เปิดข้อเสนอ"สันติธานี" ชูปรับบริการของรัฐ "โรงเรียน-โรงพัก-โรงพยาบาล" สร้างสันติสุข
ในห้วงของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าจะมี “อะไรใหม่ๆ” เพื่อเป็น “จุดเปลี่ยน” สำหรับการคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีข้อเสนอซึ่งเป็นรูปธรรมพอสมควรของกลุ่มนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 หรือ “4 ส.2” สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเตรียมสรุปรายงานส่งถึงรัฐบาลชุดใหม่ในราวเดือน ต.ค.นี้
หลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข หรือเรียกสั้นๆ ว่า “4 ส.” เป็นหลักสูตรการศึกษากึ่งฝึกอบรมซึ่งจัดโดยสถาบันพระปกเกล้า เปิดรับนักศึกษาจนถึงปัจจุบันรวม 3 รุ่น แต่ละรุ่นประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อสารมวลชน เพื่อร่วมกันสังเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย และใช้องค์ความรู้อันหลากหลายจากปูมหลังและความเชี่ยวชาญของแต่ละคน แต่ละฝ่าย ผสานกันเป็นข้อเสนอส่งถึงรัฐบาลเพื่อสร้างสังคมสันติสุข
นักศึกษา 2 รุ่นแรก มุ่งเน้นศึกษาและจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรุ่นที่ 1 เสนอยุทธศาสตร์ “การเมืองนำการทหาร” โดยจัดทำรายงานเสนอรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552
ปัจจุบันเป็นการทำงานของนักศึกษารุ่นที่ 2 ซึ่งเตรียมเสนอแนวทาง “สันติธานี" ให้กับรัฐบาลชุดใหม่ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ในราวเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้
“สันติธานี”คืออะไร
ในร่างรายงานเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ‘สันติธานี’ เมืองแห่งวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น” ซึ่งจัดทำโดยนักศึกษา 4 ส.2 ระบุเอาไว้ในตอนต้นว่า การศึกษาปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ที่ผ่านมามักมุ่งทำความเข้าใจสาเหตุของความรุนแรงและผลกระทบ โดยยังขาดแคลนข้อมูลและการศึกษาที่ให้ความสำคัญในแง่ปรากฏการณ์เชิงอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการ และความคาดหวังของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงในแง่อารมณ์ความรู้สึก ความต้องการและความคาดหวังของประชาชน เมื่อพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของภาครัฐที่มีหน้าที่ที่จะต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะความต้องการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตแล้ว ก็จะพบว่าภาครัฐมีหน้าที่สำคัญในการจัดกิจกรรมบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวของประชาชน ไม่ว่าในด้านการสาธารณสุข การศึกษา ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้คณะนักศึกษา 4 ส.2 จึงเห็นควรให้มีการศึกษาในเรื่องการสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชนในพื้นที่ผ่าน “บริการของรัฐ” ที่ประชาชนเหล่านั้นจะต้องใช้บริการ ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เน้นให้ความสำคัญแก่อารมณ์ความรู้สึก ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อการที่จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ได้อย่างมีความสุข อันจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพในการดำเนินชีวิตของประชาชนตั้งแต่เปลถึงหลุมศพ หรือจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน
จากการลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเปิดเวทีพูดคุยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน 9 ประเด็น ได้แก่ การปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ในท้องถิ่น, กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน, ระบบกลั่นกรองผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง, การใช้ภาษามลายู, อัตลักษณ์ อิสลามมลายู, ระบบกฎหมายอิสลาม, การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม, ระบบการศึกษาแบบผสมผสาน และระบบสาธารณสุข พบว่าความต้องการโดยรวมของประชาชนแสดงผลออกมาในลักษณะที่ต้องการใช้อัตลักษณ์ของชาวมลายูและศาสนาอิสลามในทุกประเด็นที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งอาจเป็นเพราะประชากรส่วนใหญ่ใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นชาวมลายูมุสลิมร้อยละ 79.3 หรือ 1.4 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 1.83 ล้านคน
