'ธีรยุทธ' ให้คะแนน คสช.ทำงานอยู่ในระดับค่อนข้างดีมาก มีความกระตือรือร้น
'ธีรยุทธ' เตรียมประเมินการทำงาน คสช. เเก้วิกฤตไทย ระบุกระตือรือร้นดี ต้องให้เวลา ชี้ปัญหาชาติรอดพ้นได้ประชาสังคม-ชุมชนต้องมีส่วนร่วม
วันที่ 28 มิถุนายน 2557 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาชุด ‘เหลียวหลังแลหน้า 8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย’ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ หอประชุมศรีบูรพา มธ.ท่าพระจันทร์
ศ.ดร.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ปาฐกถานำ ‘เหลียวหลังแลหน้าการอภิวัฒน์สังคมไทย’ โดยระบุถึงปัญหาสังคมไทยที่ผ่านมา คือ การปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นสุดขีด ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่โยงให้รัฐไทยล้มเหลว โดยมีเครื่องบ่งชี้เกิดจากอำนาจรัฐถูกทำให้เป็นส่วนตัว ไม่เฉพาะกลุ่มนักการเมือง แต่ระบาดไปทุกกลุ่มคน สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐ ขณะเดียวกันเกิดการก่อตัวของอำนาจกึ่งทางการและกึ่งไม่เป็นทางการแบบใหม่ขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐเดิม หรือเรียกว่า "ระบอบทักษิณ"
“ปัจจัยของปัญหาเกิดจากการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์และไม่ครบทุกด้าน พื้นที่ส่วนหนึ่งถูกละเลย คนไม่มีโอกาสขาดการเข้าถึงพื้นที่พัฒนา เกิดความพยายามใช้พื้นที่มาเป็นประโยชน์ส่วนตัว เอื้อให้เกิดกลุ่มมาเฟีย อิทธิพลมืด ขยายตัวครอบคลุมทุกรอยต่อ” นักวิชาการ มธ. กล่าว และว่า นอกจากนี้คนไทยไม่รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิอำนาจและเสรีภาพอย่างแท้จริง ชาวบ้านเกรงกลัวอิทธิพล เราให้อำนาจรัฐบาลมากเกินไป ทำให้นักการเมืองกับทุนมีอำนาจมหาศาล เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นครบวงจร รวมถึงคนไทยไม่เหลือพื้นที่ทางจริยธรรมศีลธรรม
ศ.ดร.ธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวจึงรู้สึกเป็นห่วงรัฐ รวมถึงเนื้อนาบุญที่อาศัยอยู่ และระบอบประชาธิปไตยจะต้องขยายความคิด ตลอดจนขยายความพยายามเพื่อให้ชาวบ้านมีอำนาจมากขึ้น พร้อมแสดงความแปลกใจช่วงรัฐบาลก่อนมีอำนาจเหตุใดไม่ทำให้ชาวบ้านมีสิทธิความเท่าเทียม แต่กลับสนับสนุนโครงการแบบเพลิดเพลินเกี่ยวกับการใช้จ่าย จนเป็นโจทย์ทำให้เกิดปัญหา
“ถือเป็นวิกฤตที่ล้ำลึก เพราะอำนาจรัฐถูกเจาะไชเป็นรูลึก มีทั้งรูรั่ว รอยต่อ พื้นที่สกปรก น่าเกลียด ลักษณะ ทุนสามานย์ ตอนหลังโกงกันแบบไม่มีข้อยกเว้น ต้องเรียกว่า ‘ทุนอัปรีย์’ ฉะนั้นต้องพยายามล้างทุนพวกนี้ให้ได้ ซึ่งการร้องเพลงไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่ผมก็ชอบร้อง” ศ.ดร.ธีรยุทธ กล่าว
นักวิชาการ มธ. ยังกล่าวถึงการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยว่า การจะกำกับ ควบคุม สิ่งที่น่าเกลียด ให้มีความสวยงาม ดำรงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขนั้น อยู่ในระดับนี้ค่อนข้างมาก มีความกระตือรือร้น แต่ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรต้องรอดูต่อไปในอนาคต ซึ่งต้องให้เวลา และคงประเมินอย่างเป็นเรื่องเป็นราว พร้อมจะชี้ให้เห็นข้อบกพร่องในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ แนวคิดในปัจจุบันจะเป็นประโยชน์ ต้องเลือกให้อำนาจรัฐไปแก้อำนาจรัฐที่บกพร่อง หรือให้ภาคประชาสังคม ชุมชน ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งเป็นหลักคิดที่น่านำพิจารณา
“การจะปฏิรูปประเทศไทยได้นั้นควรส่งเสริมให้ประชาชนมีอำนาจ และมีความเข้มแข็ง เต็มไปด้วยสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งกรณี ‘เสรีภาพ’ บางครั้งกองทัพอาจไม่ระมัดระวัง” ศ.ดร.ธีรยุทธ กล่าว และว่า สิทธิทางอำนาจและเสรีภาพต้องมีความรับผิดชอบ ภาคประชาสังคมและชุมชนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมการแก้ไขปัญหาวิกฤตเพราะการทำให้รัฐแข็งแรงอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบแก้ปัญหาวิกฤตประเทศ