ฟังเหตุผล 4 กก.กทค.แก้ต่างปมประมูล 3 จี ก่อน ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณา ?
“…ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรม กรรมการ กทค. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ จึงใคร่ขอความเป็นธรรมในการขออนุญาตเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในหลายประเด็นข้างต้นด้วยตนเอง แม้ กทค. ทั้งสี่เคยไปชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯ แต่เป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวในวันที่ กทค. ไปรับทราบข้อกล่าวหา ขณะที่ กทค. ยังไม่ทราบประเด็นข้อกล่าวหาที่ชัดเจนและโดยที่คณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้ซักถามและไม่มีการบันทึกคำชี้แจงใด ๆ ของ กทค. ทั้งสี่ ทำให้มองว่า กทค. ทั้งสี่ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อกรณีดังกล่าว…”
ใกล้ถึงบทสรุปเข้าไปทุกที สำหรับปมการประมูล 3G อันอื้อฉาว ?
ภายหลังคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีดังกล่าว สรุปสำนวนคดี ชงเรื่องให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหญ่เรียบร้อยแล้ว หลังสืบสาวราวเรื่องมาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ ป.ป.ช. สอบสวนเรื่องการทุจริตประมูล 3G มาตั้งแต่ปี 2555 ในประเด็นที่ว่า การจัดประมูลใบอนุญาตเท่ากับจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล และการตั้งราคาเริ่มต้นเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าคลื่นที่ศึกษาโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งที่ในรายงานเสนอให้ตั้งราคาไม่ต่ำกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ และการจัดประมูลมีความมุ่งหมายไม่ให้มีการเสนอราคาที่เป็นธรรมหรือไม่ รวมไปถึงกรรมการ กทค. เร่งรีบลงมติเห็นชอบรับรองการประมูลหรือไม่
หลังจากนั้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2557 มีกระแสข่าวว่า อนุกรรมการฯได้ชี้มูลความผิดต่อกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) จำนวน 4 ราย คือ พ.อ.ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร นายสุทธิพล ทวีชัยการ และนายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ เรียบร้อยแล้ว
ล่าสุด มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ เตรียมยกเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาในวันที่ 26 มิถุนายน 2557
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 พ.อ.ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร นายสุทธิพล ทวีชัยการ และนายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ 4 กรรมการ กทค. ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอความเป็นธรรมต่อประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ และประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีถูกกล่าวหาว่าฮั้วประมูล 3G โดยขอโอกาสให้กรรมการ กทค. ทั้ง 4 ราย ได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยตัวเองในฐานะผู้ถูกกล่าวหา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำหนังสือฉบับนั้นมาเผยแพร่ให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
“กรรมการ กทค. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ขอเรียนว่า ในการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ผ่านมานั้น กทค. ทั้งสี่ ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดและไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการตรวจสอบมาโดยตลอด ตั้งแต่ในกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของผู้ร้องที่เร่งรีบอย่างผิดปกติ โดยเร่งสรุปว่า กทค. ทั้งสี่ กระทำผิดและได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ปปช. ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนที่จะเชิญ กทค. มาชี้แจง
นอกจากนี้ ในกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงในชั้นของคณะอนุกรรมการฯ การแจ้งข้อกล่าวหาก็มิได้ระบุบทบัญญัติของกฎหมายที่เป็นความผิด แต่ระบุพฤติการณ์กว้าง ๆ ไม่อาจเข้าใจได้และไม่เปิดโอกาสให้ กทค. ทั้งสี่ ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสเข้าชี้แจงและตอบข้อสงสัยของคณะอนุกรรมการฯ อย่างเต็มที่ด้วยตนเอง
ขณะที่ทราบว่าได้มีการเรียกพยานของฝ่ายที่ร้องเรียนหลายปากซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายที่มีความเห็นต่างกับ กทค. รวมทั้งเป็นผู้ร้องเรียนโดยตรงหรือโต้แย้งดุลพินิจของ กทค. โดยตรงต่อสาธารณะมาให้ข้อมูลกล่าวหา กทค. และตอบข้อสงสัยต่อคณะอนุกรรมการ ปปช. ด้วยตนเอง
