ปธ.มูลนิธิสืบฯ ชี้นโยบายประกันราคาข้าวโพด ทำป่าหมด
‘อ.รตยา’ ร้องคสช.ตัดวงจรบุกรุกป่า ออกนโยบายไม่รับประกันข้าวโพดที่ปลูกในเขตป่า พร้อมเผยคืบหน้าเขื่อนแม่วงก์ คกก.วิชาการเตรียมสรุปผลศึกษาระบบนิเวศเสนอ ก.ทรัพยากรฯ ระบุสาเหตุน้ำท่วมเกิดจากสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลำคลองตื้นเขิน
วันที่ 27 มิถุนายน 2557 องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาวิชาการ ‘ความคืบหน้าโครงการเขื่อนแม่วงก์และมุมมองในการจัดการทรัพยากรน้ำ’ ณ KU HOME ม.เกษตรศาสตร์
นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าทางกฎหมายโครงการเขื่อนแม่วงก์ว่า วันที่ 30 มิถุนายน 2557 คณะกรรมการวิชาการ ซึ่งแต่งตั้งขึ้นเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระบบนิเวศป่าและสัตว์ป่า รวมถึงช่วยงานด้านบริหาร จะประชุมหาข้อสรุปนำเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ( Environmental Health Impact Assessment:EHIA) คาดว่าคงรอข้อสรุปความเห็นจากคณะกรรมการวิชาการไปประกอบการตัดสินใจ” ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าว
เมื่อถามถึงการขับเคลื่อนของนักอนุรักษ์ นางรตยา กล่าวว่า เราทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยคณะกรรมการวิชาการในการหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ พบสาเหตุเกิดจากมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ฝายชำรุด คูคลองตื้นเขิน ดังนั้น ส่วนตัวจึงเสนอให้ถ่ายโอนอำนาจการบริหารจัดการน้ำให้รัฐบาลท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เข้ามาป้องกันการสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำหรือควบคุมการเปิดปิดประตูน้ำในอนาคตแทน
“น้ำท่วมไม่ได้มาจากผืนป่าแม่วงก์ทางเดียว แต่เกิดน้ำหลากจากลำน้ำสาขาร่วม 10 สาย ฉะนั้นต้องพาลงพื้นที่ศึกษาจริงจึงจะได้คำตอบ” ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าว และว่า ฉะนั้นต้องหาวิธีแก้ปัญหาไม่ให้เสียงบประมาณจำนวนมากไปกับการสร้างเขื่อน อาจจะเสียเพียงครึ่งเดียวก็ได้ แต่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
นายรตยา กล่าวด้วยว่า เครือข่ายยังด้ยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ซึ่งได้มีนโยบายชัดเจนออกมาก่อนหน้านี้ “ไม่ให้ทำโครงการที่ทำลายป่าหรือเข้าไปรบกวนป่า” แต่หากเน้นย้ำให้ละเอียดจะต้องไม่สร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนในเขตป่า ถ้าจะแก้ปัญหาจะต้องทำนอกเขตป่า เพราะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนเป็นตัวทำลายผืนป่าที่มีอยู่น้อยให้หมดไป
“ต้องเก็บป่าธรรมชาติเดิมไว้ ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และสุดท้ายต้องยกเลิกนโยบายที่ชักนำให้ป่าหมดไป โดยเฉพาะนโยบายประกันราคาข้าวโพด ซึ่งจำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนจะไม่รับประกันข้าวโพดที่ปลูกในเขตป่า เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าได้” ประธานมูลนิธิสืบฯ ทิ้งท้าย .