ฟังศูนย์ฯทนายสิทธิฯ ย้ำจุดยืน ตรวจสอบอำนาจ "คสช.-ศาลทหาร"
“..วันที่ 24 พฤษภาคม เราตั้งศูนย์ฯ นี้ขึ้นมาเพื่อติดตามและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกจับกุม คุมขัง เพราะเราเป็นทนายความที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย นี่เป็นเจตจำนงของเรา ก็เลยรวมตัวกันตั้งกลุ่มขึ้นมา..”
ภายหลังจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย
"1 เดือนหลังการรัฐประหาร 2557"
(อ่านประกอบ :สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย 1 เดือนหลังการรัฐประหาร 2557)
เมื่อเร็วๆ นี้ นางสาวเยาวลักษณ์ อนุพันธ์ นักกฎหมายตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงที่มา จุดยืนในการทำงานของศูนย์ฯ และบทบาทหน้าที่ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา นับแต่มีการรัฐประหาร โดย คสช.
นางสาวเยาวลักษณ์ กล่าวว่า ศูนย์ฯ ก่อตั้งขึ้นมา เนื่องจากมีเหตุการณ์การจับกุมคุมขังผู้ที่มาแสดงออกต้านรัฐประหารที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา
“วันที่ 24 พฤษภาคม เราก็ตั้งศูนย์ฯ นี้ขึ้นมาเพื่อติดตามและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกจับกุม คุมขัง เพราะเราเป็นทนายความที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย นี่เป็นเจตจำนงของเรา ก็เลยรวมตัวกันตั้งกลุ่มขึ้นมา”
นางสาวเยาวลักษณ์ กล่าวว่า หน้าที่หลักของศูนย์ฯ คือให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แนะนำข้อกฎหมายแก่ประชาชนในการประกันตัว การดำเนินคดี และมีการจัดทำข้อมูล รวบรวม ข้อมูลผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัวและถูกจับกุมคุมขังในแต่ละวัน ที่หน้าแฟนเพจของศูนย์ฯ ในเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค
โดยข้อมูลที่หน้าแฟนเพจที่ปรากฏในแต่ละวัน จะระบุว่ามีใครบ้างที่ถูกจับกุม ใครถูกเรียกรายงานตัว แต่รายงานในวาระ 1 เดือน มีการรวบรวมข้อมูลที่ทำให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อรายงานสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการ
“ผู้ที่ถูกจับกุม ที่ศูนย์ฯ ให้ความช่วยเหลือ แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือผู้ถูกจับกุมเนื่องจากชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารอย่างสงบอีกกลุ่มเป็นนักต่อสู้เคลลื่อนไหวทางการเมือง เช่น หนูหริ่ง ( นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด) และ จิตรา คชเดช”
นางสาวเยาวลักษณ์ กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้ว ยังมีความกังวลต่อคำสั่งเรียกรายงานตัวและการปฏิบัติ ของ คสช. ที่ยังไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน เช่น เจ้าหน้าที่ยังไม่แจ้งญาติ หรือเปิดเผยสถานที่คุมขัง ขณะที่โดยหลักสิทธิมนุษยชน หากเจ้าหน้าที่ประกาศ เรียกคนไปรายงานตัวแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งว่า มีใครถูกจับกุมบ้าง และจับกุมไว้ที่ไหน
“ประการที่สอง การจับกุมบุคคลที่คิดต่างทางการเมืองหรือบุคคลที่แสดงออกทางสัญลักษณ์ กรณีนี้ ในความเห็นโดยส่วนตัวถือว่าร้ายแรงมาก เช่น กรณีคนกินแซนด์วิช หรือ คนใส่เสื้อที่มีคำว่า “No cou” ( มีความหมายว่า ไม่เอารัฐประหาร ) โดยส่วนตัว มองว่า กรณีของผู้ที่แสดงความเห็นต่างหรือค้านรัฐประหารอย่างสงบนี้ การถูกจับกุมเป็นการถูกละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง”
นอกจากนี้ นางสาวเยาวลักษณ์ กล่าวถึงการที่ทุกคดีต้องขึ้นสู่ศาลทหารว่าทุกคนควรขึ้นสู่ศาลพลเรือนเพราะศาลทหารแม้จะอนุญาตให้มีทนายความ แต่ไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้ นี่เป็นข้อกังวลหลักศูนย์ฯ เราจึงต้องเรียกร้องให้มีศาลพลเรือน ซึ่งหากเป็นศาลพลเรือน อนุญาตให้ยื่นประกันตัวทันที ไม่ต้องถูกส่งมาที่เรือนจำ
“แต่ปัจจุบัน ผู้ที่ถูกจับกุมและส่งตัวมาที่เรือนจำจะมีการพิสูจน์ทราบร่างกายที่มีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ผู้หญิงมีการตรวจภายในด้วย คือ ทั้งที่ผู้ที่ถูกจับกุมเหล่านี้ เป็นผู้มีความคิดต่างทางการเมือง ผู้ต้องหาทุกคนเขาไม่ใช่นักโทษ ไม่ควรได้รับการปฏิบัติเช่นนี้ ขณะที่ศาลพลเรือนสามารถขอยื่นประกันตัวภายในวันนั้นได้เลย แต่ศาลทหารให้ส่งไปที่เรือนจำทุกกรณี แล้วจึงค่อยไปประกันตัว แม้เพียงแค่ 2 ชั่วโมง ก็ต้องไปเรือนจำ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีหลายประเด็นที่ต้องการเรียกร้องต่อการใช้อำนาจ ของ คสช. ถ้าเช่นนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะมีการยื่นหนังสือ หรือเสนอรายงานต่อ คสช. โดยตรงหรือไม่
นางสาวเยาวลักษณ์กล่าวว่า “เราจำกัดบทบาท ของเราไว้แค่นี้ เพียงทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและเพียงเผยแพร่รายงาน นำเสนอข้อเท็จจริงสู่สาธารณะชน ถ้ามีภาคประชาชนจะนำข้อเสนอของเราไปใช้ก็ยินดี ”
ทั้งนี้ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุด้วยว่า ประเด็นสำคัญที่ศูนย์ฯ เรียกร้องเสมอมา ก็คือเรียกร้องให้ ยกเลิกกฎอัยการศึกโดยเร็ว เนื่องจากทุกกรณีที่โดนจับกุมในช่วงนี้ เนื่องจากกฏอัยการศึกทั้งสิ้น และเห็นว่ากฏอัยการศึก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้มานับร้อยปี ระบุความผิดถึงผู้ที่เป็นอริราชศัตรู แต่ การจับคนกินแซนวิชที่มาแสดงออกต้านรัฐประหารอย่างสันตินั้นเขาไม่ใช่อริราชศัตรู
ผู้สื่อข่าวถามว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จะทำหน้าที่ต่อไปถึงเมื่อไหร่ นางสาวเยาลักษณ์กล่าวว่า
“ตราบใดที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และ คสช. ยังเป็นรัฐถาธิปัตย์ซึ่งเป็นอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ ศูนย์ฯ เราก็ต้องทำงานต่อไป” ทนายความรายนี้ระบุ