จึงทำให้เห็นว่า กทค. ผู้ถูกกล่าวหาอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค และด้านเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญ อีกทั้งยังมีประเด็นแห่งคดีที่ กทค. ทั้งสี่ ยังมิได้มีการชี้แจงให้ครบถ้วนและครอบคลุม นอกจากนี้ ขณะนี้เวลาล่วงเลยมานานนับตั้งแต่มีการยื่นคำร้อง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงในปัจจุบันว่าข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความเสียหายของประเทศที่เกิดผลจากผลการประมูล 3 จี นั้น ไม่เป็นความจริง โดยเห็นได้ชัดว่าผลการประมูล 3 จี ได้ทำให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล
กรรมการ กทค. ทั้งสี่ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะมีเงื่อนงำหรือความผิดปกติ เพราะนอกจากพฤติการณ์ข้างต้นแล้ว ยังปรากฏว่ามีการให้ข่าวผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ เฉพาะในด้านลบในช่วงที่ กสทช. โดย กทค. กำลังเดินหน้าจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ กทค. ผู้จัดการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวและอาจมองว่าเพื่อกดดันให้เกิดสุญญากาศเพื่อไม่ให้มีการประมูลคลื่น 1800 MHz และคลื่นความถี่ ย่าน 900 MHz รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของ กทค. ทั้งสี่ ซึ่งตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตมาโดยตลอด
ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรม กรรมการ กทค. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ จึงใคร่ขอความเป็นธรรมในการขออนุญาตเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในหลายประเด็นข้างต้นด้วยตนเอง แม้ กทค. ทั้งสี่เคยไปชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯ แต่เป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวในวันที่ กทค. ไปรับทราบข้อกล่าวหา ขณะที่ กทค. ยังไม่ทราบประเด็นข้อกล่าวหาที่ชัดเจนและโดยที่คณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้ซักถามและไม่มีการบันทึกคำชี้แจงใด ๆ ของ กทค. ทั้งสี่ ทำให้มองว่า กทค. ทั้งสี่ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อกรณีดังกล่าว โดยหนังสือขอความเป็นธรรมดังกล่าวระบุความไม่เป็นธรรมในแต่ละประเด็น อาทิเช่น
กทค. ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากคณะกรรมาธิการ วุฒิสภา โดยมีการเร่งสรุปเรื่องอย่างผิดปกติแล้วยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ปปช. ก่อนจะให้ กทค. ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ในภายหลัง
กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯ มิได้ให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ อีกทั้งมีการแจ้งข้อกล่าวหาที่ไม่ระบุบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นความผิด แต่ระบุกว้างมาก ทำให้ กทค. ไม่เข้าใจและไม่อาจชี้แจงได้
ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆ ตามบันทึกข้อกล่าวหาของคณะอนุกรรมการฯ จนนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาต่อ กทค. แสดงให้เห็นว่า มีการเข้าใจข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน
กทค. ได้โต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจในการพิจารณาของคณะกรรมการ ปปช. ว่าไม่อยู่ภายใต้บังคับ พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) เพราะการประมูลคลื่นความถี่แตกต่างจากการประมูลทรัพย์สินทั่วไป
เนื่องจากมูลเหตุแห่งการยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในครั้งนี้ มิใช่เป็นกรณีที่ กสทช. โดย กทค. จัดการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการดำเนินการโดยทุจริตแต่อย่างใด แต่เกิดจากการที่ผู้ร้องมีความเข้าใจข้อกฎหมายที่ไม่ถูกต้องและเข้าใจข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ โดยเข้าใจว่าเหมือนเช่นการประมูลทรัพย์สินทั่วไป ซึ่งไม่ถูกต้อง โดยการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นคำสั่งทางปกครองที่เกิดจากการร้องขอและไม่ใช่สัญญาทางปกครองที่เกิดจากการตกลงระหว่างคู่สัญญา และไม่นำไปสู่การทำสัญญาระหว่างกันและการประมูลทรัพย์สินหรือสิ่งของอาจกระทำได้หลายวิธี เช่น การจัดซื้อ หรือจัดจ้าง หรือวิธีอื่นใด
