ป.ป.ช.เล็งแก้กม.ทุจริตอายุความยาวขึ้น เตรียมชง สนช.พิจารณา
ป.ป.ช.ชง คสช.แก้กฎหมายทุจริตให้เข้มขึ้น เน้นติดตามทรัพย์สินคืน – จนท.รัฐต่างชาติ – เอกชน ร่วมกระทำผิด จ่อเพิ่มอายุความในคดีให้สูงขึ้น เล็งเสนอ สนช.พิจารณา ยันเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะถือเป็นหน้าตาของประเทศ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีขอเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 ว่า หลักของเราขณะนี้มีเรื่องสำคัญคือการแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญากับองค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยเฉพาะในเรื่องของอายุความในคดีทุจริต เรื่องเจ้าหน้าของรัฐต่างประเทศที่ร่วมกระทำความผิด เรื่องภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด และในเรื่องของการติดตามนำทรัพย์สินคืน
“แต่เดิม ป.ป.ช.มีร่างกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นในชั้นนี้ทางเรา กับคณะฝ่ายกฎหมาย กำลังประสานกันว่า จะสามารถปรับแก้ได้ในช่วงเวลาไหน อาจจะเป็นการแก้ไขในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ได้” นายสรรเสริญ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีอายุความในคดีทุจริตจะแก้ไขอย่างไร นายสรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องอายุความของคดีทุจริตนั้นมีหลายมุมมองด้วยกัน อาจมองว่าคดีทุจริตไม่มีอายุความก็ดี หรืออายุความจำกัด 30 ปีก็ดี เรื่องนี้เป็นรายละเอียดที่ต้องไปดูกันอีกทีหนึ่งว่าต่างประเทศเขาถือมาตรการกันอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่คดีทุจริตจะไม่มีอายุความ นายสรรเสริญ กล่าวว่า ไม่ใช่ไม่มีอายุความ อาจจะมีอายุความที่ยาวขึ้นนิดหนึ่ง อย่างไรก็ดีต้องดูในรายละเอียด เพราะจริง ๆ ขณะนี้ได้เตรียมการร่างไว้เสร็จสิ้นแล้ว และเบื้องต้นผ่านความเห็นชอบจากกฤษฎีกาแล้ว แต่ติดขัดตรงที่ยังไม่นำเสนอในสภา
“ช่วงนี้ถ้ามี สนช.ทางเราอาจจะหยิบยกกฎหมายฉบับนี้ชงให้พิจารณา เพราะเรื่องพวกนี้เป็นหน้าตาของประเทศ เป็นความน่าเชื่อถือ ที่เรามองว่าอยากให้เกิดความโปร่งใส ดังนั้นถ้าเราไม่เป็นสากลเทียบเท่ากับประเทศอื่น ก็ไม่มีใครยอมรับกฎหมายบ้านเมือง นี่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องดำเนินการ” นายสรรเสริญ กล่าว
นายสรรเสริญ กล่าวด้วยว่า ในส่วนกรณีการติดตามนำทรัพย์สินคืนนั้น หลักการก็คือ เราจะคำนวณตามมูลค่าของทรัพย์สินที่ถูกทุจริตไป และรวมถึงทรัพย์สินที่สามารถจะยึดได้ด้วย แต่จะไม่ใช่ทรัพย์สินที่เอามาจากการทุจริต เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นรายละเอียดที่ต้องพูดคุยกันอีกครั้ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบ สนง.ป.ป.ช. จาก springnews