การเรียกร้องและแสดงออกซึ่งความต้องการนี้มุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนทัศนคติและการใช้อำนาจจากราชการส่วนกลางที่มีต่อท้องถิ่น เช่น ให้มีอักษรยาวีกำกับอยู่ในป้ายต่างๆ โดยเฉพาะของทางราชการ รวมทั้งการให้ความเคารพต่อหลักและความเชื่อทางศาสนาอิสลาม เช่น ให้โรงพยาบาลอนุญาตให้ผู้มารับบริการสามารถปฏิบัติกิจทางศาสนาตั้งแต่ขั้นตอนการเกิดจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
คณะนักศึกษา 4 ส.2 เล็งเห็นว่า การตอบสนองความต้องการดำรงอัตลักษณ์และศาสนาของคนในท้องถิ่นนั้น จะทำให้ประชากรในท้องถิ่นระลึกถึงความมีตัวตนและมีที่ยืนในสังคมไทย อันจะก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐไทย เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย สามารถลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่กำลังปะทุเป็นความรุนแรงอยู่ในเวลานี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
กระนั้นก็ตาม การตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนนี้ต้องใช้กับทุกฝ่าย ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ทุกศาสนาโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพราะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีประชากรชาวพุทธประมาณ 4 แสนคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของประชากรในพื้นที่ ซึ่งต้องได้รับความสำคัญเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นการแก้ไขปัญหาชนกลุ่มหนึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาชนกลุ่มเล็กกว่าในพื้นที่ในลักษณะเดียวกัน ฉะนั้นการใช้แนวคิดนี้จึงต้องใช้ควบคู่กับ “กลไกการมีส่วนร่วม” ที่มีทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกศาสนาได้เข้ามาเรียนรู้คุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของแต่ละฝ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจกันและแสวงหาข้อตกลงร่วมกัน
ในทางปฏิบัติจึงต้องริเริ่มจากประชาชนในพื้นที่ โดยมีรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ให้ความต้องการตามข้อตกลงเหล่านั้นของประชาชนสามารถดำเนินการได้
อย่างไรก็ดี ประเด็นความต้องการในเรื่องที่เกี่ยวกับ “การเมืองการปกครอง” (ประเด็นที่ 1 จาก 9 ประเด็น) นั้น ขณะนี้สภาพัฒนาการเมืองกำลังขับเคลื่อนอยู่ในพื้นที่เพื่อให้มีการกระจายอำนาจและปรับโครงสร้างการบริหารการปกครองซึ่งสอดคล้องกับที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอ จึงถือว่าประเด็นนี้มีเจ้าภาพแล้ว
ฉะนั้นข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ของคณะ 4 ส.2 จึงมุ่งไปที่ความต้องการของประชากรในพี้นที่ ด้วยการนำเอาวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น อัตตลักษณ์มลายูและศาสนาอิสลามเข้ามาจัดบริการของรัฐเพิ่มขึ้น เริ่มจากกระบวนการยุติธรรม การศึกษา และการสาธารณสุข โดยท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเป็นผู้ขับเคลื่อนผ่านกลไกการมีส่วนร่วม
“วิถีวัฒนธรรม”นำการเมืองและการทหาร
ร่างรายงานเรื่อง “สันติธานี” อธิบายถึงองค์ประกอบของ “สันติธานี” ว่าแบ่งเป็น 3 ส่วน 5 องค์ประกอบ ได้แก่
ส่วนที่ 1 บริการของรัฐ ประกอบด้วย
- กระบวนการยุติธรรม คือ โรงพัก “ต้นน้ำแห่งความยุติธรรม”
- การศึกษา คือ โรงเรียน “ไหว้สวย สลามงาม”
- การสาธารณสุข คือ โรงพยาบาล “สร้างสุขจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน”
ส่วนที่ 2 กลไกการมีส่วนร่วม คือ ชุมชนดูแลตนเองด้วย “สภาพลเมือง”
ส่วนที่ 3 ชุมชนเข้มแข็ง คือ เศรษฐกิจชุมชนบนวิถีวัฒนธรรม
หลักการใหญ่ที่สุดของ “สันติธานี” คือ การสร้างเมืองแห่งการกินดีอยู่ดีตามวิถีวัฒนธรรมที่คนท้องถิ่นรู้สึกเป็นเจ้าของ อธิบายได้ดังนี้
กินดี ได้แก่ มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้พอเพียงเลี้ยงครอบครัว เข้าถึงอาหารตามวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น
อยู่ดี ได้แก่ มีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและชื่อเสียงเกียรติคุณ มีสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการศึกษาที่ทำให้ลูกหลานดี (ด้านศาสนา) และเก่ง (ด้านสามัญ/ วิชาชีพ) มีอำนาจและเข้าถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมจัดการท้องถิ่นภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ มีความเสมอภาคเท่าเทียม มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีในฐานะพลเมืองไทย
