ไทยป่วยเป็นไข้ ดร.บวรศักดิ์ วิเคราะห์ปัญหาร้าวลึก ไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว
"จริงๆ แล้วความขัดแย้งวันนี้ใช่เรื่องทางการเมืองอย่างเดียว เป็นเรื่องทรัพยากร ความไม่เท่าเทียมกัน การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม คนมั่งมีมั่งมีมหาศาล... คือที่มา “นโยบายประชานิยม” ที่มาของความขัดแย้งระหว่างคนมั่งมี กับคนไม่มี ระหว่างคนชั้นกลางระดับบน และชนชั้นกลางระดับล่างสาเหตุของโรคที่แท้จริง"
วันที่ 2 กรกฏาคม 2557 ที่ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหมร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง "การปฏิรูปประเทศไทย : การเข้าสู่อำนาจและการตรวจสอบ" โดยมีศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาพิเศษ
ร.5 ปฏิรูปสำเร็จด้วยพระปรีชาสามารถ
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ถึงปัญหาของในหลายๆ ประเทศที่มีความขัดแย้ง จนมีคนบาดเจ็บล้มตายกัน เช่น สหรัฐอมริกา ฝรั่งเศส สำหรับประเทศไทยก็ประสบปัญหามาโดยตลอด สมัยรัชกาลที่ 5 เราประสบปัญหาใหญ่โต ในเรื่องการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจ วันนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระปรีชาสามารถนำประเทศไทยให้เป็นประเทศไทยน้อยประเทศมากที่เป็นเอกราช โดยทรงปฎิรูปกำลังพลของประเทศ เลิกระบบไพร่ ระบบทาส เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ทรงปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปทหาร ปฏิรูปการปกครอง ผลในการปฏิรูปครั้งนั้น ตั้งแต่ปี 2417 จนกระทั่งเสด็จสวรรคต ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในไม่เกินสิบชาติในเอเชียที่เป็นเอกราช ในประเทศเหล่านั้นมี ไทย ญี่ปุ่น จีน อิหร่าน ที่เหลือเป็นอาณานิคมของตะวันตกทั้งสิ้น
“การปฏิรูปครั้งใหญ่ในรัชการที่ 5 ได้ประสบความสำเร็จด้วยพระปรีชาสามารถ มีการพยายามปฏิรูปประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งในปี 2475 ด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่คณะราษฎร์ต้องการจะสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น การปฏิรูปครั้งนั้นก็เปลี่ยนแปลงในแง่อำนาจการเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงมี มาอยู่ที่ประชาชน และก็มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร์ แต่สถานการณ์ก็มีความไม่มั่นคงจนมาสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยก็เข้าไปเชื่อมโยงกับปัญหาของโลกอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากนั้นก็มีการพยามปฏิรูปรอบที่ 3 เมื่อปี 2500 ด้วยการเข้าไปเชื่อมกับมหาอำนาจตะวันตกในทางทหาร ในทางเศรษฐกิจมีการเข้าไปเชื่อกับธนาคารโลก มีการตั้งสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ซึ่งส่งผลมาถึงวันนี้ คือ เกิดความเหลื่อล้ำกันระหว่างคนมั่งมีมหาศาล กับคนชั้นชั้นกลาง และคนไม่มี ในต่างจังหวัด”
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงสถานการณ์ยุคที่ 4 ในปี 2547 เกิดปัญหามีการเมืองการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต้องปฏิรูป แบบลุ่มๆดอนๆ มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็พยายามจะทำที่จะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของประชาชน ท้ายที่สุดก็เกิดปัญหาเป็นปัญหาความขัดแย้งที่ท่านทั้งหลายก็เห็นอยู่ทุกวันนี้
