“คตร.” ปัดคสช.ถลุงงบแล้ว5 พันล. สั่งสอบสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ 1.2 หมื่นล.
“คตร.” ปัดคสช.ถลุงงบแล้ว 5 พันล. เร่งสอบสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ 1.2 หมื่นล. ชี้ไม่มีไม่เป็นตามแผน พิรุธมีการรวบรัดขั้นตอน สั่งยกเลิกโครงการรถจักรดีเซล 3.3 พันล. แทบเล็ตระยะ 4 วงเงิน 7 พันล. ปัดคสช.ถลุงงบแล้ว 5 พันล.
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) แถลงความคืบหน้าในการทำงานของ คตร. ว่า คตร.ได้มีมติให้ยกเลิก 2 โครงการเพิ่มเติม คือ 1.โครงการบูรณะรถจักรดีเซลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 3.3 พันล้านบาท เนื่องจากตัวรถจักรมีความเก่ามาก ซ่อมแล้วไม่คุ้มค่า จึงให้พิจารณาจัดทำโครงการใหม่ และ 2.โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แทบเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ยกเลิกในส่วนของระยะที่ 4 ของปี 2556 และในส่วนของปี 2557 วงเงินประมาณ 7 พันล้านบาท
พล.ท.อนันตพร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีมติให้ทบทวน 4 โครงการ เนื่องจากเห็นว่าราคากลางสูงเกินไป และทีโออาร์ไม่มีความเหมาะสม ได้แก่ 1.โครงการจัดหารถรุ่นใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คันของ รฟท. วงเงิน 6 พันล้านบาท 2.โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คันของ รฟท. วงเงิน 5 พันล้านบาท 3.โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) วงเงิน 8.3 พันล้านบาท ที่การกำหนดราคากลางยังขาดเหตุผลความชัดเจน จึงอยากให้มีการทบทวนอีกครั้ง ก่อนพิจารณาให้ดำเนินการต่อหรือไม่
“4.กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ที่แม้จะมีประโยชน์ แต่จากการตรวจสอบพบว่า ใน 23 โครงการของกองทุนยังไม่มีเป้าหมายในการดำเนินการ บางโครงการมีการใช้เงินโดยไม่ประหยัด ซึ่งทางกองทุนฯก็ได้แจ้งขอยกเลิกไปแล้ว 10 โครงการ และขอดำเนินการต่อ 9 โครงการ ส่วนอีก 4 โครงการกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา” พล.ท.อนันตพร กล่าว
พล.ท.อนันตพร กล่าวต่อว่า ขณะนี้คตร.อยากให้มีการตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ปี 2554-2560 ของทอท. วงเงินงบประมาณ 6 หมื่นกว่าล้าน ที่แม้มีความจำเป็นในการขยายเพื่อรองรับผู้โดยสารในอนาคต แต่มองว่ากำหนดวงเงินที่สูงเกินไป และอยากให้มีความโปร่งใส ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้บริหาร ทอท.ก็ทราบว่าจะสามารถลดวงเงินลงมาได้อีกพอสมควร
“2.โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หรือการแจกคูปองเพื่อซื้อเครื่องรับทีวีดิจิตอล (Set Top Box) ของกสทช.ที่ คตร.ยังติดใจสงสัยในส่วนของตัวเลข 22.9 ล้านครัวเรือน ซึ่ง กสทช.ปัดไปเป็น 25 ล้านครัวเรือน จึงขอให้ทบทวนอีกครั้ง รวมทั้งมูลค่าต่อกล่องที่กำหนดไว้ 1,000 บาทด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 15 หลังจากนี้ หากสามารถชี้แจงได้ก็จะให้ดำเนินการต่อไป หากช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้จะได้คำตอบ และสามารถแจกจ่ายคูปองได้ในช่วงเดือนกันยายนนี้” พล.ท.อนันตพร กล่าว
พล.ท.อนันตพร กล่าวว่า คตร.ยังได้เข้าไปตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ วงเงินงบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งล่าช้ามาพอสมควร โดยเฉพาะขณะนี้การส่งมอบพื้นที่ยังไม่สามารถทำได้ตามกำหนดการ สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่มีความพร้อมในการวางแผน จึงอยากให้มีการทบทวน รวมไปถึงโครงการก่อสร้างอาคารสวัสดิการของข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นอาคารที่พักจำนวน 2,600 ยูนิต งบประมาณ วงเงิน 5.6 พันล้านบาท
“สำหรับข้าราชการสภาฯและ ส.ส. จากการตรวจสอบพบว่า การจัดทำโครงการไม่เป็นไปตามหลักของแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี ค่อนข้างมีการรวบรัดตัดตอน และจำนวนห้องกับจำนวนเจ้าหน้าที่ยังไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งมีความจำเป็นอย่างไรในการที่ต้องมีห้องพักให้แก่ ส.ส.ด้วย นอกจากนี้ยังมีในส่วนของกองทุนเลี้ยงชีพของสมาชิกรัฐสภา ที่เห็นว่าเงื่อนไขของกองทุนค่อนข้างที่จ่ายง่ายไป เพราะกำหนดว่าเป็นสมาชิกรัฐสภาเพียง 1 เดือนก็สามารถได้บำเหน็จบำนาญเหมือนกับข้าราชการ ทั้งที่ข้าราชการกว่าจะได้รับก็ต้องรับราชการมาไม่น้อยกว่า 10 ปี จึงอยากให้มีหลักเกณฑ์ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของประเทศ” พล.ท.อนันตพร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกเหนือจากการตรวจสอบโครงการต่างๆแล้ว คตร.มีแนวคิดในการเข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณของคสช.ด้วยหรือไม่ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าคสช.ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 5 พันล้านบาท พล.ท.อนันตพร กล่าวว่า “ไม่ถึง 5 พันล้านบาท ตามที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน และยินดีที่จะนำตัวเลขมาเปิดเผยในครั้งหน้า”
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า มีความยินดีที่จะให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของคสช. แต่ยืนยันว่าไม่มีการใช้งบประมาณถึง 5 พันล้านบาทตามที่เป็นข่าว โดยงบประมาณที่นำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายกับบุคลากร เบี้ยเลี้ยง และค่าเดินทาง ทั้งนี้คสช.เปรียบเหมือนคณะทำงานทมี่กลั่นกรองและอนุมัติงบประมาณ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำไปใช้จ่าย