กล้านรงค์ ย้ำใช้วิกฤติเป็นโอกาสแก้คอร์รัปชัน เชื่อผู้นำเอาจริงสกัดได้แน่
อดีตกรรมการป.ป.ช. ย้ำใช้วิกฤติเป็นโอกาสแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เชื่อถ้าผู้นำเอาจริงสกัดได้แน่ ด้านปธ.องค์การต่อต้านคอร์รัปชันแนะต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง หวังสังคมเปลี่ยนทัศนคติ
28 มิถุนายน 2557 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวสถาบันต่อต้านการทุจริตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานเหลียวหลังแลหน้า 8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธาน
ดร.สมคิด กล่าวถึงสถาบันต่อต้านการทุจริตแห่งชาติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาทุจริต โดยจะทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ศึกษาวิจัยเพื่อเป็นข้อมูลเผยแพร่ให้ความรู้ โดยหวังว่าสถาบันดังกล่าวที่ ตั้งภายใต้ร่มเงาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะช่วยหนุนเสริมการแก้ปัญหาการทุจริตร่วมกับองค์กรอื่นได้
นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการ “กำจัดคอร์รัปชันให้สิ้น: ทำอย่างไรให้ตรงจุด" ว่า ที่ผ่านมาเคยพยายามรณรงค์ในการสร้างเกราะให้ประชาชนรับรู้การคอร์รัปชันว่ามีผลเสียหายอย่างไรทั้งในระดับเยาวชน สังคม แต่ก็ไม่เกิดผล เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่กระทบกับประชาชน จนกระทั่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ประชาชนรับไม่ได้จนเกิดแนวร่วมแล้วแนวร่วม และมีการพูดถึงเรื่องคอร์รัปชันจนคนเริ่มคุ้นชิน รวมไปถึงชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าว มีการผูกคอตาย คนจึงเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม และเริ่มเข้าใจตื่นตัว
"ครั้งนี้เราจำเป็นที่จะต้องใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสว่าทำอย่างไรคนจึงจะเกลียดการคอร์รัปชั่น สังคมไทยเป็นสังคมระบบอุปถัมภ์แบบระบบทางดิ่ง นักเมืองกับข้าราชการยังวิ่งหากัน โครงการเป็นล้านๆ กระดาษแผ่นแรกก็มาจากมือข้าราชการทั้งนั้น"
อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า การจัดการเรื่องคอร์รัปชันถ้าเอาจริงเอาจังเชื่อว่าทำได้ ในขณะนี้ที่ผ่านมาเดือนกว่าก็เห็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกมาหลายมาตรการ เช่น การปราบบ่อน ปราบตู้ม้า หรือกำชับหน่วยงานข้าราชการในเรื่องการคอร์รัปชั่น
“ผมเชื่อว่าถ้าคสช.เอาจริงการคอรัปชั่นจะลดน้อยลง แต่ถ้าคสช.พ้นไปแล้ว มีการเลือกตั้งตามมาผู้นำที่มาบริหารประเทศก็ต้องเอาจริงด้วยเช่นกัน เพราะถ้าหัวไม่ขยับหางก็ไม่กระดิก ดังนั้นผลการเอาจริงต้องมีผลต่อไป และจะต้องทำให้รัฐธรรมนูญใหม่ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นไม่ได้”
ส่วนการแต่งตั้งผู้บริหารระดับกระทรวงนั้น นายกล้าณรงค์ กล่าวด้วยว่า ถ้าผู้บริหารระดับกระทรวงกล้ายืนยันในสิ่งที่ถูกต้องในการแต่งตั้งข้าราชการซี 9 ลงมา ให้ระดับปลัดกระทรวงจับมือกันให้มั่น ถ้าล้มก็ล้มเป็นโดมิโน ถ้าทำได้นักการเมืองจะไม่กล้า ดังนั้นปลัดกระทรวง อธิบดีต้องรักษาอิสรภาพของตัวเองไว้ พร้อมกันนี้ เชื่อว่าขณะนี้เป็นโอกาสอันดีที่เราจะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงสาเหตุการคอร์รัปชันคือ คนไทยไม่ได้ตระหนักว่า การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นหน้าที่ของตัวเอง ทุกคนนิ่งเฉยเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว
"ปัญหาการคอร์รัปชันส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและทำให้การแข่งขันในทางเศรษฐกิจของเราลดลง แม้ในขณะนี้คสช.จะเข้มงวดเรื่องการทุจริตเช่นการออกใบรง.ของโรงอุตสาหกรรม แต่ก็เป็นเพียงการแก้เบื้องต้น แต่ไม่ใช่แบบถาวร เพราะหากสังคมไม่เปลี่ยนทัศนคติทำอย่างไรก็แก้ไขยาก" ประธานองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าว และว่า ดังนั้นการรณรงค์และต่อต้านการทุจริตยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะหากไม่ต่อเนื่องก็จะเกิดการนิ่งเฉย และยังคงหวังว่าหากมีรัฐบาลใหม่กระบวนการตั้งแต่งข้าราชการจะเป็นธรรมและมีความสุจริตมากขึ้น