“ปี 2540 , ปี 2550 และปี 2557 จึงเป็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม แต่รัฐธรรมนูญนี้มาเกี่ยวพันกับการเมือง ก็เพราะว่า องค์กรทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจแทนบ้านเมืองและพลเมือง ถ้าเป็นระบบก่อนปี 2475 เราเรียกองค์กรนั้นว่า “ราชาธิปไตย” คือพระมหากษัตริย์ตัดสินใจแทนพระองค์เดียวแทนคนทั้งชาติ อย่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยปฏิรูปประเทศไทยประสบความสำเร็จ และเราเป็นเอกราชจนทุกวันนี้
หรือจะหลายบุคคลก็ได้ อย่างเช่น ปี 2475 มาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าท่านนับอย่างนั้นเราเป็นประชาธิปไตยมาแล้วกว่า 80 ปี ซึ่งอำนาจก็เปลี่ยนมาเป็นของรัฐสภาและรัฐบาล ที่เราก็มานั่งพูดในวันนี้ก็เพราะว่า การเมืองอันเป็นตัวตัดใจสินแทนพลเมืองและบ้านเมืองทั้งชาติว่า เราจะแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างไร”
ค้นหาสาเหตุความขัดแย้งให้ได้ แล้วมานั่งคิดปฏิรูป
ประเด็นเรื่องการปฏิรูป ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า ต้องทำเหมือนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านทรงทำ คือ 1.ต้องหาสาเหตุของปัญหาแล้วหาทางแก้ปัญหาให้ได้ พระพุทธเจ้าบอกว่า ธรรมอันใดเกิดแต่เหตุ ถ้าเหตุดับ ธรรมอันนั้นก็ดับด้วย อะไรเป็นปัญหาแห่งความขัดแย้งเรื้อรังมาแต่แต่ปี 2540 มาจนถึงทุกวันนี้ ต้องหาให้ได้ ถ้าหาเหตุขัดแย้งนั้นให้ได้แล้วมานั่งคิดกันเพื่อปฏิรูปประเทศไทย ก็รักษาตรงจุด
“เพราะฉะนั้นการหาสาเหตุเป็นสิ่งสำคัญ ถึงจะนำไปสู่การรู้ว่าอะไรจะเป็นเครื่องแก้ไขสาเหตุนั้นให้หมดไป ต่อมาได้สาเหตุมาแล้ว แต่คนที่จะตัดสินใจที่ปฏิรูปเทศนั้นไม่ใช่ท่านในห้องนี้ไม่ใช่ผม เพราะเรา 65 ล้านชีวิตจะเข้านั่งตัดสินใจก็ไม่มีที่ให้นั่งแล้ว จะไปยกมือว่าเรื่องนี้จะเอาอย่างไรทั้ง 65 ล้านคนให้ยกมือก็ทำไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องเลือกตัวแทน เลือกผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่แทน
ตรงนี้สำคัญ เพราะการเมือง หรือนักการเมืองนั้น คือคนที่พลเมืองเลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนตัวเอง เพื่อที่จะตัดสินใจในการปฏิรูปประเทศ แปลว่า หากเลือกคนที่ไม่รู้สาเหตุในการแก้เข้าไป เราก็จะเกิดปัญหาอีก หรือรู้สาเหตุแต่ไม่มีความกล้าหาญ ไม่กล้าทำ เพราะขัดผลประโยชน์เราก็จะเกิดปัญหาอีก ฉะนั้น วันนี้ราพูดถึงคนที่จะมีอำนาจในการตัดสินใจปฏิรูปประเทศต่อไปในอนาคต คือฝ่ายการเมือง
ประเด็นหลักๆ อยู่ที่
1. มีสภาเดียวหรือ 2 สภา แล้ว 2 สภานั้นจะมีอำนาอย่างไรสัมพันธ์กันอย่างไร
2. ต้องมานั่งคิดกันว่า แล้วถ้ามีสภาเดียวจะได้สมาชิกมาอย่างไร ถ้ามี 2 สภาจะได้สมาชิกมาอย่างไร ถ้าสภาที่ 1 สภาที่ 2 หน้าตาเหมือนกันจะมีอย่างไร 2สภา แต่ถ้ามีสภาเดียวก็จะเกิดปัญหาแบบที่บอกว่าเหมือนรถด่วนที่วิ่งไปเร็วมาก ตกรางไม่มีใครรู้ไม่มีกระบวนการที่จะทำให้คิดให้ไตร่ตรองให้รอบคอบ รวมทั้ง สภาเดียว 2 สภาแล้วจะได้คนในสภานั้นๆ มาอย่างไร
3. สภานั้นๆ จะทำงานอย่างไร ทำงานแล้วมีประสิทธิภาพไหม จะออกกฎหมามีประสิทธิภาพไหม
สุดท้าย ก็คือว่า แล้วคนที่เราเลือกไปเป็นผู้แทน เราเป็นตัวกลางเราเป็นเจ้าของอำนาจจะคุมเขาอย่างไรตรวจสอบอย่างไร กลุ่มนี้ทั้งหมดเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งผู้ทำหน้าที่แทนบ้านเมืองและพลเมือง ซึ่งก็มีความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องการเมือง
