ซื้อเสียงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ดร.ปริญญา ชี้ปชต.หัวใจอยู่ที่"ออกแบบ"ระบบเลือกตั้ง
“ประพันธ์” สะกิดคสช.อย่าลืมทำประชามติ หลังร่างรธน.เสร็จ “บรรเจิด” หวั่นยังไม่ทันวิเคราะห์โครงสร้างประชาธิปไตยเลย แต่เริ่มให้ยา หวั่นซ้ำรอยล้มเหลว เสนอทางออกปลดล็อคไม่บังคับสังกัดพรรค ขณะที่ “ปริญญา” แนะถอดบทเรียนจากเยอรมนีมาใช้ เชื่อลงตัวสุด ตอบโจทย์ได้
วันที่ 28 มิถุนายน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย” เนื่องในงานรำลึก ศาสตราจารย์ ไพโรจน์ ชัยนาม โดยภายในงานมีเวทีสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “กฎหมายพรรคการเมืองและการเลือกตั้งกับทางออกของประเทศไทย” ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์
เสนอรธน.ฉบับใหม่ อย่ามองข้ามลงประชามติ
นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีปฏิวัติสำเร็จมาแล้ว 13 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ และกำลังตามมาฉบับที่ 19 20 แสดงว่า การเมืองไทยมีปัญหา ยังไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นควรมีการปฏิรูปการเมือง ที่สำคัญคือการปฏิรูปการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งคือเสาหลักของประชาธิปไตย
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีข่าวออกมาใกล้เสร็จแล้วนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใด ควรให้ความสำคัญกับเรื่องการทำประชามติด้วย เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านการทำประชามติ และเป็นครั้งแรกในประเทศไทย อีกทั้งสากลถือเป็นการใช้อธิปไตยทางตรงในการออกกฎหมาย
“การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วฉบับใหม่ไม่ทำประชามติอาจมีปัญหาตอนหลัง โดยเฉพาะเรื่องความน่าเชื่อถือ” อดีต กกต. กล่าว และว่า สมัยการทำระชามติเมื่อปี 2550 สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรีย ญี่ปุ่น ก็ออกมาประกาศยอมรับผลการเลือกตั้ง ดังนั้นการจะแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องใคร่ครวญเรื่องนี้ด้วย
นายประพันธ์ กล่าวถึงปัญหาใหญ่ของไทยด้วยว่า คือการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ต่อไปทำอย่างไรให้เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติรัฐธรรมนูญ 2550 พยายามแก้ไขแล้ว มี ม.237 เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ใช้ยาแรงถึงขั้นยุบพรรค ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคก็แล้ว แต่ยังเอาไม่อยู่
“เคยมีการทำวิจัยในต่างจังหวัดผลออกมาน่าเป็นห่วง พบว่า ผู้ใช้สิทธิ์เห็นว่า การซื้อสิทธิ์ขายเสียงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่อาชญากรรม หากทัศนคติแบบนี้ถือว่าอันตราย ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองต่อไปต้องคิดถึงจุดนี้ด้วย ว่า ทำอย่างไรแก้ไขซื้อสิทธิ์ขายเสียง กฎหมายที่ผ่านมาเข้มข้นแล้ว แต่การบังคับใช้ยังไม่เพียงพอ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองพยานเกี่ยวกับทุจริตการเลือกตั้ง มีเฉพาะในคดีอาญา แต่คดีเลือกตั้งการให้ใบเหลือใบแดงกฎหมายไม่คุ้มครอง
