ดร.สุรพล ชี้ 2 ปีที่ผ่านมานักการเมืองใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เลวร้ายไม่แพ้รปห.
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ ชี้ประชาธิปไตยก่อนหน้านี้เลวร้ายไม่แพ้รัฐประหาร แนะให้ยึดอยู่บนหลักการประชาธิปไตยคือประชาชนต้องตรวจสอบผู้มีอำนาจได้
27 มิถุนายน 2557 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานงาน “ครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” โดยภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “สู่ 10 ทศวรรษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ณ ห้องประชุมสัญญาธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งของงานเสวนาว่า 10 ปีที่ผ่านมาหลายคนมักจะตีความมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพว่า มีการเปลี่ยนแปลงไป แต่ความเป็นจริงแล้วการเมืองการปกครองต่างหากที่เปลี่ยนไปจากเดิม
"60 ปีแรกของธรรมศาสตร์ในระบบการปกครองจากประวัติศาสตร์เราต่อสู้กับอำนาจเผด็จการมาโดยตลอด โดยเฉพาะเผด็จการทหาร หลัง 60 ปีธรรมศาสตร์ก็ยังไม่เปลี่ยน แต่การเมืองเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก หากจะมองให้ชัดขึ้น 17 ปีหลังมีการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 การเมืองเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก เผด็จการทหารไม่มี ไม่มีในที่นี้หมายถึงไม่มีที่ยืน ความหมายของประชาธิปไตยเดิมนั้นคือการแสดงออกซึ่งอำนาจของประชาชน ที่มีอำนาจตรวจสอบอำนาจรัฐ"
อดีตอธิการบดี มธ. กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันนี้เราเผชิญกับการมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จของคนกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่ทหาร กลายเป็นนักการเมืองมามีอำนาจภายใต้กระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งธรรมศาสตร์อยู่กับเหตุการณ์นี้มาโดยตลอด ทุกวันนี้รัฐประหารที่ผ่านมาเดือนเศษที่ถูกเรียกไปรายงานตัวเป็นธรรมศาสตร์เยอะสุด นี่เป็นสัญลักษณ์ว่า เรามีความเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองอยู่ตลอด ซึ่งหลายคนมักตั้งคำถามว่า ธรรมศาสตร์มีท่าทีอย่างไรกับรัฐประหาร ละทิ้งอุดมการณ์เดิมในการต่อต้านการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จแล้วหรือ
“ในมุมมองส่วนตัวผมมองว่า ธรรมศาสตร์ปรับตัวและเรียนรู้ทันตามการเมืองไทย 10 ปีสุดท้ายจากนี้ที่มองคือจะไม่ใช่เผด็จการทหาร แต่จะเป็นเผด็จการนักการเมืองพลเรือน หากเรายังนึกถึงภาพเดิมเรียกร้องประชาธิปไตยเชิงสัญลักษณ์คือเลือกตั้งต้องการเนื้อหาที่แท้จริงของมันที่มีการเลือกตั้งเป็นวิธีการที่สำคัญ หรือจะเป็นประชาธิปไตยในเชิงความหมายคือประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจของคนที่เข้ามาบริหารประเทศตรงนี้ต่างหากที่เป็นจุดเปลี่ยนของธรรมศาสตร์ แต่ผมคงพูดแทนคนธรรมศาสตร์ทั้งหมดไม่ได้”
ศ.ดร. สุรพล กล่าวด้วยว่า หากมองสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รัฐประหารครั้งนี้ถูกแล้วหรือ คงไม่มีใครตอบว่าถูกหรือชอบ เพราะไม่ใช่อะไรที่ดีที่จะยอมรับกันได้ หากแต่สถานการณ์ก่อนหน้านี้คืออะไร มองย้อนดูก็ไม่เห็นว่า เป็นประชาธิปไตยเพราะ 2 ปีที่ผ่านมาก็เป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของคนกลุ่มหนึ่งที่เลวร้ายไม่แพ้กัน
"ดังนั้นวันนี้เราจะก้าวข้ามไปข้างหน้า เราจะไปสู่การเมืองการปกครองที่ประชาชนตรวจสอบผู้ใช้อำนาจได้ และไม่ยึดติดอยู่กับการเลือกตั้งอยู่กับความหมายเชิงสัญลักษณ์ แต่มองในเชิงความหมายคือการยืนอยู่บนหลักการที่ว่าคนที่มีอำนาจปกครองต้องตรวจสอบได้ ถ้าไม่ได้คือการปกครองที่ไม่ถูกต้อง"