คอร์รัปชั่นนโยบาย 'ธีรยุทธ' ชี้กลไกทำชาติล้มเหลวสุดล้ำลึก
รัฐในโลกยุคปัจจุบันจะแข็งแรงอย่างแท้จริงจะต้องไม่ใช่ระบบราชการแข็งแรง มีคุณธรรมอย่างเดียว แต่จะต้องมีกลไกสังคมคอยช่วยตรวจสอบถ่วงดุลและส่งเสริมภาครัฐ จึงต้องมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ประชาชนมีทั้งสิทธิ อำนาจ ความรับผิดชอบอย่างแข็งขันด้วย ภาพรวม จึงควรเป็นรัฐแข็งแรง-สังคมเข้มแข็ง-ประชาชนมีอำนาจ
วันที่ 28 มิถุนายน 2557 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนาชุด 'เหลียวหลังเเลหน้า 8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย' เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี เเห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ หอประชุมศรีบูรพา มธ.ท่าพระจันทร์
ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจากศ.ดร.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ปาฐกถานำหัวข้อ 'เหลียวหลังเเลหน้าการอภิวัฒน์สังคมไทย' มีรายละเอียด ดังนี้
ศ.ดร.ธีรยุทธ เริ่มต้นว่า ปกติเรายึดถือกันว่าการอภิวัฒน์ 2475 ก็คือการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเริ่มเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ต่อมาก็ถูกเผด็จการของทหารเข้ามายึดชิงอำนาจไป และช่วงถัดมาอำนาจบารมีของสถาบันกษัตริย์ก็หวนกลับมาสูงส่งขึ้นอีก ทำให้คนไทยโดยเฉพาะปัญญาชนจำนวนหนึ่งมองว่า ปัญหาของประเทศไทยยังคงเป็นประเด็นชนชั้นสูงหรืออำมาตย์เข้ามาแทรกแซงประชาธิปไตยของประชาชน ต่างประเทศก็กดดันประเทศไทยด้วยประเด็นนี้ ซึ่งโดยเนื้อแท้ก็เพื่อผลประโยชน์ของชาติพวกเขา จึงจำเป็นที่เราจะต้องก้าวพ้นความเข้าใจประชาธิปไตยที่ผิด ๆ และคับแคบจนสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทยด้วยกันเอง
คนไทยจำนวนหนึ่งมีความเชื่อแบบสุขเสรีนิยม (libertarianism) หรืออิสรชนนิยมสุดขั้น (extreme liberalism) คือ เชื่อให้คนแข่งขันกันตามใจชอบ ตลาดจะทำงานเอง หรือให้คนมีสิทธิเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง รัฐสภาก็จะทำงานให้ทุกอย่างดีเอง หรือมีความเชื่อสุดขั้วไปว่า มนุษย์ควรมีสิทธิเสรีภาพอย่างเดียว ไม่ต้องถูกทดสอบทัดทาน หรือมีชีวิตเป็นของตัวเองคนเดียว คนอื่นไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องไปรับผิดชอบคนอื่น
"ที่จริงในประชาธิปไตยตะวันตกไม่ใช่ว่าทุกคนจะใช้สิทธิเสรีภาพได้ตามใจชอบ คนทุกคนต้องถูกตรวจสอบ ควบคุมมโนสำนึกโดยพระเจ้าอยู่ตลอดเวลา อำนาจการเมืองตะวันตกจึงมีรากเหง้ามาจากพระเจ้าชนชั้นต่าง ๆ ต่อสู้ยาวนานหลายศตวรรษ เพื่อให้มีการกระจายอำนาจดังกล่าวจากกษัตริย์และศาสนจักร" ศ.ดร.ธีรยุทธ กล่าว เเละกล่าวโดยรวมว่า คนตะวันตกพร้อมด้วยปัจจัยทางอุดมการณ์ ประสบการณ์การต่อสู้ การใช้สิทธิอำนาจของแต่ละคน ซึ่งแน่นอนย่อมไม่สามารถไปรุกล้ำสิทธิคนอื่นได้ การใช้สิทธิเสรีภาพอย่างรับผิดชอบเป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน การคัดค้านผู้ดำรงยศตำแหน่งที่จะใช้อำนาจอย่างมิชอบจึงทำกันอย่างได้ผล