ตามวิถีวัฒนธรรม ได้แก่ การให้ความสำคัญกับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะมิติทางภาษามลายูและหลักศาสนาอิสลามในวิถีการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็เคารพวิถีที่แตกต่างของคนส่วนน้อย ขับเคลื่อนชุมชนด้วยปัญญาและคุณค่าที่มีในท้องถิ่นพร้อมคุณธรรมกำกับ
ความรู้สึกเป็นเจ้าของ ได้แก่ การเข้าถึงสิทธิในการมีส่วนร่วม สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ร่วมคิดร่วมแสดงความคิดเห็น วางแผน ตัดสินใจ ลงมือทำ รับผิดชอบ ติดตามและประเมินผล ร่วมภาคภูมิใจ
โรงเรียน “ไหว้สวย สลามงาม”
ข้อเสนอสันติธานีในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการนำเสนอรูปแบบการบริการสาธารณะของภาครัฐที่มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับวิถีวัฒนธรรม จึงมุ่งไปที่โรงเรียน โรงพยาบาล และโรงพัก แต่การดำเนินการใดๆ ต้องให้สมาชิกและผู้นำที่อาศัยอยู่ในชุมชนเป็น “พระเอก” โดยมีภาคการเมือง ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมเป็นผู้สนับสนุน
เริ่มจากโรงเรียนน่าอยู่ “ไหว้สวย-สลามงาม” มีหลักคิดจากความต้องการของคนในพื้นที่ที่อยากให้ลูกหลานเติบโตเป็นเยาวชนที่ยึดหลักศาสนาในการดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น มีความรู้ที่นำไปประกอบอาชีพ เกิดทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
ความต้องการของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่สรุปได้ดังนี้
1.ลูกหลานมีหลักศาสนาในจิตใจและมีความรู้ทางวิชาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
2.ลูกหลานไม่ละทิ้งวัฒนธรรมความเป็นมลายูมุสลิม ปฏิบัติศาสนกิจตามหลักอิสลามและเรียนรู้ภาษามลายูได้อย่างเป็นระบบ
3.กิจกรรมในโรงเรียนของรัฐมีความสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นและไม่ขัดกับหลักศาสนา
4.การศึกษาที่มีคุณภาพสามารถศึกษาต่อเนื่องในระดับสูง
ลักษณะหลักสูตรที่ควรมีในพื้นที่
-สืบสานอัตลักษณ์ท้องถิ่น “เก็บความเป็นท้องถิ่นให้มากที่สุด”
- เรียนทั้งศาสนา-สามัญควบคู่กันไป “อยากให้เด็กได้รู้ทั้งหลักศาสนาและวิชาชีพ ทั้งดีและเก่ง”
- มีหลักสูตรทางเลือกในระดับมัธยมปลายให้นักเรียนสามารถเลือกที่จะมุ่งเน้นการเรียนสายศาสนาหรือสายสามัญตามความถนัดและความสนใจได้
- ส่งเสริมและปลูกฝังให้เกิดความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ในระดับอนุบาล ทั้งไทยพุทธและมลายูมุสลิม เช่น ทำไมพุทธต้องเข้าวัด ทำไมมุสลิมต้องละหมาด
- บรรจุวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับสันติศึกษาเพื่อให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีรวมทั้งฝึกปฏิบัติให้เกิดทักษะในการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาต่างๆ
- ใช้ภาษามลายูในการเรียนการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม เนื่องจากมีความเชื่อมโยงระหว่างอักขระยาวีกับภาษาอาหรับซึ่งเป็นภาษาหลักของศาสนาอิสลาม
- กำหนดให้มีวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่นในส่วนของหลักสูตรการศึกษา ซึ่งจะเป็นการเรียนที่ทำให้เห็นคุณค่าและเกิดความผูกพันกับท้องถิ่น
- กำหนดให้มีเนื้อหาสุนทรียศาสตร์โดยเรียนดนตรี กีฬา ศิลปะ และกิจกรรมพื้นบ้านที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม
- เรียนสามภาษา คือ ไทย อังกฤษ มลายู เป็นวิชาบังคับ
นอกจากนั้นยังควรจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในโรงเรียนโดยใส่ใจรายละเอียดทางวัฒนธรรม เช่น โรงเรียนที่มีนักเรียนมุสลิมให้เด็กหญิงและชายทำกิจกรรมไม่ปะปนกัน, จัดให้ละหมาดตามเวลาที่ศาสนากำหนด, หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนมุสลิมต้องกราบบุคคลหรือวัตถุสิ่งของ, มีเครื่องแบบนักเรียน ลูกเสือเนตรนารี และชุดพละศึกษาสำหรับเด็กมุสลิม เป็นต้น
ตั้ง ม.ปัตตานี-เลือกตั้ง กก.ศึกษาจังหวัด
