จี้ คสช.ยกเลิกจัดซื้อรถเมล์ NGV 'เอ็นจีโอ' ชี้ไม่คุ้มค่าลงทุน-เอื้อทุจริต
เครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนตรวจสอบพบโครงการ ‘จัดซื้อรถเมล์ก๊าซเอ็นจีวี’ 3,183 คัน ไม่คุ้มค่าลงทุน ส่อเอื้อทุจริตผิดกม. ไม่อำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ ย้ำหาก คสช.เห็นชอบอาจสร้างจุดด่างพร้อย ปชช.ต้องแบกรับหนี้ร่วมหมื่นล. แนะยกเครื่องใหม่อย่างโปร่งใสทำได้ใน 6 เดือน
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ‘เครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชน ทุกคนขึ้นได้ทุกคัน’ จัดแถลงข่าวเปิดเผยข้อมูลกรณีการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 3,183 คัน ถึงความไม่โปร่งใส โดยมีอาจารย์อุดมโชค ชูรัตน์ ประธานภาคีเครือข่ายฯ, รศ.ดร. ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมแถลง มีรายละเอียด ดังนี้
1. ไม่คุ้มค่าการลงทุนและไม่ตอบสนองต่อการฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ด้วย ขสมก. มีภาระหนี้สินสะสมประมาณ 90,000 ล้านบาท การจัดซื้อรถครั้งนี้ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่แฝงอยู่นอกจากการจัดซื้อรถมูลค่า 13,162 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายแฝงจะประกอบไปด้วยค่าซ่อมบำรุงประมาณ 15,000 ล้านบาท ไม่รวมกับ ค่าอะไหล่ ค่าดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมเป็นเงิน โดยที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้จะทำให้ ขสมก. มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการนำเสนอข้อมูลแนวทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้สะสมที่เป็นรูปธรรม แต่กลับจะเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตในการจ้างเหมาซ่อมบำรุง การเบิกจ่ายอะไหล่และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง
2. มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต น่าจะขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การประกาศร่างบันทึกข้อตกลง(TOR) ทั้ง 10 ครั้ง ของ ขสมก. ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ทักท้วงเรื่องรายละเอียดการกำหนดราคากลาง และการเปิดช่องให้มีการนำรถแบบชานสูงเข้าประมูลในการจัดซื้อรถโดยสารธรรมดาหรือรถร้อนจำนวน 1,659 คัน ด้วยการอ้างเหตุผลที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้รถในภาวะน้ำท่วม ราคาแพงเกินกว่าราคากลาง และปัญหาสภาพถนนที่รถชานต่ำใช้ไม่ได้ จึงน่าสงสัยว่าจะเป็นการล๊อคสเปกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจบางแห่ง
การที่ ขสมก. ไม่กำหนดการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ น่าจะผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2554) มาตรา 103/7 และน่าจะขัดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 69/2557 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบที่ระบุให้หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแล การดำเนินงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติฯ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ อย่างเคร่งครัด
3. เป็นการลงทุนที่ล้าหลังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ด้วยมาตรฐานรถโดยสารในเมือง (City Bus) ทั่วโลกต่างใช้รถโดยสารแบบชานต่ำหรือรถเมล์ไร้บันได ด้วยเป็นการประหยัดพลังงาน ผู้โดยสารขึ้นลงสะดวกปลอดภัย และเอื้ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ผู้สูงอายุ แม่ลูกอ่อนที่มีเด็กบนรถเข็น และผู้ใช้จักรยาน เป็นต้น แต่ ขสมก. กลับเปิดช่องให้นำรถแบบชานสูงติดตั้งลิฟท์ยกรถเข็นซึ่งเป็นรถโดยสารระหว่างเมือง (Inter-City Bus) มาใช้เป็นรถโดยสารในเมือง เป็นการลงทุนที่ล้าหลังไม่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม
หาก คสช. เห็นชอบโครงการซื้อรถเมล์ 3,183 คันตามที่ ขสมก. และกระทรวงคมนาคมเสนอ จะเป็นการสร้างจุดด่างพร้อยให้แก่ คสช. ผู้ที่ได้รับประโยชน์น่าจะเป็นเพียงกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการที่ฉ้อฉล ส่วนประชาชนต้องแบกภาระหนี้สินของ ขสมก. ที่จะเพิ่มขึ้นปีละร่วมหมื่นล้านบาท จะมีประชาชนตกรถเมล์ตาย คนพิการหรือแม่ลูกอ่อนที่ใช้ลิฟท์ยกรถเข็นจะเป็นจำเลยของสังคมที่ขึ้นลงรถเมล์แต่ละครั้ง 5 – 10 นาที
เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและวางรากฐานที่ดีให้แก่กิจการ ขสมก. เพื่อบริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ ภาคีเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนฯ พร้อมด้วยเครือข่ายเพื่อ ขอเรียนไปยัง คสช. ผ่านสื่อมวลชน ให้เร่งฟื้นฟูกิจการรถเมล์พร้อมทั้งจัดหารถเมล์ใหม่อย่างโปร่งใสที่ทุกคนใช้ได้อย่างสะดวกปลอดภัย หากดำเนินการอย่างจริงจังตรงไปตรงมาสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 6 เดือน ทั้งนี้ภาคีเครือข่ายฯ มีข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะสนับสนุนการทำงานของ คสช. อย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน .