จะดับไฟใต้ด้วย"นโยบาย 3 เก่า"หรือ?
ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวคราวความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรากฏเป็นข่าวออกมาเป็นระยะ
แต่ดูเหมือนปัญหานี้จะแตกต่างจากปัญหาอื่นๆ เพราะไม่ค่อยจะสร้างความหวังให้กับผู้ที่ติดตามสถานการณ์และพี่น้องประชาชนในพื้นที่สักเท่าไหร่ ที่สำคัญในระดับ คสช.เองซึ่งเป็นเหมือนยอดปิระมิดในการบริหารจัดการประเทศอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่ได้มีแอคชั่นใดๆ เกี่ยวกับปัญหาภาคใต้เป็นพิเศษ
ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏเป็นข่าวจึงกลายเป็นเรื่องเก่าๆ คล้ายๆ จะย่ำรอยเดิม เท่าที่ติดตามตรวจสอบดูมีอย่างน้อย "3 เก่า"
เก่าที่หนึ่ง คือ โครงสร้างเก่า หมายถึงโครงสร้างบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เพิ่งเปิดกันออกมา แม้จะพยายามเรียกว่า "โครงสร้างใหม่" แต่แท้ที่จริงแล้วคือสิ่งที่เคยเสนอกันมาตั้งแต่ปี 54 ช่วงต้นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ผลักดันไปได้ไม่สุดทาง
โครงสร้างนี้เรียกง่ายๆ ว่าโครงสร้าง "ทหารคุมเบ็ดเสร็จ" ทั้งในระดับนโยบาย (หัวหน้า คสช.) ระดับปฏิบัติในพื้นที่ (แม่ทัพภาคที่ 4) และระดับที่เป็นตัวประสานการขับเคลื่อนในส่วนกลางเพื่อแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ (รอง ผบ.ทบ.)
โครงสร้างการทำงานลักษณะนี้ มีวัตถุประสงค์ตามที่ชี้แจงกันก็คือ เพื่อความเป็นเอกภาพ ซึ่งจะว่าไปโดยหลักการก็ไม่ได้ต่างอะไรมากมายนักกับโครงสร้างตั้งแต่ปี 47 ถึงปี 51 (ก่อนยุคฟื้น ศอ.บต.) คือมีองค์กรประสานงานเพื่อบูรณาการในส่วนกลาง เช่น กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กอ.สสส.จชต. ส่วนในพื้นที่ให้ฝ่ายทหารคุมเบ็ดเสร็จ (บางช่วงเวลามีผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร หรือ ผบ.พตท.เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยกำลังเป็นการเฉพาะด้วย) แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้!
กระทั่งปี 51 ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงได้ฟื้นโครงสร้างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขึ้นมา และกำหนดบทบาทของ ศอ.บต.ให้เป็นกลไกหนึ่งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) บังคับบัญชาโดยแม่ทัพภาคที่ 4 เหมือนเช่นโครงสร้างที่กำลังเสนอกันในปัจจุบันนี้
แต่โครงสร้างดังกล่าวถูกเปลี่ยนแปลงในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกกฎหมายรองรับอำนาจหน้าที่ของ ศอ.บต.ให้เทียบเท่า กอ.รมน. และใช้ยุทธศาสตร์ "เดิน 2 ขา" คือ ความมั่นคง รับผิดชอบโดย กอ.รมน. ควบคู่กับงานพัฒนาและอำนวยความยุติธรรมที่รับผิดชอบโดย ศอ.บต.
