สปร. รุกหนุน 80 วิทยุชุมชน นำร่องปฏิรูปประเทศจากรากหญ้า
สำนักงานปฏิรูป จับมือ วิทยุชุมชน ดึงสื่อปฏิรูปลงถึงชาวบ้าน-สะท้อนจากปัญหาพื้นที่สู่นโยบาย หนุนงบนำร่อง 6 เดือน 80 สถานี ด้านเครือข่าย วชช.ตั้งศูนย์ประสานงานภูมิภาค 11 แห่ง
วันที่ 7 ส.ค. 54 สำนักงานปฎิรูป(สปร.) จัด “ประชุมเครือข่ายวิทยุชุมชนเพื่อการปฎิรูปประเทศไทย” ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ มีตัวแทนเครือข่ายวิทยุชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 80 สถานี และมีการลงนามข้อตกลงปฏิบัติงานวิชาการโครงการเครือข่ายวิทยุชุมชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
ดร.วณี ปิ่นประทีป รองผู้อำนวยการ สปร. เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า จากกระแสการปฏิรูปประเทศไทย ทำให้ สปร.เกิดแนวคิดนำสื่อวิทยุชุมชนที่เข้าถึงประชาชนรากหญ้าได้ง่าย มาเป็นเครื่องมือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการปฏิรูป เช่น การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร หรือมติจาก สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้ข้อมูล และเป็นช่องทางสะท้อนปัญหาชุมชน ตลอดจนระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่างๆโดยประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ
ดร.วณี กล่าวว่า ปัจจุบันเหลือวิทยุชุมชนเพียง 300 แห่งทั่วประเทศ ที่ไม่ได้ดำเนินการแบบธุรกิจ กล่าวคือ ไม่มีการโฆษณา แต่เป็นการระดมทุนจากชุมชน หรือได้รับงบประมาณจากภาครัฐจำนวนไม่มาก โดย สปร.จะเข้าไปสนับสนุนทุนดำเนินงาน เช่น ค่าเดินทาง ค่าผลิตชิ้นงาน ค่าตอบแทนนักจัดรายการวิทยุ เพื่อให้สถานีอยู่รอด และเป็นแหล่งรับเรื่องราวร้องทุกข์ แลกเปลี่ยนข่าวสารในชุมชนต่อไป
“เราคัดเลือกสถานีที่มีความพร้อม เช่น มีผังรายการที่สามารถเผยแพร่สปอร์ต ถ่ายทอดข่าวสารการปฏิรูป สารคดี และผลิตรายการเองได้ในบางส่วน ซึ่งได้พื้นนำร่องกว่า 80 แห่ง ในเวลา 6 เดือน ประเมินผลการทำงานทุก 2 เดือน เพื่อดูความพร้อมของชุมชนและหาช่องทางดำเนินงานต่อไป” รอง ผอ. สปร. กล่าว
ทั้งนี้ เครือข่ายวิทยุชุมชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานระดับภูมิภาค 11 แห่ง เพื่อประสานงานกับวิทยุชุมชนในระดับพื้นที่อีกภาคละ 2-12 แห่งโดยมีสถานีส่วนกลางคือ อาสาสมัครวิทยุชุมชน (อสช.) -กรุงเทพ เป็นศูนย์ประสานงานหลักระหว่าง สปร.กับศูนย์ประสานงานภูมิภาค และให้แต่ละสถานีฯ เลือกแผนการดำเนินงานตามความเหมาะสม 2 แบบ ได้แก่ แบบ A คือเผยแพร่สื่อจาก สปร.และผลิตรายการรณรงค์ปฏิรูปประเทศไทยเองได้ ส่วน แบบ B คือเผยแพร่สื่อจาก สปร.เพียงอย่างเดียว โดยให้ศูนย์ประสานงานภูมิภาคคอยกำกับดูแลในฐานะพี่เลี้ยง
ด้านนายฉัตรชัย ไชยโยธา ตัวแทนวิทยุชุมชนอุทุมพร จ.ศรีสะเกษ และผู้ประสานงานศูนย์ข่าวภูมิภาค ภาคอีสานตอนล่าง เปิดเผยว่า ปัญหาสำคัญของวิทยุชุมชนคือไม่มีเงินทุนดำเนินงาน ที่ผ่านมาเป็นการระดมจากชุมชนทั้งทอดผ้าป่าและรับบริจาค ซึ่งการเข้าร่วมเครือข่ายวิทยุชุมชนเพื่อการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ จะช่วยพัฒนางานด้านเทคนิคการทำสื่อ และด้านการจัดรายการวิทยุ ซึ่งถือเป็นการยกระดับวิทยุชุมชน ซึ่งจะทำหน้าที่ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงสิทธิ ในการปกป้องผลประโยชน์ชุมชน
นายสุชีพ พัฒน์กุล ผู้ประสานงานศูนย์ข่าวภูมิภาค ภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า การรวมตัวกันในรูปแบบเครือข่าย ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสถานีวิทยุชุมชนที่เคยกระจัดกระจาย ทำให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาร่วมกัน และการนำข่าวสารการปฏิรูปไปเผยแพร่ในชุมชนจะช่วยหนุนเสริมความเข้มแข็งในท้องถิ่นได้ เพราะทำให้ชาวบ้านตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตน เกิดการตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง เป็นการกดดันการทำงานของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ฝากความหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ให้สานต่อนโยบายการปฏิรูปประเทศไทย เพราะจะช่วยให้ประชาชนเกิดการตื่นรู้ในหลายๆด้าน ลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน และนำไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริง .