สหภาพฯ อสมท ร้อง ป.ป.ช.สอบประมูลซื้อโครงข่ายทีวีดิจิตอล 2 พันล.
สหภาพฯ อสมท – ประชาคม MCOT ร้อง ป.ป.ช.สอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงข่ายทีวีดิจิตอล มูลค่า 2 พันล้าน ยันพบกระบวนส่อไม่โปร่งใส 4 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นจาก สตง.ยื่นหนังสือทบทวน – หลีกเลี่ยงประมูลโดยปกติ – การตั้งกก.สอบข้อเท็จจริง - เอื้อเอกชน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมทจ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยตัวแทนสหภาพฯ และประชาคม MCOT เข้ายื่นหนังสือและหลักฐานต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ บมจ.อสมท เป็นองค์กรนำร่องปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะการประมูลจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ในการให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล โดยวิธีพิเศษของ บมจ.อสมท ที่มีมูลค่าโครงการกว่า 2,000 ล้านบาท
นายสุวิทย์ กล่าวว่า ธุรกิจสำคัญของ บมจ.อสมท ขณะนี้มี 2 ส่วนคือ ทีวีดิจิตอล 2 ช่อง และการให้บริการโครงข่ายที่ บมจ.อสมท ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยจากการติดตามและตรวจสอบที่ผ่านมา พบกระบวนการหลายอย่างที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใส เช่น
1.สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทำหนังสือถึง บมจ.อสมท 2 ครั้ง ให้ บมจ.อสมท พิจารณาทบทวนการดำเนินการจัดหาโครงการดังกล่าวของฝ่ายบริหาร เนื่องจากไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องการเสนอราคาได้ทราบถึงข้อมูล และรายละเอียดของขอบเขตงาน และคุณลักษณะเฉาพะของพัสดุ และไม่เปิดโอกาสให้แข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งอาจเข้าข่ายพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้วฯ)
2.มีการหลีกเลี่ยงไม่ใช้วิธีการประมูลโดยวิธีปกติ แต่ใช้วิธีการจัดซื้อพิเศษ ซึ่งการเสนอดังกล่าวมาจากฝ่ายบริหารบางคนที่ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ซึ่งพนักงานและฝ่ายจัดซื้อได้พยายามทักท้วงแล้วแต่ไม่เป็นผล โดยอ้างว่า ต้องการให้เกิดความรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงเกิดกระบวนการดึงเรื่องไว้ให้เกิดความล่าช้า เพื่อให้สามารถใช้วิธีการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และขณะนี้ บมจ.อสมท เกิดความเสียหายแล้วที่ต้องใช้งบประมาณไปเช่าอุปกรณ์ เพื่อให้บริการโครงข่ายไม่หยุดชะงัก อันจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าและประชาชน รวมถึงอาจส่งผลต่อใบอนุญาตที่ กสทช.ให้กับ บมจ.อสมท ได้
3.สหภาพฯและประชาคม MCOT ต้องการให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบกระบวนการที่ไม่โปร่งใสนี้ เนื่องจากล่าสุด มีความพยายามสร้างภาพว่า มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ได้อนุมัติให้ตั้งคณะกรรมการสอบไปแล้ว ที่ประกอบด้วย พนักงานระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เป็นกรรมการ แต่มีการดึงเรื่องไว้ และพยายามที่จะให้คณะกรรมการชุดเดิมตั้งกรรมการสอบสวนแทน อย่างไรก็ดีคณะกรรมการได้มีหนังสือยืนยันว่า การอนุมัติตั้งกรรมการของนายอเนก อยู่ในอำนาจและขั้นตอนของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่อนุมัติหลักการไว้แล้ว
“แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา แต่เป็นพนักงานระดับผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งจะต้องสอบบุคคลที่เป็นถึงระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีกทั้งคณะกรรมการดังกล่าว ได้ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความน่าเชื่อถือด้วย” นายสุวิทย์ กล่าว
4.แม้จะมีการอ้างว่าจนถึงปัจจุบัน บมจ.อสมท ยังไม่ได้ตอบตกลงกับผู้เสนอราคารายใด แต่จากพยานหลักฐานและพยานบุคคลต่าง ๆ ที่นำมายื่นต่อ ป.ป.ช.ในครั้งนี้ เชื่อว่า ป.ป.ช.จะเรียกผู้บริหารมาสอบสวนและให้ข้อมูล ซึ่งสหภาพฯและประชาคม MCOT เชื่อว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏสะท้อนออกมาว่า แม้จะไม่มีการตอบตกลงกับบริษัทรายใด แต่กระบวนการที่ผ่านมาส่อให้เห็นถึงเจตนาว่า อาจเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางราย ซึ่งหากสหภาพฯและประชาคม MCOT ไม่ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ บมจ.อสมท อาจมีการสนองราคาให้แก่เอกชนบางรายไปแล้ว
ขณะที่ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นตัวแทนออกไปรับหนังสือ โดยกล่าวว่า เมื่อได้รับเรื่องดังกล่าวแล้วจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงโดยเร็ว ส่วนกรณีที่สหภาพฯ บมจ.อสมท ต้องการให้ บมจ.อสมท เป็นองค์กรนำร่องในการปราบปรามการทุจริตนั้น สำนักงาน ป.ป.ช.มีความยินดีอย่างยิ่ง เพราะต้องการให้มีการปราบปรามทุจริตอยู่แล้ว
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก dailynews