควรจะเช่า
“ต้นทุนการผลิตข้าวผันแปรตามราคาข้าว ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่น ดังนั้นชาวนาได้ราคาข้าวเท่าไหร่จะลงทุนไปกับปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลงเป็นเงาตามราคา เพราะฉะนั้นราคาจึงเป็นตัวกำหนดต้นทุน ไม่ใช่ต้นทุนกำหนดราคา โดยหากราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาจะลดปริมาณการผลิตและเลิกไปในที่สุด” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่าช่วงที่โครงการรับจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท/ตัน หลายคนเปลี่ยนจากอาชีพทำสวนไปทำนาแทน แต่ปัจจุบันเริ่มหันกลับมาทำสวนเหมือนเดิมแล้ว โดยเฉพาะการปลูกผักที่เริ่มมีราคาสูงขึ้น จึงควรปรับเปลี่ยน
เมื่อถามถึงการระบายสต๊อกข้าวที่เหลือให้หมดโดยเร็ว ดร.อัมมาร ระบุว่า หากมองในแง่การเมือง รัฐบาลทุกยุค ไม่เว้น คสช.ต่างไม่กล้าระบายสต๊อกข้าวที่มีอยู่ในปริมาณมาก เพราะจะทำให้ราคาในตลาดโลกตกต่ำ แต่ถ้าจะเก็บไว้ก็ควรหาวิธีรักษาให้นานที่สุด ดังนั้น ไทยจะมีความโชคดีต่อเมื่อมีสต๊อกลม เรียกว่ายิ่งเจอมากยิ่งดี
ในแง่เศรษฐศาสตร์ ควรระบายสต๊อกข้าวตามอัตราที่กำหนดจนกว่าจะหมด อาจเป็นปริมาณปีละ 4 ล้านตัน หรือ 9 ล้านตัน ซึ่งจะต้องรอตรวจสอบราคาในอนาคต อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะวิธีใดต้องทำใจเรื่องการขาดทุน แต่ยืนยันสำหรับข้าวที่ผลิตออกมาใหม่มีอนาคตแน่นอน เพียงแต่รัฐบาลจะต้องมีนโยบายจัดการสต๊อกข้าวเก่าให้ดีควบคู่ด้วย .