การปรับโครงสร้างกันใหม่ในยุค คสช. จึงเป็นการเปลี่ยนกลับไปหาโครงสร้างเดิม ซึ่งยังไม่มีหลักประกันว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือการลดบทบาท ศอ.บต.เริ่มมีกระแสต้านจากในพื้นที่พอสมควร
เก่าที่สอง คือ มาตรการเก่า ที่เป็นอำนาจตามกฎหมายพิเศษกำลังถูกเข็นออกมาใช้ เช่น เคอร์ฟิว โดยในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) เมื่อวันพุธที่ 25 มิ.ย.57 มีการส่งสัญญาณให้แม่ทัพภาคที่ 4 ประกาศเคอร์ฟิวเฉพาะพื้นที่ได้ หากสถานการณ์ในพื้นที่ไหนเข้าขั้นรุนแรง
อย่างไรก็ดี มาตรการเคอร์ฟิวเคยถูกหยิบมาใช้แล้วในพื้นที่ อ.ยะหา กับ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อ 15 มี.ค.50 ในสมัยที่ พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 และประกาศยกเลิกมาตรการเมื่อวันที่ 10 ส.ค.52 ในสมัยที่ พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 รวมระยะเวลาการประกาศนานกว่า 2 ปี
แน่นอนว่ามาตรการเคอร์ฟิวอาจสามารถช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวยังคงถูกตั้งคำถาม เพราะจนถึงวันนี้สถานการณ์ในพื้นที่ 2 อำเภอที่เคยประกาศเคอร์ฟิวก็ยังไม่ได้สงบ หรือสามารถนำร่องเป็นพื้นที่ยกเลิกกฎหมายพิเศษ (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ / กฎอัยการศึก) ได้แต่อย่างใด
เก่าที่สาม คือ คิดเก่า หมายความว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหามักพุ่งเป้าให้ความสำคัญไปที่รายละเอียดโครงการพัฒนาและการใช้งบประมาณ มากกว่าการมุ่งขจัดปัญหาที่เป็นเงื่อนไขความรุนแรงในพื้นที่ เห็นได้จากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายต่อหลายครั้ง การพูดคุยยังคงวนเวียนกันอยู่ในเรื่องบูรณาการและงบประมาณ
แต่สิ่งที่เป็น "ทุกข์ชาวบ้าน" และปมปัญหาที่ถูกนำไปสร้างเงื่อนไขเปลี่ยนความคิดความเชื่อของเยาวชนในพื้นที่ กระทั่งเต็มใจหยิบอาวุธขึ้นใช้ความรุนแรงเพื่อต่อสู้กับรัฐ กลับไม่ถูกพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชน, การวางบรรทัดฐานการปฏิบัติสำหรับการปิดล้อมตรวจค้นที่ไม่สร้างประเด็นทางความรู้สึกตามมา, การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้เพื่อจัดการกับ “คดีความมั่นคง” ซึ่งเป็นคดีพิเศษแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไปอย่างสิ้นเชิง ฯลฯ
แค่เรื่องที่อาจก่อปัญหาได้รายวันยังไม่เคยให้ความสำคัญ จึงมิพักต้องไปพูดถึงเรื่องใหญ่กว่านั้น เช่น การชำระประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี หรือดินแดนในคาบสมุทรมลายู ให้เป็นที่ยอมรับได้ร่วมกันได้ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่กว่ามาก
ขณะที่ "การพูดคุยสันติภาพ" ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นความหวัง ก็ถูกขีดกรอบให้พูดคุยเฉพาะการลดเหตุรุนแรง การสร้างพื้นที่ปลอดภัยและการพัฒนาท้องถิ่น แต่ไม่คุยเรื่อง "การปกครองตนเอง" หรือ "การปกครองพิเศษ" ซึ่งหลายคนเชื่อว่าน่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการต่อสู้ แม้แต่ อาจารย์มาร์ค ตามไท ผู้เคยมีบทบาทในกระบวนการพูดคุยสันติภาพในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยบอกว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ถ้าไม่คุยเรื่องรูปแบบการปกครอง...ไม่มีทางจบ!
ฉะนั้นการส่งสัญญาณลักษณะนี้แม้จะดีกับรัฐไทยและความมั่นคงของชาติในมุมมองของทหาร แต่ก็อาจส่งผลให้กระบวนการพูดคุยเดินต่อได้ยาก เพราะขาดความยืดหยุ่น
คำถามคือ เราจะดับไฟใต้ในทศวรรษที่ 2 ของยุคความรุนแรงรอบใหม่ที่ใช้ยุทธวิธีการก่อการร้าย ด้วยนโยบายและทิศทางเก่าๆ แบบนี้หรือ?
ในขณะที่ทศวรรษแรกที่จบไปแล้ว เราหมดงบประมาณสำหรับการจัดการปัญหาไปถึง 206,041 ล้านบาท (สองแสนหกพันสี่สิบเอ็ดล้านบาท) และตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา งบประมาณดับไฟใต้อยู่ในทิศทางขาขึ้น จาก 16,487 ล้านบาทในปี 55 เป็น 21,124 ล้านบาทในปี 56 และ 24,152 ล้านบาทในปี 57
ขณะที่ กอ.รมน.ได้รับจัดสรรงบประมาณจาก 35 ล้านบาทในปี 51 เป็น 7,516 ล้านบาทในปี 57 เช่นเดียวกับ ศอ.บต.ที่งบประมาณในปีปัจจุบันอยู่ที่ 2,765 ล้านบาท
หมดเวลาพายเรือในอ่างแล้ว!