"ไอซีเจ"ประเมินไฟใต้...ซ้อม-ละเมิดสิทธิลดลง แต่ดำเนินคดีคนผิดยังน้อยไป
เมื่อไม่นานมานี้ นายซาแมน เซีย ซารีฟี ผู้อำนวยการโครงการเอเชีย-แปซิฟิก คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ International Commission of Jurists (ICJ) และทีมงาน ได้ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเก็บข้อมูลและรับทราบสถานการณ์ด้านต่างๆ
โอกาสนี้ ตัวแทนไอซีเจและคณะได้ร่วมพูดคุยกับอัยการ ผู้พิพากษา และตัวแทนสื่อมวลชน
"ไอซีเจ" เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานส่งเสริมความเข้าใจและการปฏิบัติตามหลักนิติธรรมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามกฏหมาย พื้นที่ปฏิบัติการครอบคลุมทั่วโลก สำหรับในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ "ไอซีเจ"เข้าไปทำงานหลายปีแล้ว โดยร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กร อาทิ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ รวมทั้งองค์กรทางศาสนา
ขอบข่ายงานที่ทำมุ่งไปที่การติดตามการดำเนินคดีโดยเคารพหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย รวมทั้งการจัดสัมมนาให้ความรู้เพิ่มเติมร่วมกับองค์กรพันธมิตร
นายซาแมน กล่าวว่า นอกจากเรื่องกระบวนการยุติธรรมแล้ว ไอซีเจยังนำเสนอภาพสถานการณ์ชายแดนใต้ที่เชื่อมโยงกับกฎหมายพิเศษและสิทธิมนุษยชน โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในทิศทางที่ดีขึ้นในดินแดนแห่งนี้
"ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีความตระหนักในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น การซ้อมทรมานลดลง การจับกุมคุมขังมีความระมัดระวังมากขึ้นเพราะมีหน่วยงานทั้งรัฐและองค์กรเอกชนคอยตรวจสอบอยู่ ประเด็นสิทธิมนุษยชนก็ดีขึ้น การละเมิดร้ายแรงลดลง แต่ยังขาดประเด็นการนำคนทำผิดมารับโทษ ตัวเลขคนที่กระทำผิดและเกี่ยวข้องกับการละเมิดที่ถูกดำเนินคดียังน้อย กระบวนการยุติธรรมในการหาตัวคนผิดยังมีความบกพร่องและมีช่องโหว่"
เมื่อถามถึง "กุญแจสำคัญ" ที่จะทำให้ปัญหาในพื้นที่คลี่คลาย นายซาแมน บอกว่า จากการติดตามปัญหามากว่าสิบปี เห็นว่าประเด็นความยุติธรรมเป็นประเด็นหลัก ถ้าคนในพื้นที่รู้ว่าคนทำผิดซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครหรือฝ่ายไหนได้รับการลงโทษหรือดำเนินคดี ย่อมถือว่าความเป็นธรรมเกิดขึ้นจริง และจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น
ส่วนเรื่องของการรัฐประหารไม่ได้ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่เปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะประชาชนที่ชายแดนใต้มีชีวิตอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมานานแล้ว แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าภาคภูมิใจ
จากการที่นายซาแมนรับผิดชอบพื้นที่เอเชียและแปซิฟิกของไอซีเจ ทำให้เขาได้สัมผัสปัญหาในพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ ทั้งที่มินดาเนา ของฟิลิปปินส์ อาเจะห์ ของอินโดนีเซีย และแคชเมียร์ ที่ยังคงเป็นประเด็นพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถาน รวมถึงยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) แต่เขาบอกว่า ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความแตกต่างกับพื้นที่อื่นในบางประเด็น
"ความขัดแย้งในอาเจะห์ มินดาเนา เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงมาก ประชาชนบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก มีกลุ่มก่อการที่ชัดเจนและมีระเบียบวินัยมากกว่าที่นี่ เมื่อทำข้อตกลงระหว่างกันก็มีการยึดถือตามข้อตกลงนั้น แต่ในพื้นที่นี้ไม่มีความชัดเจนของกลุ่มผู้ก่อการ แต่คิดว่าความรุนแรงคงไม่ไต่ระดับไปจนถึงขั้นที่เกิดขึ้นในอาเจะห์และมินดาเนา"
"ส่วนเรื่องของการพูดคุยสันติภาพที่สะดุดไปจากสุญญากาศทางการเมืองนั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไปต่ออย่างไร และยังมีฝ่ายขบวนการบางกลุ่มที่ยังไม่เปิดตัว"