ข้อเสนอเพิ่มเติม คือ ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยปัตตานี โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่รองรับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสาขาศาสนาอิสลามหรือสาขาวิชาชีพ เช่น วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานของหลักอิสลาม โดยจะเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างสำหรับทุกกลุ่มวัฒนธรรม ซึ่งมีต้นแบบคือมหาวิทยาลัย UIA (International Islamic University of Malaysia) ของประเทศมาเลเซีย
ขณะเดียวกันก็เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ให้คณะกรรมการการศึกษาจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง โดยต้องไม่ฝักใฝ่การเมือง เพื่อให้มีหน้าที่ดูแลงบประมาณและดูแลโรงเรียนรัฐและเอกชน และเฉพาะผู้บริหารโรงเรียนรัฐ ให้คณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งนี้เป็นผู้เลือกและประเมินผลการทำงาน
ส่วนคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดควรมีคุณวุฒิที่สำเร็จการศึกษาทางด้านการบริหารการศึกษาโดยเฉพาะ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี โดยให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นทีมและให้เสนอนโยบายต่อประชาชนในพื้นที่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง
โรงพยาบาลสร้างสุข
ในด้านการสาธารณสุข ร่างรายงาน “สันติธานี” เสนอหลักการเอาไว้ว่า ประชาชนทุกกลุ่มสุขใจในการรับบริการด้วยรูปแบบที่สอดคล้องวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นครอบคลุมตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่
ลักษณะการบริการที่สำคัญ อาทิ
- อำนวยความสะดวกให้บิดาหรือผู้รู้ทางศาสนาที่เป็นผู้ชายเข้าไปกล่าวอาซานแก่เด็กแรกเกิดเพื่อรับขวัญเด็กในห้องคลอดได้
- เอื้ออำนวยให้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับการบริการระหว่างคลอดเพื่อเสริมคุณค่าทางจิตวิญญาณ เช่น การให้ญาติหรือ "โต๊ะบิแด" (หมอตำแย) เข้าไปให้กำลังใจในห้องคลอด หรือเข้าไปนวดได้
- ยินยอมให้ครอบครัวสามารถรับรกเด็กไปปฏิบัติตามวิถีของมุสลิมได้
- ให้บริการเข้า “สุนัต” โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นชายมุสลิมที่มีความรู้ในการเข้าสุนัต
- จัดให้มีระบบการจัดบริการอาหารสองระบบที่สนับสนุนให้ทั้งผู้ป่วยที่เป็นมุสลิมและพุทธสามารถมีความสบายใจในการบริโภคได้ เช่น มีโรงครัวฮาลาลและมีตราฮาลาลรับรอง
- จัดให้มีผู้รู้ทางศาสนามาให้ความรู้ทางศาสนาในการปฏิบัติศาสนากิจขณะเจ็บป่วย
- มีระบบที่เอื้ออำนวยให้แต่ละศาสนิกเข้าถึงการเตรียมตัวในวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบตามวิถีวัฒนธรรมของตน
- มีการจัดรถอาบน้ำละหมาดเคลื่อนที่ให้กับผู้ป่วยที่เคลื่อนย้ายลำบากกสำหรับการอาบน้ำละหมาด
- ควรจะมีการจัดบริการพิเศษที่เอื้อต่อการปฏิบัติตนในเดือนถือศีลอด (รอมฎอน) เช่น มีการเตรียมน้ำดื่มและอินทผลัมไว้ที่หน้าห้องฉุกเฉินและในส่วนอื่นของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้มารับบริการสามารถละศีลอดได้สะดวกในทันทีที่มีเสียงอาซาน
- มีสถานที่หรือวัสดุอุปกรณ์สำหรับการปฏิบัติศาสนกิจของผู้ป่วย เช่น การจัดเตียงนอนให้เอื้อต่อการปฏิบัติศาสนกิจ มีสัญลักษณ์บอกทิศทางการทำละหมาด พร้อมทั้งมีสถานที่ละหมาดเป็นการเฉพาะ และมีหิ้งบูชาพระสำหรับชาวพุทธ
- ควรใช้ภาษามลายูควบคู่ภาษาไทยกำกับอยู่ตามป้ายต่างๆ เพื่อสื่อสารภายในโรงพยาบาล และป้ายชื่อโรงพยาบาล
- ในแง่ของบุคลากร ควรมีความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น และหลักศาสนา รวมทั้งสื่อสารภาษามลายูได้ ซึ่งเป็นความจำเป็นในการรักษา
โรงพักประชาชน “ต้นน้ำแห่งความยุติธรรม”
หลักการของการอำนวยความยุติธรรมคือ ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบทุกพื้นที่อยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึกหรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีความต้องการให้นำกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติมาบังคับใช้แทนกฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับ และบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม เสมอภาค เท่าเทียม ไม่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม
ลักษณะการทำงานของเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนต้องการ อาทิ
- ยึดหลักนิติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การเรียก การค้น การจับ การควบคุมตัว การปล่อยตัวชั่วคราว และการสอบสวนในทุกขั้นตอน
- มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ในกรณีที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำผิด รวมทั้งในกรณีที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้เสียหาย เช่น การจับ การแจ้งสิทธิ การควบคุม การสอบสวน เป็นต้น
- ยึดหลักความโปร่งใส เปิดโอกาสและพร้อมที่จะให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานได้
- ยึดหลักการมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใส เน้นให้รู้และเข้าถึงสิทธิของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมกระบวนการทำงานต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม เช่น อาสาจราจร และการเข้าร่วมตรวจค้น การมีผู้นำศาสนาร่วมให้คำแนะนำในการจัดการศพในระหว่างการชันสูตรพลิกศพ และในกรณีที่จำเป็นอาจให้ผู้ที่ญาติของผู้ตายไว้วางใจเป็นผู้พิมพ์ลายนิ้วมือศพ เป็นต้น
- ยึดหลักความรับผิดชอบ ยอมรับในความผิดพลาด หากมีการกระทำผิดเกิดขึ้นโดยต้องมีการชี้แจงและการลงโทษโดยไม่ช่วยกันปกปิด
- คำนึงถึงวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การอนุญาตให้สตรีที่อยู่ระหว่างการถูกควบคุมตัวคลุมฮิญาบ และให้ละหมาดได้ด้วย
- มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สามารถสื่อสาร พูด และเข้าใจได้ทั้งภาษาไทยและภาษามลายูเป็นอย่างดีอย่างน้อย 1 คนอยู่ประจำสถานีตำรวจตลอดเวลา
- มีสถานที่ละหมาด รวมทั้งใช้ภาษามลายูควบคู่ภาษาไทยตามป้ายต่างๆ บนสถานีตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้ายชื่อหน้าสถานีตำรวจ เพื่อผลทางจิตวิทยาว่าสังคมไทยยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม
- มีเครื่องแบบสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงที่เป็นมุสลิมให้สามารถคลุมผมได้
- มีจำนวนตำรวจที่เป็นคนท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ทั้งไทยพุทธและมุสลิมอย่างเหมาะสมตามสัดส่วนประชากรในพื้นที่
- เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้ เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือทนายความมีส่วนร่วมในการทำบันทึกอันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจในทุกขั้นตอน
- มีกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการสถานีตำรวจที่โปร่งใสและสะท้อนความเป็นตัวแทนที่หลากหลายตามลักษณะของกลุ่มประชากรในพื้นที่อย่างแท้จริงโดยไม่ต้องคำนึงถึงฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ
- ควรมีกรรมการตำรวจหมู่บ้านเพื่อให้คำแนะนำปรึกษาหารือกับตำรวจในการดำเนินงานระดับหมู่บ้านด้วย และจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหมู่บ้านกับสถานีตำรวจด้วย
- ให้ผู้นำชุมชน มีส่วนร่วมในการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิด เช่น การตรวจสอบชื่อผู้ที่จะถูกตรวจค้นและจับกุม รวมทั้งการเข้าไปในพื้นที่ที่จะต้องมีการตรวจค้นและจับกุม
นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอเพิ่มเติม เช่น ผลักดันให้มีการยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และกฎอัยการศึกในพื้นที่, ผลักดันให้มีการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัว มรดก และการพิจารณาคดี เป็นต้น
ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอในกรอบ "สันติธานี" เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับบริการของภาครัฐซึ่งรัฐสามารถทำได้ทันที เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับพี่น้องประชาชน และลดเงื่อนไขประชาชนต่อต้านรัฐ
เพราะเมื่อประชาชนได้รับบริการที่น่าพึงพอใจและมีความสุขในการดำรงชีวิตอยู่ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่...กระบวนการสร้างสันติภาพและยุติความรุนแรงอย่างแท้จริง!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ป้ายใหม่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งปรับเปลี่ยนเมื่อไม่นานมานี้โดยมีภาษายาวีกำกับ นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญกับภาษาและอัตลักษณ์ของคนในท้องถิ่น (ภาพโดย อับดุลการิม รามันห์สิริวงศ์ ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ และนักศึกษา 4 ส.2)
2 เด็กนักเรียนชายแดนใต้กำลังรอเดินทางไปโรงเรียน (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ ทีมข่าวอิศรา)