ศ.ดร.ธีรยุทธ จึงมองว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่สิทธิอำนาจและเสรีภาพก็ไม่ได้ถูกกระจายลงไปถึงชาวบ้าน คนไทยไม่ได้รับการอบรมบ่มเพาะวัฒนธรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน ครอบครัว ไม่มีโอกาสดำเนินชีวิตในแบบที่รู้จักเคารพสิทธิเสรีภาพตัวเองและผู้อื่น ระบบราชการและระบบยุติธรรมยังยึดติดกับระบบอุปถัมภ์ ขาดประสิทธิภาพที่จะส่งเสริมให้ประชาชนดำรงชีวิตแบบรับผิดชอบต่อตัวเองได้
คนไทยจึงไม่ได้มองสิทธิเสรีภาพ ความรับผิดชอบ เป็นแก่นของชีวิต แต่มองเป็นเพียงกลไกย่อยที่จะช่วยดำเนินชีวิต ยังมีกลไกที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น การมีเส้นมีสาย พวกพ้อง ต้องระวังอำนาจเส้นสายของผู้อื่น คนไทยจึงมองปัญหาส่วนรวมเป็น ‘ธุระไม่ใช่’ ปล่อยให้ปัญหาสังคมและบ้านเมืองหมักหมมไปเรื่อย ๆ
ประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงการเลือกตั้งเพื่อคัดสรรผู้ที่กอบโกยจากประเทศได้มากกว่ากันให้ขึ้นมาปกครองบ้านเมือง
"สำหรับผมแม้จะเคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ผมคิดว่าเป้าหมายแค่นั้นไม่พอเพียงอีกต่อไป ผมคัดค้านเผด็จการคอร์รัปชั่น โกงกินบ้านเมืองจนย่อยยับ ผมคัดค้านเผด็จการการทหารในอดีตที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อตัวเองและพวกพ้อง ปัจจุบันถ้าจะทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง พวกพ้อง ผมก็จะต่อสู้คัดค้าน" ศ.ดร.ธีรยุทธ เน้นย้ำ
แต่ในช่วงนี้ผมขอเรียกร้องต่อสู้ให้เรามีการปฏิรูปหรืออภิวัฒน์ เป้าหมายของประเทศไทยจึงต้องเป็นการอภิวัฒน์ ซึ่งหมายถึงการทำให้ประเทศดีขึ้น ประชาชนดีขึ้น โดยเฉพาะดีขึ้นอย่างถาวรและยั่งยืน ซึ่งก็คือ ประชาชนตระหนักในการมีอำนาจและความรับผิดชอบของตน การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจอย่างจริงจัง
1.ชาวบ้านจะต้องดูแลปกครองท้องถิ่นชุมชนตัวเอง กำหนดวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคม ของท้องถิ่นมากขึ้น
2.จะมีอำนาจจัดการทรัพยากรท้องถิ่นตัวเองมากขึ้น
3.มีอำนาจกำหนดอัตลักษณ์ คือ การเข้าใจ เคารพประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ซึ่งกันและกันของท้องถิ่นต่าง ๆ ปัญหานี้จะสำคัญยิ่งในอนาคต
จากประเทศผู้นำสู่การเป็นรัฐล้มเหลว
