ดร.คณิต ชี้กม.ไทยดี แต่ปฏิบัติไร้มาตรฐาน-รับฟ้องคดีขาดประสิทธิภาพ
ประธานคปก.แนะแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมต้องลดปริมาณคดีเข้าสู่ระบบสายพาน ด้านอดีตประธานศาล รธน.ชี้เร่งกระบวนการพิจารณาคดีให้เร็วขึ้นด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมครบรอบ 80 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในงานเหลียวหลังแลหน้า 8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย โดยมีการเสวนาในหัวข้อ ‘เหลียวหลังแลหน้าการอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม’ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาอยู่ 2 อย่าง คือ การวางเฉยของศาลยุติธรรม และการที่ศาลขาดองค์ความรู้เรื่องระบบองค์กรอัยการ ดังนั้นกฎหมายไทยจึงควรมีการอภิวัฒน์มานานแล้ว
กระบวนการยุติธรรมที่ดี ประธาน คปก. กล่าวว่า จะต้องมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่ปัจจุบันมีการนำกระบวนการยุติธรรมมาหาผลประโยชน์ มีแนวคิดในการบริหารงานคดีที่ผิด ส่งผลให้ปริมาณคดีและผู้ต้องหาเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการฟ้องร้องคดีต่าง ๆของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำให้สิ้นเปลืองภาษีของรัฐ เพราะคดีความบางคดีมีอายุความนาน ประกอบกับการทำงานของป.ป.ช.ล่าช้า ทั้งหมดเป็ยผลมาจากกระบวนการยุติธรรมของไทยเองที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีปัญหาในกระบวนการบริหารจัดการ
“กฎหมายบ้านเราดี แต่ปฏิบัติกันแบบไม่ดี จนมีการกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมมีหลายมาตรฐาน ถ้าปฏิบัติกันแบบนี้ก็จะไม่มีมาตรฐานเลย โดยเฉพาะเรื่องการรับฟ้องคดียิ่งไม่มีประสิทธิภาพ”
ศ.ดร.คณิต กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมจะต้องลดปริมาณคดีสู่ระบบสายพาน เช่น ลดปริมาณคดีเข้าสู่ระบบสายพานโดยอัยการ โดยใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง ชะลอการฟ้อง หรือการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชั้นอัยการ หรือการปล่อยตัวชั่วคราว รอการลงโทษ การลดจำนวนผู้ต้องขังโดยฝ่ายราชทัณฑ์
สำหรับการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ประธาน คปก. กล่าวว่า มีความสำคัญ เพราะเป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ สำหรับในศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกานั้นไม่ใช่ศาลที่พิจารณาคดีเป็นเพียงศาลที่นั่งอ่านคำวินิฉัยของศาลชั้นต้นเท่านั้น ซึ่งไม่มีประเทศใดที่พิจารณาแบบ 3 ศาลเหมือนของไทย ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้น
ด้านนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการที่คนมักชอบพูดคำว่า สองมาตรฐาน คำว่าสองมาตรฐานคือต้องมีคดีเหมือนกัน เหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมามีสีเสื้อต่างๆเกิดขึ้น แต่องค์กรยุติธรรมไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ เนื่องจากเราไม่สามารถกำกับเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมืองได้ เว้นแต่จะมีการฟ้องคดี และที่สำคัญศาลไม่เคยก้าวล่วงเข้าไปตัดสิน หากคดีไม่เข้าสู่ระบบศาล
“ช่วงที่ผมเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับคดีทางการเมืองมาพิจารณา มีบางคนจะเป็นจะตาย บางคดีชนะมาขอบใจศาล พอแพ้ก็มาด่าศาล ช่วงนั้นรู้สึกอึดอัด แล้วก็มีกล่าวหาว่า ศาลมีสองมาตรฐาน ดังนั้นจึงขอย้ำในที่นี่ว่า หากจะสองมาตรฐานนั้นจะต้องมีมูลฟ้องและเรื่องต้องเหมือนกันทุกอย่าง บางคนเอาไปสร้างกระแสโจมตี ทั้งๆ ที่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง และองค์กรยุติธรรมก็ไม่ได้มีหน้าที่ในการควบคุมกลุ่มการเมืองต่างๆด้วย”
ขอบคุณภาพจากสยามรัฐ