"ถวิล เปลี่ยนศรี" แจงปรับโครงสร้างดับไฟใต้ ยันไม่ใช่ "ทหารนำการเมือง"
พลันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไฟเขียวให้เปิดตัว "โครงสร้างใหม่ดับไฟใต้" หรือ โครงสร้างการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปรับใหม่อย่างเป็นทางการ ก็ปรากฏเสียงวิจารณ์ว่าเป็นโครงสร้างย้อนยุค กลับไปสู่ยุค "ทหารนำการเมือง" ทั้งๆ ที่แนวทางที่น่าจะถูกต้องและเข้าใจตรงกันนานแล้วคือ "การเมืองนำการทหาร"
ทั้งนี้เพราะโครงสร้างใหม่ที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับนั้น มี "ทหาร" เป็นเจ้าภาพใหญ่ทั้งหมด ได้แก่ ระดับนโยบาย มีหัวหน้า คสช.เป็นคนคุม ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ มี รองผบ.ทบ.เป็นหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และระดับปฏิบัติ มีแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) เป็นหัวหน้า
เรียกว่าทหารคุมเองทุกระดับ!
อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบโครงสร้างใหม่นี้อย่าง นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้อธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นของการจัดโครงสร้างใหม่ และยืนยันว่าไม่ใช่โมเดล "ทหารนำการเมือง" ดังที่มีเสียงวิจารณ์
@@ โครงสร้างเดิมติดปัญหาอะไร?
ปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาอย่างที่รู้มาตลอดว่า เราวางหลักไว้ว่า กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) กับ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) รับผิดชอบงานกันคนละด้าน คือ กอ.รมน.ดูแลความมั่นคง ศอ.บต.รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา สองหน่วยนี้ต้องชี้นำในเชิงคล้ายๆ สภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) คือชี้นำในเชิงยุทธศาสตร์ให้ได้ว่ามีงานอะไรบ้างที่ต้องลงไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมิติความมั่นคงและงานพัฒนาที่ตอบสนองกับนโยบายระดับบน
จากการออกแบบ 2 หน่วยงานนี้ไม่ใช่หน่วยงานปฏิบัติ แต่ปรากฏว่าขณะเดียวกันโครงสร้างทั้งหมด 20 กระทรวง 55 หน่วยงานที่ทำงานภาคใต้มันไม่ลงไปตามที่มีคนชี้ คือมันลงของมันเอง พวกหน่วยในพื้นที่ก็จะมีเกษตรจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ เป็นหน่วยงานระดับภูมิภาค เขาก็ทำ 2 แผน แต่สิ่งที่เขามองคือกระทรวงของเขา ต้นสังกัดของเขา ทำไปตามแผนตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แต่เวลาทำแผน ทางหนึ่งก็ส่งไปที่กระทรวง อีกทางหนึ่งส่งให้ กอ.รมน. และ ศอ.บต. มันก็เลยไม่บูรณาการ
@@ แล้วไปแก้ตรงนี้ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าการทหารนำการเมือง?
นั่นคือปัญหา 20 กระทรวงไม่ถูกชี้นำให้เข้าไปสู่การแก้ปัญหาในเชิงยุทธศาสตร์อย่างแท้จริงว่าพื้นที่ไหนสำคัญเร่งด่วน งานไหนควรทำก่อนทำหลัง...มันไม่มี หน่วยที่ชี้มันต้องชี้ว่างานนี้ต้องก่อน งานนี้เอาไว้ทีหลัง แต่เมื่อชี้ไม่ได้มันก็เท่ากับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น (หมายถึงผลในทางรูปธรรมไม่เกิด) เมื่อเป็นอย่างนี้ก็คล้ายเป็นการผูกบังคับให้ กอ.รมน. และ ศอ.บต. ต้องลงไปทำงานเอง ทั้งๆ ที่ตัวเองคุมทิศทางก็พอ แต่กลับต้องลงไปทำงานยิบย่อย นี่คืองานที่ ศอ.บต.ยุคที่ผ่านมาไปทำ และ ศอ.บต.มีทรัพยากรในมืออย่างที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่
ส่วนทาง กอ.รมน.เอง เมื่อบูรณาการคนอื่นไม่ได้ ภาพพจน์ก็คือไปที่ไหนก็เดือดร้อนชาวบ้านทุกที เป็นงานปราบปราม งานบังคับใช้กฎหมายเสียส่วนใหญ่ ทีนี้ปัญหาสำคัญคือนอกจาก 20 กระทรวงแล้ว กอ.รมน.กับ ศอ.บต.ก็ยังไม่ไปด้วยกันอีก ต่างคนต่างเดิน ไปคนละขาสองขา นี่เป็นปัญหามานาน
ทีนี้สิ่งที่เราจะทำก็คือ ต้องการให้เกิดเอกภาพ มีการบูรณาการ เพราะ 20 กระทรวงเป็นอิสระของตัวเองไม่ได้ ต้องลงไปทำยุทธศาสตร์ ไม่อย่างนั้นเท่ากับอะไรควรทำกลับไม่ทำ อะไรมาทีหลังก็ไปก่อน เราก็ต้องการบังคับวิถีให้ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งกลุ่มงานความมั่นคง และกลุ่มงานพัฒนาสังคมก็ต้องสอดคล้องไปด้วยกัน ไม่ใช่ กอ.รมน.ไปทางหนึ่ง ศอ.บต.ไปอีกทางหนึ่ง
@@ นี่จึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้ได้?
