สุ่มโกดังไม่แจ้งล่วงหน้า ‘ม.ล.ปนัดดา’ ดีเดย์ตรวจข้าวคลี่ทุจริต 3 ก.ค. 57
‘ม.ล.ปนัดดา’ มอบนโยบายคณะทำงาน 100 ชุด ตรวจสอบโกดังข้าวคลี่ปมทุจริต ดีเดย์วันแรก 3 ก.ค. 57 ระบุสุ่มพื้นที่ไม่แจ้งเตือนล่วงหน้า หากพบผิดปกติแจ้งความทันที
วันที่ 2 กรกฎาคม 2557 ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ภายหลังมอบนโยบายและแนวทางการตรวจปริมาณข้าวในโกดังของรัฐบาลว่า คณะทำงานตรวจสอบปริมาณข้าว 100 ชุด ซึ่งมีผู้ตรวจราชการของกระทรวงต่าง ๆ เป็นประธานนั้น จะลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังข้าวของรัฐบาล 1,800 โกดัง และ 137 ไซโลทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบข้อมูลที่แน่นอนในแต่ละแห่ง
เมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพคงเหลือของรัฐเรียบร้อยแล้ว จะจัดทำรายงานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ต่อไป อย่างไรก็ตาม หากพบระหว่างตรวจสอบมีโกดังทุจริตมิชอบจะแจ้งความทันที พร้อมถ่ายภาพและลงนามไว้เป็นหลักฐาน เพื่อสรุปผลในขั้นตอนสุดท้ายว่ามีพื้นที่ทุจริตโครงการเท่าใด
“เมื่อสุดสัปดาห์มีการตรวจค้นโกดังข้าว จ.ปทุมธานี พบหายกว่า 9 หมื่นกระสอบ ดังนั้น จึงเป็นกรณีศึกษาว่าต่อไปนี้จะต้องดำเนินโครงการด้วยความโปร่งใส โดยมีข้าราชการเป็นหลักที่ดีในการตรวจสอบและวางแผนปฏิบัติ” ประธานอนุกรรมการฯ กล่าว
ม.ล.ปนัดดา ยังกล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังข้าวจะไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพื่อป้องกันการโยกย้ายหรือปกปิดความผิด อันจะมีผลตามมาถึงการตรวจสอบพื้นที่ยากขึ้น เพียงแต่วันพรุ่งนี้ (3 กรกฎาคม 2557) ที่มีการแจ้งลงพื้นที่จริงในบางจังหวัดนั้น ก็มิได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับที่ตั้งของโกดัง แต่จะสุ่มลงไปตรวจสอบ
“ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงพาณิชย์ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) จะร่วมมือกับผู้ตรวจราชการกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ตรวจสอบโกดังข้าว” ประธานคณะอนุกรรมการฯ ระบุ และว่าเป็นคณะทำงานที่กำหนดกรอบอย่างเข้มแข็ง และช่วยสังคายนาใหม่ เพื่อเกษตรกรจะได้มีเกียรติ
ม.ล.ปนัดดา กล่าวด้วยว่า สำหรับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวมีหลายรูปแบบ ไม่เฉพาะกรณียัดกล่องแทนกระสอบข้าวตามที่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีการนำไม้อัด ทราย หรือกระดาษใส่ไว้ในกระสอบแทนข้าว ฉะนั้น จึงเชื่อว่าการประชุมนี้จะเป็นทิศทางเพิ่มความรู้ความชำนาญแก่คณะทำงาน เพราะทุกคนอยากทำงานเพื่อความโปร่งใสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กระบวนการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐนั้นมีกรอบระยะเวลา กรกฎาคม-กันยายน 2557 โดยในเดือนแรกคณะทำงานทั้ง 100 ชุด 4 ภาค จะลงพื้นที่เก็บข้อมูลตรวจสอบ มีรายละเอียด ดังนี้
คณะทำงาน ชุดที่ 1-33 ลงพื้นที่ภาคกลาง 19 จังหวัด จำนวน 644 โกดัง ปริมาณ 6.1 ล้านตัน, คณะทำงาน ชุดที่ 34-46 ลงพื้นที่ภาคอีสาน 14 จังหวัด จำนวน 314 โกดัง ปริมาณ 2.3 ล้านตัน, คณะทำงาน ชุดที่ 47-98 ลงพื้นที่ภาคเหนือ 14 จังหวัด จำนวน 770 โกดัง ปริมาณ 9.6 ล้านตัน และคณะทำงาน ชุดที่ 99-100 ลงพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด จำนวน 55 โกดัง ปริมาณ 0.297 ล้านตัน .
ภาพประกอบ:สำนักข่าวทีนิวส์