สำหรับปัญหาวิกฤตที่ผ่านมานั้น ศ.ดร.ธีรยุทธ ระบุว่า ถ้าจะนับการอภิวัฒน์เป็นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างประเทศครั้งใหญ่ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนำของประเทศในเอเชีย แอฟริกา ที่นำพาประเทศสู่ความทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามหลังญี่ปุ่น จีน อินเดีย (อินเดียตั้งพรรคการเมือง Congress ในปี 1887) แต่ก็เป็นการปฏิรูปที่เป็นเฉพาะด้าน คือ เริ่มที่ด้านวัฒนธรรมและการปกครอง ขยายบทบาทของชนชั้นนำ ขุนนาง ผู้ดี
การปฏิรูปครั้งที่ 2 คือ การเปลี่ยนแปลง 2475 ที่เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจให้กลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ขึ้นมามีอำนาจนำ ครั้งที่ 3 ในยุคจอมพลสฤษดิ์มีการปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกด้าน ครั้งที่ 4 คือ เหตุการณ์ 16 ตุลาคม 2516 เป็นการอภิวัฒน์ความคิดประชาธิปไตย การใช้สิทธิเสรีภาพให้กับปัญญาชน ชนชั้นกลาง ขณะเดียวกันก็เป็นการปลดปล่อยกลุ่มทุนและพรรคการเมืองให้พ้นจากการครอบงำของทหาร ตำรวจ
ครั้งที่ 5 เมื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างมากในยุคโลกาภิวัตน์ กลุ่มทุนและนักการเมืองได้เป็นตัวละครหลักที่มีทั้งฐานอำนาจและการเงินมหาศาล เป็นที่มาของวิกฤตสังคมการเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น คือ การทุจริตคอร์รัปชั่น นำโยงไปสู่การเป็นรัฐล้มเหลว
"ผมมองว่าเครื่องบ่งชี้ภาวะรัฐล้มเหลวตัวหนึ่ง คือ ปริมณฑลอำนาจรัฐที่เป็นทางการลดลง เมื่อเทียบกับปริมณฑลอำนาจรัฐที่ไม่เป็นทางการหรือถูกทให้เป็นส่วนตัว ซึ่งขยายเพิ่มมากขึ้น และการก่อตัวของอำนาจกึ่งทางการไม่เป็นทางการแบบใหม่ขึ้นท้าทายอำนาจรัฐเดิม"
1.ภาวะเช่นนี้มีปัจจัยหลักมาจากการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์และไม่ครบทุกด้าน พื้นที่พ้นไปจากที่ได้รับการพัฒนา (คือมีระเบียบ กฎเกณฑ์ใหม่ มีองค์กรใหม่) เป็นรอยต่อหรือชายขอบ (interface area) ที่ถูกละเลย ทอดทิ้ง คนที่ไม่มีโอกาส ความสามารถเข้าถึงพื้นที่การพัฒนา จะพยายามใช้พื้นที่ (ซึ่งเป็นของรัฐ) มาเป็นประโยชน์ของตนเอง สภาพเช่นนี้จะทำให้เกิดการใช้อำนาจนอกระบบของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเกิดเป็นทั้งกลุ่มนักเลง แก๊งอิทธิพลมีสี และมาเฟียกลุ่มต่าง ๆ ใช้อำนาจมืด อำนาจสกปรก ความรุนแรง ซึ่งจะขยายตัวครอบคลุมไปทุกรอยต่อ หรือปริมณฑลธุรกิจใหม่ที่มีการบุกเบิกเฟื่องฟูขึ้น เช่น พื้นที่กายภาพ ทางเท้า ตรอกซอกซอย ถนนหนทาง พื้นที่รกร้างว่างเปล่าของเอกชน-รัฐ
เมื่อมีความจำเป็นเรื่องคนจน ผู้ใช้แรงงาน การจราจร ก็เกิดปัญหาหาบเร่แผงลอย วินรถสองแถว รถเมล์เล็ก รถร่วม วินมอเตอร์ไซค์ วินแท็กซี่ อิทธิพลในเขตธุรกิจท่องเที่ยว เช่น สีลม สาธร ภูเก็ต พัทยา โรงแรมหรู ฯลฯ เกิดปัญหาสลัม ตลาดนัด ตลาดท่องเที่ยว (จตุจักร) การรุกล้ำพื้นที่รอยต่อแม่น้ำ ลำคลอง ชายหาด ภูเขา ป่าสงวนของทั้งคนจน คนรวย
