เปลี่ยน ‘ภาระ’ ให้เป็น ‘พลัง’ ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กับแนวคิดสลากเพื่อสังคม
"ปฏิรูปโครงสร้างกรรมการบริหารสำนักงานสลากฯ ทั้งชุด หากคสช.ทำจะสร้างบุญให้ สังคมไทยมหาศาล เพราะจะไปช่วยผู้ด้อยโอกาสให้แข็งแรงขึ้น หลายประเทศทำแบบนี้ทั้งนั้น ไม่มีประเทศไหนที่ทำแบบไทย"
ตั้งแต่ 2 กรกฏาคม 2557 เป็นต้นไป คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จับมือกับสำนักงานกินแบ่งรัฐบาล กำหนดการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคา 80 บาท ณ บริเวณหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (สนามบินน้ำ)
“การขายสลากฯ ในราคา 80 บาท สามารถเป็นจริงได้ โครงสร้างคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) สำนักงานสลากฯ ต้องเปลี่ยนทั้งชุด” ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา (http://isranews.org) ว่า เปลี่ยนกรรมการผลัวะเดียว ราคาสลากฯ ก็ลงทันที และกองสลากฯ ต้องนำบุคคลที่มีความคิดอยากดูแลสลากเพื่อสังคม ดูแลสลากไม่ให้เกินราคา เข้ามานั่งเป็นกรรมการด้วย จึงถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
นักกฎหมาย ผู้ศึกษาวิจัยโครงการศึกษากลไกการบริหารจัดการรายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาล เสนอให้จัดสัดส่วนรางวัลใหม่ โดยเฉพาะเงินที่เข้ารัฐ เช่น รัฐควรเอาไปแค่ 10% ที่เหลือ 15% นำมาใช้เพื่อสังคม ทำให้ภาคประชาชนที่อ่อนแอ เข้มแข็งขึ้น เป็นการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ส่วนอีก 15% นำมาดูแลสลากไม่ให้เกิดราคา
“สำนักงานสลากฯ เป็นระบบผูกขาด ทำอย่างไรก็ไม่ขาดทุน เพราะไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย ตัวเองสามารถคุมซัพพลายได้ จึงแก้ปัญหาง่าย”
สำหรับการเปลี่ยนระบบการจำหน่ายสลากฯ ให้เหมือนในต่างประเทศนั้น ศ.วิริยะ กล่าวว่า การจำหน่ายสลากของไทย เป็นการช่วยพวกยี่ปั๊วให้ร่ำรวยแบบไม่รู้เรื่อง น่าจะนำมากระจายให้คนจน กำหนดค่าตอบแทนที่พอสมควร รวมถึงมีกองทุนประกันความเสี่ยง
“ผมว่าทำไม่ยาก แก้กฎหมาย 2 จุด โดยคำสั่ง คสช. ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ ผมว่า ราคาสลากก็ลงแล้ว”
เมื่อถามว่า คสช.เข้าใจการปฏิรูปสลากมากน้อยขนาดไหน ศ.วิริยะ กล่าวว่า “คสช.เข้าใจ เพียงแต่จะกล้าทำหรือเปล่า”
“สำนักงานสลากฯ ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง และเปลี่ยนวัตถุประสงค์การออกสลากเสียใหม่ ต้องออกสลากเพื่อสังคม โดยเฉพาะกับคนที่ด้อยโอกาส ให้เขาเหล่านั้นแข็งแรงขึ้น ไม่ใช่นำเงินของคนจนไปช่วยคนรวยอยู่แล้วให้คนรวยยิ่งชึ้น แล้วยังมาขูดรีดคนจนต่ออีก”
ส่วนการคุมยี่ปั๊วด้วยการไปตามจับผู้ค้าสลากรายย่อยนั้น ศ.วิริยะ เห็นว่า “ขายหน้ากองสลาก ก็ 91 บาท การมาจับรายย่อยขาย 80 บาท เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ คสช.ลองไล่จับยี่ปั๊วที่ขายเกินราคา แล้วกดราคายี่ปั๊วให้ลงไปสัก 2% เชื่อว่า ทำไม่ยาก แก้ปัญหาง่ายที่สุดที่หน้ากองสลากฯ ขนาดชาวบ้านยังรู้เลย แล้วกรรมการสำนักงานสลากฯ ตำรวจไม่รู้ได้อย่างไร”
ศ.วิริยะ ยังระบุถึงความจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างกรรมการบริหารสำนักงานสลากฯ ทั้งชุดอีกว่า เพราะข้าราชการทั้งหลายไม่รู้เรื่อง เข้ามาเฉพาะตำแหน่ง เช่น กรมบัญชีกลาง ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการที่เหลือก็ไม่เกี่ยวอะไร ฉะนั้นบอร์ดกองสลากฯ ควรนำนักวิชาการ ภาคประชาชนเข้าไปอยู่ด้วย
“หากคสช.ทำจะสร้างบุญให้สังคมไทยมหาศาล เพราะจะไปช่วยผู้ด้อยโอกาสให้แข็งแรงขึ้น หลายประเทศทำแบบนี้ทั้งนั้น ไม่มีประเทศไหนที่ทำแบบไทย
แนวคิดการออกสลากเพื่อสังคม นักการเมืองยุคก่อนๆ ก็เคยซื้อ เอาเงินจากการจำหน่ายสลากมากองไว้ และใครมายื่นขอก็ได้ แต่ส่วนใหญ่นักการเมืองได้ไป แต่หากกำหนดกฎกติกาชัดเจนนำเงินสลากไปช่วยคนอ่อนแอ ก็จะช่วยได้มาก”
และเมื่อถามถึงความเป็นไปได้ ของการจำหน่ายสลากออนไลน์เลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว เขามองว่า เป็นการแก้ปัญหาหนึ่ง แต่กลับไปสร้างอีกปัญหาหนึ่ง แค่ดึงสลากออกจากมือยี่ปั๊วเท่านั้นเอง
จากนั้น ศ.วิริยะ ได้ยกกรณีในลาตินอเมริกา หลายประเทศจะสงวนสลากไว้สำหรับผู้ด้อยโอกาสจำหน่ายเท่านั้น “คิดดู สเปนยกสำนักงานสลากฯ ให้สมาคมคนตาบอด ที่เรียกว่า ONCE และนำกำไรไปช่วยกลุ่มด้อยโอกาสในลาตินอเมริกา ประเทศไหนก็ทำแบบนี้เพราะเขารู้ เงินเหล่านี้มาจากคนจน ต้องกลับไปช่วยคนจนให้แข็งแรง นำเงินมารณรงค์ลด เลิก การเล่นพนัน”
ทั้งนี้ นักวิชาการด้านกฎหมาย ยังแสดงความเห็นว่า อนาคตควรมีข้อห้ามสื่อมวลชนลงข่าวผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งฯ เนื่องจากการลงข่าวคนถูกรางวัลสลากกินแบ่งฯ เป็นการไปสร้างกิเลส และกระตุ้นให้คนจนอยากซื้ออีก ดังนั้นต้องห้ามให้เหมือนกับ เหล้า บุหรี่ ห้ามโฆษณา
“เราปฏิเสธไม่ได้ แต่เราสามารถดูแลให้ดีขึ้น นำเงินจากการจำหน่ายสลาก มาช่วยดูแลสังคมให้ดีขึ้นได้” ศ.วิริยะ สรุปทิ้งท้าย