หากพิจารณาคำว่า “การเสนอราคา” เมื่อได้พิจารณาหมายเหตุแนบท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ย่อมทำให้เห็นว่า มีความความมุ่งหมายให้เกิดการจัดหาสินค้าหรือบริการที่จะต้องมีการใช้งบประมาณของรัฐ และจะต้องนำไปสู่การทำสัญญาระหว่างกันไม่ว่ารูปแบบใด แม้ตาม พระราชบัญญัติดังกล่าวจะกำหนดให้การเสนอราคารวมถึงการให้สัมปทาน หรือการได้รับสิทธิใด ๆ ก็ตาม แต่ “การได้รับสิทธิใดๆ” ตามความหมายของคำจำกัดความดังกล่าวจะต้องเป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงการให้สัมปทาน ทั้งนี้ ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่มีความแตกต่างจากการเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งระบบการให้สัมปทานโดยสิ้นเชิง เนื่องจากหน่วยงานของรัฐไม่ต้องเข้าทำสัญญากับเอกชน แม้จะมีการออกเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต แต่เงื่อนไขดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งออกโดย กสทช. แต่ฝ่ายเดียว
กรณีข้อกล่าวหาที่ว่า กทค. มีพฤติกรรมสมยอมการเสนอราคา (ฮั้ว) กับผู้ประกอบการในการออกแบบการประมูลจนทำให้ประเทศชาติเสียหาย เพราะไม่มีการแข่งขันนั้น ขัดต่อความเป็นจริงอย่างยิ่ง
กรณีตามข้อกล่าวหา ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ๆ มาพิสูจน์ได้ว่ามีการฮั้วการประมูลระหว่าง กทค. และผู้ประกอบการจริง จนทำให้ กทค. ไปออกแบบการประมูลเพื่อเอื้อผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ทั้งนี้การออกแบบการประมูลเป็นดุลพินิจที่ กสทช. โดย กทค. ดูข้อมูลจากทุกๆ ที่แล้ว จึงเลือกมาออกแบบการประมูล เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งทำให้สามารถจัดประมูลได้เป็นผลสำเร็จ
การกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล การกำหนดราคา รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการประมูลเป็นดุลพินิจขององค์กรชำนาญพิเศษตามกฎหมาย และเป็นเรื่องที่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว จึงไม่อาจนำเอามาตรฐานในกรณีประมูลสิ่งของแบบ e-auction มาเปรียบเทียบหรือนำมาใช้ในเรื่องนี้ได้ เพราะการประมูลคลื่นความถี่และประมูลสิ่งของมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กฎหมายจึงไม่ได้บัญญัติให้ กสทช. เอาระเบียบเรื่อง e-auction ในกรณีจัดซื้อจัดจ้างหรือประมูลทั่วๆ ไปมาใช้ แต่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนให้ กสทช. ออกแบบหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่เอง
ผลการประมูลคลื่นความถี่ 3 จีดังกล่าวได้รับการยอมรับจาก ITU และเกิดผลในทางตรงกันข้ามกับที่มีการกล่าวหาว่าประเทศชาติได้รับความเสียหาย
ด้วยเหตุผลข้างต้น ขอย้ำว่า กสทช. โดย กทค. ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ กทค. เพียงคิดต่างและใช้ดุลพินิจในกรอบของกฎหมายตามความชำนาญพิเศษ ที่เห็นว่าจะทำให้สามารถจัดสรรคลื่น 3 จี ได้สำเร็จ เกิดประสิทธิภาพ และประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด โดย กทค. ได้พิจารณาเสียงเรียกร้องส่วนน้อยที่ต้องการให้กำหนดราคาประมูลสูง ๆ อย่างรอบคอบแล้วเห็นว่ามีความเสี่ยง ไม่มีหลักวิชาการที่น่าเชื่อถือรองรับ รวมทั้งยังมาจากกลุ่มเดียวที่เคยให้ข้อแนะนำแก่ กทช. แต่ก็ปรากฎว่าการจัดประมูล 3 จี ครั้งนั้นล่มไป กทค. จึงเลือกตามแนวทางที่ดำเนินไปจนทำให้การจัดประมูล 3 จี ของ กทค. ประสบผลสำเร็จ
ที่ผ่านมา กทค. ทั้งสี่ เป็นฝ่ายถูกกระทำและไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น ตั้งแต่กระบวนการสอบสวนที่เร่งรีบอย่างผิดปกติจนนำไปสู่การยื่นเรื่องร้องเรียนต่อปปช.และแม้ในกระบวนการพิจารณาในชั้นของคณะอนุกรรมการปปช.เอง การแจ้งข้อกล่าวหาก็ระบุกว้างๆ และไม่เปิดโอกาสให้ กทค.ทั้งสี่ ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสเข้าชี้แจงและตอบข้อสงสัยของคณะอนุกรรมการฯอย่างเต็มที่ด้วยตนเอง ขณะที่ทราบว่าพยานของฝ่ายที่กล่าวหาหลายปากมีโอกาสมาให้ข้อมูลกล่าวหา กทค.ทั้งสี่ และตอบข้อสงสัยต่อคณะอนุกรรมการปปช.ด้วยตนเอง จึงทำให้ไม่มั่นใจในกระบวนการพิจารณาและเกรงว่าจะมีเฉพาะข้อมูลด้านเดียวเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดปปช.ชุดใหญ่ จึงขอเรียกร้องความยุติธรรมและความเป็นธรรมจากทุกฝ่ายด้วย”
ทั้งหมดคือข้อความ “ขอความเป็นธรรม” จากรรมการ กทค. ทั้ง 4 ราย ที่บัดนี้อยู่ในมือของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ เรียบร้อยแล้ว
ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับหลักฐานและดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น !
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ASTVผู้จัดการ