นักวิชาการชาติพันธุ์ชี้ "ฮ.ตก" เกิดจากปฏิบัติการผิดพลาดกวาดล้างชาวบ้าน
ผอ.ศูนย์กะเหรี่ยงศึกษา เผยข้อมูล ฮ.ตกแก่งกระจาน จากปฏิบัติการผลักดันชนกลุ่มน้อย เข้าใจผิดว่าชาวบ้านเป็นกะหร่างหนีภัยสงครามพม่า มาบุกรุกป่า-ขนยาเสพติดชายแดนไทย ระบุมีหลักฐานเป็นชุมชนอยู่กับป่ามานาน แฉกรมป่าไม้ทำเกินเหตุเผาบ้านยึดทรัพย์ ส.นักข่าวฯจัดเวทีเปิดประเด็นจันทร์นี้
จากการสูญเสียชีวิตของทหาร และสื่อมวลชน 17 รายในเหตุการณ์เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก 3 ลำในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระหว่างวันที่ 16-24 ก.ค.54 อันสืบเนื่องมากจากปฏิบัติการโครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพในพื้นที่อุทยานฯ ปี 2552-2554 ซึ่งเป็นภารกิจในการหาข้อมูลและผลักดันชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ให้กลับถิ่นฐานเดิม
และก่อนหน้านี้ นายสุริยนต์ โพธิบัณฑิต ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มผู้บุกรุกเป็นชนกลุ่มน้อย "ชาวกะหร่าง" ที่อพยพหนีภัยสงครามจากพม่า มาปลูกสร้างบ้าน ทำไร่เลื่อนลอย รวมทั้งปลูกกัญชากระจายตามแนวชายแดนร่วม 200 กิโลเมตร มากกว่า 100 จุด ที่ผ่านมาไม่เคยใช้กำลังปราบปราม และมีบางกลุ่มที่เป็นอันตราย และยากต่อการจับกุม ซึ่งอาศัยพื้นที่ในการลำเลียงขนส่งยาเสพติด ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
จากกรณีดังกล่าว นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ตั้งข้อสังเกตุว่า เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการเผาทำลายบ้านเรือน สิ่งของ และยึดทรัพย์ชาวบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นฐานที่มั่นกองกำลังไม่ทราบฝ่าย โดยรายงานสรุปผลปฏิบัติการผลักดัน/จับกุมวันที่ 23-26 มิ.ย. ระบุว่า จับกุมชนกลุ่มน้อยได้ 9 ราย และพบของกลาง คือ เคียว ขวาน ตะไบ เสียม ปืนแก๊ป 2 กระบอก สร้อยคอลูกปัด ฯลฯ ส่วนบ้าน เสื้อผ้า อาหาร ของชาวบ้าน ได้เผาทำลายทิ้ง เพื่อผลักดันกลับถิ่นฐาน
"คนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่นานแล้ว จากภาพถ่ายปรากฏเพิงพักที่มีต้นหมากรายรอบ การที่กะเหรี่ยงปลูกต้นหมากคือการลงหลักปักฐานในพื้นที่นั้นๆ และของกลางที่ยึดคืออุปกรณ์ทำไร่ ไม่ใช่อาวุธ"
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า การรายงานข่าวยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ "กะหร่าง" ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน มีแต่ "กะเหรี่ยง" และข้อกล่าวหาทำไร่เลื่อนลอยก็ไม่สมเหตุผล และขัดกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 ส.ค. 53 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่ห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอหลักการ แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ
"โดยเฉพาะข้อ 1.2 เรื่องส่งเสริมและยอมรับระบบไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยงที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและวิถีชีวิตพอเพียง รวมทั้งผลักดันให้ระบบไร่ หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยให้หน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้รับผิดชอบผลักดันนโยบาย" ผอ. ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าว
ทั้งนี้ในวันจันทร์ที่ 8 ส.ค.นี้ เวลา 10:00 -12: 00 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จะจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาเรื่อง "ฮ. ตก กับปัญหาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน" โดยมี นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, นายวุฒิ บุญเลิศ ประธานประชาคมอำเภอสวนผึ้ง และนายสุรพล เข้าร่วม.