รอยต่อพื้นที่ทางแรงงาน ทรัพยากร และธุรกิจใหม่ ๆ เช่น การรุกล้ำทำลายป่าเพื่อทำพืชเศรษฐกิจ ทำรีสอร์ท การรุกล้ำหาดริมทะเล ฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อทำธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร การใช้อำนาจครอบครองเขตป่า เขตเขา ที่ทำการ แหล่งน้ำ ปล่อยมลพิษของเสีย เพื่อแสวงประโยชน์จากแร่ธาตุทรัพยากรต่าง ๆ โดยการเอื้อประโยชน์กันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มทุนใหญ่หรือทุนต่างชาติ
กรณีแรงงานไทยไปต่างประเทศ หรือแรงงานผิดกฎหมายต่างประเทศในไทยก็อยู่ในข่ายนี้ พื้นที่รอยต่อเนื่องจากการพัฒนาไม่สมบูรณ์ทางด้านอารมณ์และจิตวิทยาสังคม เกิดปัญหาโสเภณี หญิงบริการ อาบอบนวด ธุรกิจบันเทิง การพนัน สลากกินแบ่ง หวย ยาเสพติด ซึ่งเป็นแหล่งเกิดพื้นที่อำนาจรัฐที่ถูกใช้ประโยชน์เป็นส่วนตัวขนาดใหญ่ขึ้น ฯลฯ
2.การที่คนไทยไม่รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิอำนาจและเสรีภาพอย่างแท้จริง และการที่อำนาจดูแลทรัพยากรกิจการต่าง ๆ ในท้องถิ่นไม่ถูกกระจายไปสู่ชาวบ้าน ชาวบ้านเกรงกลัวอิทธิพล ทำให้ไม่เกิดกลไกในการกำกับดูแล ตรวจสอบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
3.ปัจจัยที่ไม่สมดุลทางอำนาจ โดยในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์อำนาจรวมศูนย์อยู่กับสถาบันกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง ก็เป็นหลักใช้ทรัพยากรของประเทศ ในช่วงเผด็จการทหารตำรวจเป็นใหญ่ พวกเขาก็เป็นกลุ่มหลักที่ได้ใช้และจัดสรรทรัพยากร ในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 จนถึงยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ อำนาจและอิทธิพลของนักการเมืองและกลุ่มทุนขยายตัวใหญ่ตัวเหนือข้าราชการและกลุ่มอื่น ๆ อย่างมาก
เกิดภาวะล้มเหลวของรัฐ ทั้งแบบ ‘รูรั่ว’ ซึ่งเป็นแบบฉ้อราษฎร์บังหลวงในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือแบบ ‘รอยต่อ’ และอิทธิพลมืด มาเฟีย ในยุคหลังจอมพลสฤษดิ์ แต่ได้เกิดภาวะรัฐล้มเหลวแบบ ‘ล้ำลึก’ หรือ ‘รูลึก’ ซึ่งมักเรียกว่าการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย หรือการคอร์รัปชั่นแบบบูรณาการทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ผู้มีอิทธิพล และชาวบ้านร่วมมือกัน
"เป็นการคอร์รัปชั่นแบบล้ำลึก โดยอาศัยอำนาจครบวงจร การปิดบังข้อมูลหรือใช้ข้อมูลภายใน (inside information) เช่น การให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมัน การลักลอบขุดน้ำมันขายในภาคอีสาน การประกันความเสี่ยงในการคอร์รัปชั่น (ต้องจ่ายล่วงหน้า) ล็อกการตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือสมคบล็อกสเปกโครงการ ล็อกกลุ่มโกง นโยบาย เช่น การจำนำข้าว การขยายสนามบิน การพยายามจะใช้ภาคการเมืองของรัฐ หรือรวมทั้งธนาคารของประเทศมาเป็นเครื่องมือกลุ่มการเมืองตัวเอง"