หวั่นให้ยาแรงโดยไม่วิเคราะห์โรค
ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงปัญหาพรรคการเมือง 82 ปี ไทยผ่านปฏิวัติมาหลากหลาย ออกแบบรัฐธรรมนูญมาก็มากมาย ยังไม่ตรงประเด็น ซึ่งประเด็นใหญ่สุดต้องวิเคราะห์สภาพโครงสร้างประชาธิปไตยประเทศนี้ว่า มีโครงสร้างต่างจากตะวันตก จะออกแบบเหมือนกันไม่ได้
“วันนี้เราเริ่มให้ยาอีกแล้ว แต่ยังไม่วิเคราะห์โรค ประเทศไทยโรคตะวันออกไม่ใช่โรคตะวันตก โจทย์ประเทศไทยไม่เหมือนต่างประเทศ ไทยจึงมีสภาพการณ์ เช่น คนขับรถพรรคลาออก เจ้าของตัวจริงลง ใครเข้าพรรคเจ้าของทุบโต๊ะ ไม่มีความอิสระอย่างแท้จริง ยิ่งถ้าเราเปรียบพรรคการเมืองเหมือนเสาเข็มประชาธิปไตย บ้านนี้เมืองนี้เสาเข็มไม่มี จะสร้างประชาธิปไตย ออกแบบอย่างไร ออกแบบเหมือนตะวันตกก็ล้มเหลวแล้ว”
ทั้งนี้คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า ตั้งคำถามถึงพรรคการเมืองที่แท้จริงในประเทศไทยจริงมีหรือไม่ พื้นที่ประชาชนอยู่ตรงไหน เข้าไปมีบทบาททางการเมืองจริงหรือไม่ หากไม่มีแสดงว่า วางรางสู่อำนาจแบบนี้ ผิดทาง เพราะนี่คือการออกแบบของตะวันตก บ้านเราหากยังคิดออกแบบโดยผ่านรางนี้เท่านั้น ก็นับว่า ล้มเหลวตั้งแต่เริ่มคิด
“ผมคิดว่าออกแบบอย่างไรไม่สำคัญเรื่องการวินิจฉัยโรค ซึ่งที่ผ่านมาเราออกแบบรัฐธรรมนูญด้วยกังวลหนัก คือ เสถียรภาพของรัฐบาล กำหนดให้มีองค์กรอิสระตรวจสอบถ่วงดุล ท้ายสุดพลังประชาชน อำนาจประชาชนมีหรือไม่ และอยู่ตรงไหน ซึ่งหากได้รับการแก้ไขในโครงสร้างการเมืองของไทย จะไม่เห็นประชาชนออกมาแสดงพลังข้างถนน”
ศ.ดร.บรรเจิด กล่าด้วยว่า 82 ปี ประชาธิปไตย เราไม่มีพรรคการเมือง ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น กรณีการบังคับสังกัดพรรคต้องตัดออกให้หมด ยกออก เพราะการบังคับสังกัดพรรคไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย พรรคการเมืองไม่อาจเข้มแข็งได้โดยการเขียนกฎหมาย แต่ต้องได้รับการพัฒนา เพื่อให้กลุ่มการเมืองพัฒนาสู่การเป็นพรรคการเมือง อีกทั้งกฎหมายพรรคเมืองก็ไม่ควรไปล็อค แต่ควรเปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยเข้ามานั่งในสภาฯ ได้
รัฐบาลเข้มแข็งเกินจริง ฝ่ายค้านอ่อนแอเกินจริง
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มธ. กล่าวว่า เราอย่าไปเสาะหาระบบการเลือกตั้งที่สมบูรณ์แบบ เพราะทุกระบบมีข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกอะไร ระบบเสียงข้างมากรัฐบาลเข้มแข็งเกินจริง ฝ่ายค้านอ่อนแอเกินจริง ระบบสัดส่วน ข้อเสียพรรคจำนวนมาก รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งประเทศไทยจะเอาแบบไหน เราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดหลายประเทศในโลกได้ โดยเฉพาะบทเรียนจากเยอรมนี เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล เช่น ไม่บังคับส.ส.สังกัดพรรค เป็นต้น
“ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2517 เราบังคับส.ส.สังกัดพรรค ปัญหาการขายตัวของ ส.ส.ก็ยังไม่หมดไป ส.ส.แค่เปลี่ยนสภาพจากการขายหลังเป็น ส.ส.มาขายก่อนเท่านั้น นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ผิดพลาดของเรา และแม้ว่า รัฐธรรมนูญ 2540 จะบังคับส.ส.สังกัดพรรค สามารถย้ายพรรคภายใน 90 วันยิ่งหนักเข้าไปอีก ส.ส.ย้ายพรรคไม่ทัน ก็ต้องจงรักภักดีต่อสิ่งที่พรรคสั่งมา สุดท้ายไทยก็มาถึงจุดกลับหัวกลับหาง กลายเป็น นายฯ เลือกส.ส. จุดผิดพลาดนี้เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศยุโรป ไทยกลับมาผิดซ้ำและหนักกว่าอีก”
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจที่ไม่ทำงาน เพราะเรายกผู้แทนปวงชนไปให้พรรคการเมือง เราจึงเห็นสภาพใครเป็นเจ้าของพรรค และมีเสียงข้างมากก็จะควบคุมประเทศไทยได้ ซึ่งระบบการเลือกตั้งที่บ้านเราใช้อยู่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็งเกินจริง ฝ่ายค้านอ่อนแอเกินจริง ไม่น่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องต่อความยั่งยืนของประชาธิปไตยไทย
“ผมเชื่อว่า การเมืองเปลี่ยนได้ หากใช้ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน ระบบเลือกตั้งที่สะท้อนเสียงประชาชนและเป็นธรรม ไม่ให้พรรคใหญ่ใหญ่เกินไป พรรคเล็กก็เล็กลงกว่าความเป็นจริง ซึ่งระบบการเลือกตั้งแบบผสมของเยอรมันจะลงตัวที่สุด ตอบโจทย์ได้”
เงินมีผลต่อการตัดสินใจ “น้อยกว่า” ที่คิดมาก
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวถึงการซื้อเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งของการยึดอำนาจการปกครองนั้น จากกการทำวิจัยให้ กกต. พบว่า ระดับท้องถิ่นการซื้อเสียงยังมีอยู่ เขตยิ่งเล็ก จำนวนเงินยิ่งมาก แต่ในระดับชาติ เงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของประชาชนอีกต่อไปแล้ว
“เมื่อถามว่า เงินมีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งหรือไม่ พบว่า 46.79% รับเงินไม่เลือก, 48.62% ไม่ได้เงินก็เลือก และ 4.59% เลือกตั้งเพราได้เงิน รวมกันเท่ากับ 95.41% หมายความว่า ประชาชนยังรับเงินจากการซื้อสิทธิ์เลือกตั้งอยู่ แต่เงินมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน “น้อยกว่า” ที่เราคิดมาก ประชาชนรับเงินทุกเบอร์ในพื้นที่ที่มีการแจกเงิน ดังนั้น หากการยึดอำนาจการปกครองด้วยหวังจะขจัดการการซื้อเสียง เราผิดพลาดมาก”
รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มธ. กล่าวด้วยว่า ปัญหาการซื้อเสียง ไม่ใช่เรื่องใหญ่มากอย่างที่เราเข้าใจกัน เรื่องสำคัญอยู่ที่การดีไซน์ระบบเลือกตั้ง ให้เกิดความเป็นธรรมในสภาฯ ระบบแบบไหนสะท้อนเสียงประชาชนที่คิดเห็นต่างกันมากที่สุด หวังว่า คสช.จะเข้าใจความข้อนี้
สุดท้ายศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์ กรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ระบบการเลือกตั้งแม้จะเปลี่ยนกติกาอย่างไรก็ยังได้นักการเมืองหน้าเดิม ฉะนั้นอนาคตของชาติเราคิดมากไม่ได้ ต้องมีความอดทน การพัฒนาการเมืองต้องใช้เวลา อย่าใจร้อน
“ผมให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรม การเลือกตั้งทำอย่างไรไม่ให้ซับซ้อน อีกทั้ง ไม่ควรให้อำนาจ กกต.มาตัดสิทธิ์ตัดเสียงประชาชน นี่คือหลักใหญ่ กระบวนการยุติธรรมควรรวบเป็นความยุติธรรมทางอาญา และให้จบในศาลเดียว”