ปัญหาร้าวลึก ใช่เรื่องทางการเมืองอย่างเดียว
พูดง่ายๆ คือการเมืองเป็นหัวรถจักรของทุกเรื่อง แต่กลุ่มนี้อย่างเดียวไม่พอ เพราะจริงๆ ปัญหาที่ร้าวลึกวันนี้ ที่ขัดแย้งกันในวันนี้ ถ้าวิเคราะห์ให้ถึงจุดก้นบึ้งนั้นเราจะพบว่า เป็นปัญหา 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือปัญหาเฉพาะหน้า เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหนุนรัฐบาล และประชาชนอีกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เอารัฐบาล นี่เป็นอาการเฉพาะหน้าที่เป็นอาการของโรควันนี้
“เหมือนท่านผู้มีเกียรติเป็นไข้ ทำอย่างไรจะให้ไข้นี้ลดลง คสช. ก็บอกว่า ปรองดอง เพราะฉะนั้นเราทำเรื่องปรองดองนี้เพื่อให้เกิดความสันติสุขเฉพาะหน้า แต่นี่แปลว่า รักษาอาการของไข้ แต่ว่าเหตุของไข้สมมุติฐานของโรคคืออะไร
จริงๆ แล้วความขัดแย้งวันนี้ใช่เรื่องทางการเมืองอย่างเดียว เป็นเรื่องทรัพยากร เป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน เป็นการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม คนมั่งมีมั่งมีมหาศาล ไปดูตัวเลขการกระจายรายได้ตั้งแต่มีสภาพัฒน์ฯ และมีแผน 1 จนทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าคน 60% ของประเทศเป็นเจ้าของรายได้ประชาชาติไม่ถึง 25% แต่ว่าคนเพียง 20% ด้านบนของประเทศเป็นเจ้าของรายได้ประชาติถึง 55% เป็นวงการถือครองทรัพย์สิน จะพบว่าคนเพียง 10% เท่านั้น และจริงๆ รวมไปถึง 20% ที่รวยที่สุด ก็ถือครองทรัพย์สินถึง 69% ของประเทศ ในขณะที่คนอีก 80% นั้นถือครองทรัพย์สินแค่ 31%
พอไปดูจำนวนบัญชีในธนาคารก็พบว่า คนเพียงไม่เกิน 5 หมื่นคนเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากที่มีเงินฝากอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดเกินครึ่งของระบบธนาคารพาณิชย์ แปลว่า มีการพัฒนาแบบรวยกระจุก จนกระจาย
และอันนี้คือที่มาของ “นโยบายประชานิยม” เป็นที่มาของความขัดแย้งระหว่างคนมั่งมีมหาศาล กับคนไม่มี ระหว่างคนชั้นกลางระดับบน และชนชั้นกลางระดับล่าง เป็นสาเหตุของโรคที่แท้จริง คสช. ก็ไปแบ่งว่าจะต้องมีการ ปฏิรูปราชการ ปฏิรูปการกระจายอำนาจ ปฏิรูปการศึกษา ต้องมีการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูปสารพัด พูดโดยสรุป 10 ข้อของการปฏิรูปนั้นไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากร และความมั่งคั่งเสียใหม่ทางสังคมให้เกิดขึ้น ให้คนที่มั่งมีมหาศาลต้องลงไปอุ้มชูคนที่ไม่มี ซึ่งก็เป็นประเด็นสำคัญ
แต่ทั้งหมดนี้ โดยสรุปว่า ถ้าเราหาสมมุติฐานของโรคได้ว่าความขัดแย้งเกิดจากอะไร แล้ววันนี้เราก็ปฏิรูปประเทศไทยเพื่อขจัดสมมุติฐานของโรคที่เป็นที่มาแห่งความขัดแย้งให้หมดไป
เพราะฉะนั้นการปฏิรูปประเทศไทยคือการตั้งโจทย์ ว่า 10 ปีที่ผ่านมาอะไรคือสาเหตุ และสมมุติฐานแท้จริงที่ทำให้คนไทยต้องมาแตกกันอย่างนี้ เมื่อได้คำตอบแล้วก็ต้องมาถึงคำถามที่ 2 ว่า แล้วเราจะได้นักการเมือง ได้สภา ได้รัฐบาลที่ดีอย่างไร ถึงจะไปทำการปฏิรูปเหล่านั้นได้สำเร็จ
“ การปฏิรูปจะไม่สำเร็จเลยถ้าหัวรถจักร คือผู้มีอำนาจการเมืองที่นั่งอยู่ในสภาก็ดี ในรัฐบาลก็ดี ได้มาอย่างผิดๆ แล้วใช้อำนาจแบบผิดๆ โดยไม่มีการตรวจสอบ เราก็จะเกิดปัญหาอีก ผมได้กราบเรียนไปแล้วว่าเฉพาะหน้าอาการของโรคที่เป็นไข้ ทะเลากันระหว่างคนไทย คสช. บอกว่าปรองดองก็ต้องมี แต่ไม่พอ อะไรเป็นรากฐานที่เกิดความขัดแย้ง 10 ข้อ 20 ข้อก็ต้องถาม”