ร่างรธน.ทุกครั้งต้องทำประชามติ ‘ดร.ลิขิต’ ชี้หากดีอยู่เเล้วไม่ต้องเเก้มาก
‘บวรศักดิ์’ แนะหาสาเหตุของปัญหาต่อยอดปฏิรูปประเทศ ‘ศ.ดร.ลิขิต’ ชี้ควรร่าง รธน.แบบไม่แก้ไขดีที่สุด ลดงบฯ ประชามติ เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจการเป็นผู้นำมากที่สุด
วันที่ 26 มิถุนายน 2557 สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนา ‘การปฏิรูปประเทศไทย:ดุลแห่งอำนาจ’ ภายใต้โครงการสัมมนา ‘สู่ทศวรรษที่ 9:ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตย’ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงสาเหตุไทยต้องพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศซ้ำซาก เพราะปัญหายังมีอยู่ ฉะนั้นการปฏิรูปจึงควรเริ่มจากการสำรวจความรู้ที่มีอยู่ว่าที่ผ่านมามีการคิดหรือเสนอแนะอะไรบ้าง แต่ไม่ใช่เริ่มคิดจากศูนย์
ส่วนข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ตั้งคำถามว่า เป็นปัญหาของการเมืองไทยหรือไม่ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเกิดจากความกังวลว่าคนจะมีอำนาจมากเกินไปหรือไม่มีอำนาจ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปนั้นสามารถเสนอได้ตามสิทธิเสรีภาพ แต่สิ่งที่สำคัญเราควรหาสาเหตุของปัญหาก่อน
ด้านศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต ในฐานะนักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าวถึงการถ่วงดุลยภาพสถาบันการเมืองว่า จะต้องไม่ให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจที่แข็งเกินไป เพราะจะทำให้ระบบไม่เติบโต ฉะนั้นทำอย่างไรให้ระบบรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิ์ ขณะเดียวกันรัฐบาลสามารถทำหน้าที่ได้
“ระบบพัฒนาการเมือง คือ ระบบที่มีพัฒนาการทางอำนาจ แต่ไม่ละเมิดอำนาจ มีเสรีภาพ แต่ไม่ละเมิดเสรีภาพ” นักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าว และว่าระบบที่ใช้เสียงข้างมาก แต่ต้องไม่นำไปสู่เผด็จการเสียงข้างมาก ขณะเดียวกันต้องเคารพเสียงข้างมาก และไม่นำไปสู่อันธพาลเสียงข้างน้อย จะทำให้เกิดดุลยภาพได้
สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ศ.ดร.ลิขิต ระบุว่า จะต้องตอบสนองความต้องการทางการเมืองที่เป็นรูปธรรม นั่นคือ ทุกคนต้องมีปัจจัย 4 นอกจากนี้ก็ต้องมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาพ ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การจะร่างรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อมูลข้างต้น
ทั้งนี้ ต้องทำให้คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเพื่อให้มีอำนาจรัฐ แต่จะต้องถูกถ่วงดุลอำนาจ ทำให้ประชาชนมีสิทธิหน้าที่ หากสามารถสร้างระบบดังกล่าวได้เชื่อว่าทุกคนจะอยู่ได้อย่างมีสันติ เต็มไปด้วยความผาสุก ความหวัง มีความยุติธรรม และสามารถธำรงสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้
นักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้งต้องทำประชามติ แต่หากรัฐธรรมนูญฉบับนั้นดีและคนปฏิบัติตามก็ไม่ควรแก้ไขมาก เพราะหัวใจอยู่ที่วัฒนธรรมการเมือง ต้องมีประชาธิปไตยในตัวเองจึงจะจรรโลงอยู่ได้ เบื้องต้นผู้นำต้องมีศรัทธาก่อน ถ้าผู้นำไม่ดี ประชาชนต้องกดดัน แต่หากผู้นำดี ประชาชนไม่ดี ก็ต้องสร้างวิญญาณความเป็นประชาธิปไตย
“การลงประชามติรัฐธรรมนูญทุกครั้งต้องเสียงบประมาณครั้งละ 3,700 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปสร้างอย่างอื่นที่ดีกว่า ฉะนั้น ควรร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องแก้ไขจะดีที่สุด หากไม่ถูกตีความศรีธนญชัยให้ต้องแก้ไขแบบตะแบง” ศ.ดร.ลิขิต กล่าว และทิ้งท้ายว่าทำอย่างไรให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการแสดงความเป็นผู้นำมากที่สุด จึงเป็นเหตุผลให้นายกรัฐมนตรีควรเป็นอิสระจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อลดการต่อรอง
ปฏิรูปโครงสร้างความไม่ไว้วางใจระบบการเมือง
ด้านผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาของสังคมไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญดีหรือไม่ เพราะต่อให้ร่างดีเพียงใดก็แก้ปัญหาไม่ได้ ด้วยอีกฝ่ายพยายามหาวิธีหลีกเลี่ยง ฉะนั้นต้องทำอย่างไรให้โครงสร้างการปฏิรูปรัฐธรรมนูญตั้งอยู่บนพื้นฐานที่แท้จริง
“เราต้องปฏิรูปโครงสร้างความไม่ไว้วางใจระบบการเมือง เพราะการถ่วงดุลอำนาจเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องพยายามสร้างระบบความไว้วางใจ” นักวิชาการนิติศาสตร์ กล่าว และว่าให้ประชาชนไว้ใจผู้นำจะสร้างประโยชน์เพื่อส่วนร่วม ตามครรลองครองธรรม ไม่ใช่เพื่อคนบางกลุ่ม จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ขณะที่รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าวถึงทางออกของปัญหาในไทยจะต้องเลิกลอกรัฐธรรมนูญจากประเทศอื่น แต่ให้ร่างขึ้นจากการศึกษาจุดอ่อนในประเทศอย่างละเอียด เเละต้องสั้น ยืดหยุ่นได้ เพื่อรัฐธรรมนูญไม่ถูกแก้ไขบ่อยครั้งและจะสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในหมู่ประชาชน
นอกจากนี้ยังเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีความสัมพันธ์กับประชาชน ผ่านการเลือกตั้งทางอ้อม บ่งบอกถึงที่มาที่ไป และมีสภาประชาชนตรวจสอบ เพื่อป้องกันระบบอุปถัมภ์ ทั้งนี้ ฝากถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ด้วย เพราะไทยยังกวาดล้างระบบเหล่านี้ไม่ได้ .