โดยหลักการมันก็เป็นปัญหาอยู่ และรัฐบาลที่ผ่านมาก็ใส่ ศปก.กปต. (ศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) ลงไปจนยุ่งไปหมด นี่คือสิ่งที่ผมลงไปเจอ และคิดมานานแล้วว่าจะทำอย่างไร
แต่จุดไม่ลงตัวมีอย่างเดียวคือ จะเอาใครมาประสานตรงนี้ ระหว่างเสือ 2 ตัวใหญ่ด้วยกันทั้งคู่ ก็เลยตัดสินใจว่ามันต้องมีหนึ่งเดียว ไม่อย่างนั้นมันก็ไปคนละทาง ฉะนั้นต้องทำ 2 อย่างนี้ให้ไปด้วยกันให้ได้ เพราะจับมาคู่กันมันเป็นไปไม่ได้ มันต้องหนึ่งเดียว หนึ่งเดียวนี้ทางหัวหน้า คสช.เขาก็ตัดสินใจว่า เอา คสช.ลงไปรับผิดชอบ ระดับนโยบายข้างบน ส่วนระดับลงมาข้างล่างก็มีคณะทำงานช่วย คสช.อยู่ ก็คือคณะทำงานชุดที่มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ.เป็นประธาน มี สมช. (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) เป็นเลขานุการ และมีเลขาธิการ ศอ.บต. เลขาธิการ กอ.รมน. เป็นผู้ช่วยเลขาฯ มาขยุ้มข้างบน นี่เป็นการประสานเชิงนโยบาย โดย 20 กระทรวงก็มาที่นี่
พอลงพื้นที่ก็ให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นจุดประสาน ส่วน ศอ.บต.ในพื้นที่กลายเป็น ศอ.บต.ส่วนหน้า ไม่ใช่เลขาฯศอ.บต.ส่วนข้างบนแล้ว เพราะเลขาฯศอ.บต.อยู่ข้างบนก็พอ ไม่จำเป็นต้องลงไปยุ่ง ก็ให้ ศอ.บต.ในพื้นที่ทำงานไป อย่างนี้มันก็เกิดเอกภาพ
ฉะนั้นอย่าไปยึดว่าทหารนำ จุดสำคัญคือต้องการขยุ้มงานทั้งหมดให้ไปด้วยกันได้ ทีนี้เสียงครหามันก็มี ผมก็บอกหัวหน้า คสช.ว่า ระวังส่งสัญญาณผิด พอเปลี่ยนโครงสร้างข้างบน ก็หาว่าทหารนำการเมืองแล้ว จะเดือดร้อนกันใหญ่ พวกเราไม่เท่าไร ฝ่ายตรงข้ามจะขยายผลตรงนี้ จุดนี้มันเป็นปัญหา
ผมก็เรียนท่านแล้วว่าท่านมีเจตนาดี ต้องการทำให้ทุกอย่างไปด้วยกันได้ ต้องการให้ทุกอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่สะเปะสะปะ ถ้ามีประสิทธิภาพ การแก้ไขปัญหาสงบเรียบร้อย การอำนวยความยุติธรรมก็ไปเป็นแพ็คเกจได้ งานแทนที่จะลงตรงนั้นตรงนี้ ก็กลายเป็นเนื้อเดียวกัน อนาคตข้างหน้าเมื่อผ่านช่วงนี้ไป ขณะนี้เอา ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นแม่ทัพใหญ่ แต่เมื่อเปลี่ยนไป เลขาฯศอ.บต.อาจจะมาลงตรงนี้ก็ได้ เพราะว่างานเน้นพัฒนาแล้ว งานความมั่นคงอาจอ่อนตัวลงมา ก็แล้วแต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป นี่คือวัตถุประสงค์ที่สำคัญ
ผมคิดหลายตลบ จริงๆ ผมต้องการเอา ศปก.กปต. (20 กระทรวง) ลงทำงานในพื้นที่ ส่วนแม่ทัพใหญ่จะเป็นใครก็ได้ ผอ.รมน.ภาค 4 ก็ได้ หรือเลขาฯศอ.บต.ก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม คือจริงๆ เราไม่ได้เอา กอ.รมน.ออกหน้า ภาพคือ กอ.รมน.ออกหน้า แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะว่าทหารเป็นตัวขับเคลื่อนใหญ่ของเขา (กอ.รมน.) เหมือนกับเดิมที่ ศอ.บต.เป็นตัวขับเคลื่อนใหญ่ของมหาดไทย แต่จริงๆ ก็คือฝ่ายประสานงาน กอ.รมน.ก็เช่นกัน และสังกัดของ กอ.รมน.ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่กระทรวงกลาโหม แต่พอทำงานจริง ๆ มันใช้ ทบ. (กองทัพบก) เป็นหุ้นส่วนใหญ่
แต่ก็อย่างที่ว่า ประเด็นปัญหาคือมันส่งสัญญาณผิด อาจเปิดช่องว่างขึ้นมา แต่หัวหน้า คสช.ต้องการให้ชัดเจน และเอาความจริงใจเข้าว่า ไม่ใช่บู๊ล้างผลาญ
@@ ตอนนี้เร่งอธิบายกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่หรือยัง?
ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร กอ.รมน.ต้องทำความเข้าใจ จุดเน้นคือไม่ได้มีเจตนาว่าต่อไปนี้จะเปิดบทบู๊ล้างผลาญ ผมได้เตือนเขาแล้วว่าระวังเป็นอย่างนี้ เพราะเป็นปัญหามานานมาก ผมบอกเขาว่าถ้าเรียบร้อยเรื่องนี้ เรื่องพูดคุยสันติภาพจะเดินต่อได้ ซึ่งเรากำลังประเมิน สรุปข้อดีข้อเสีย สรุปแนวทางทั้งหมด ถ้าเรียบร้อยผมก็จะตั้งวงชี้แจง หรือหัวหน้า คสช.จะชี้แจงเองก็แล้วแต่ ไม่มีปัญหา
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ นายถวิล เปลี่ยนศรี จากศูนย์ภาพเนชั่น