4.การล่มสลายของพื้นที่จริยธรรมศีลธรรมในสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง การจำแนกถูกผิด ดีเลว หลงเหลืออยู่น้อยมาก ปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการลดลงของพื้นที่ทางการของอำนาจรับ และการขยายการฉกฉวย ยึดชิงพื้นที่อำนาจรัฐให้เป็นของส่วนตัวของนักการเมืองและกลุ่มทุน ซึ่งอธิบายโดยกระบวนการซึ่งเรียกว่า รูรั่ว รอยต่อ รูลึก (คอร์รัปชั่นนโยบาย)
สภาพเช่นนี้บ่งชี้ได้ว่ารัฐกำลังล้มเหลว โดยเฉพาะถ้ากลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองไม่มีสำนึกความเป็นรัฐไทย ประเทศไทย การเปลี่ยนอำนาจรัฐทางการให้เป็นของส่วนตัว จะเกิดอย่างรวดเร็วดังที่ได้เห็นในกรณีของสถาบันตำรวจ อัยการ ดีเอสไอ รัฐวิสาหกิจ และข้าราชการอีกหลายกระทรวงทั้งหมดเป็นการก่อรูปของอำนาจแบบใหม่ที่ไม่ใช่อำนาจตามระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐแบบเดิม
ศ.ดร.ธีรยุทธ สรุปว่า วิกฤตประเทศไทยล้ำลึกเพราะอำนาจรัฐ อำนาจสาธารณะของประเทศถูกเจาะไชเป็นรูลึก มีทั้งรูรั่ว รอยต่อกินพื้นที่ที่สกปรก น่าเกลียด อำนาจเลวที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ อันที่จริงประเทศไทยไม่มีวันที่จะเป็นประเทศพัฒนาที่มีระเบียบวินัยแบบญี่ปุ่นหรือตะวันตกได้ โดยประวัติศาสตร์ เราคงต้องอยู่กับวินมอเตอร์ไซต์ รถสองแถว สลัม หาบเร่แผงลอยไปตลอด แรงงานต่างชาติ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ และช่วยให้คนจนดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ก็มีคำถามใหญ่ ซึ่งยังไม่มีคำตอบชัดเจนในส่วนนี้ คือ
1. เราต้องอยู่กับภาวะลูกผสม พันธุ์ผสม (hybridity) เช่นนี้ แต่เราจะกำกับควบคุมเปลี่ยนจากความน่าเกลียด เลวร้าย รุนแรง ให้เป็นสิ่งที่ดี สวยงาม ดำรงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขได้หรือไม่ อย่างไร
2. อำนาจรัฐ (ทหาร ข้าราชการบางส่วน) จะเป็นผู้แก้ให้อำนาจส่วนที่เสื่อมถูกยึดเป็นของบุคคลนี้ให้ดีขึ้น หรือประชาชนสังคมจะเป็นผู้แก้ หรือร่วมกันแก้
3. หนทางอนาคต รัฐไทยคงถูกปรับตัวให้แข็งแรงขึ้น
"รัฐในโลกยุคปัจจุบันจะแข็งแรงอย่างแท้จริงจะต้องไม่ใช่ระบบราชการแข็งแรง มีคุณธรรมอย่างเดียว แต่จะต้องมีกลไกสังคมคอยช่วยตรวจสอบถ่วงดุลและส่งเสริมภาครัฐ จึงต้องมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ประชาชนมีทั้งสิทธิ อำนาจ ความรับผิดชอบอย่างแข็งขันด้วย ภาพรวมจึงควรเป็นรัฐแข็งแรง-สังคมเข้มแข็ง-ประชาชนมีอำนาจ" ศ.ดร.ธีรยุทธ กล่าวในที่สุด