นักวิชาการแนะคสช.ตัดกังวลอียู-สหรัฐฯ บอยคอตไทย เดินหน้าปฏิรูปเต็มที่
นักวิชาการแนะ คสช.พิสูจน์นานาชาติปฏิรูปประเทศเต็มที่ เลิกกังวลสหภาพยุโรป-สหรัฐฯ บอยคอต ‘ศ.ดร.ธีรภัทร์’ หวังอีก 2 เดือน ‘บิ๊กตู่’ คลอดเครื่องมือปราบคอร์รัปชั่น ชงแยก ก.ศึกษาฯ เป็นอิสระจากครม.
วันที่ 25 มิถุนายน 2557 มูลนิธิ Insight Foundation โดยศูนย์วิจัยข้อมูลการเมืองไทย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริชเนามัน จัดเสวนา ‘ยกเครื่องประเทศไทย โจทย์ใหญ่ปฏิรูปประเทศ’ ณ อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจประมาณ 3 เดือน ดังนั้นจึงอยากเห็นการทำงานในอีก 2 เดือนที่เหลือ ในการกล้าตัดสินใจทำเรื่องรัฐบาลปกติทำไม่ได้ เช่น การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น โดยการบังคับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปราบปราม โดยเฉพาะการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม แต่หาก คสช.ไม่ทำทันทีก็จะไม่เกิดประโยชน์ เพราะการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ผลักดันกฎหมายนั้นจะต้องรอตามขั้นตอนและอาจติดขัดได้
ประธานสภาพัฒนาการเมือง ยังเสนอให้วางรากฐานระบบการศึกษาไทยใหม่ ด้วยการแยกกระทรวงศึกษาธิการออกจากระบบคณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้คณะกรรมการที่มีความสามารถเฉพาะบริหารงานแทน มิเช่นนั้นนโยบายด้านการศึกษาจะไม่ต่อเนื่องและไม่จริงจัง พลเมืองไทยก็จะไม่มีระเบียบวินัย คุณธรรมจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก
“การสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การใส่เนื้อหาในหลักสูตรแบบเรียน แต่ควรสร้างตัวอย่างที่ดี” ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าว และว่าต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคง ซึ่งผู้นำต้องมองปัญหาให้ออกและแก้ให้ถูกต้อง และเมื่อจะเป็นผู้นำแล้วไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่อง แต่ต้องทำให้ถูกเรื่อง
ด้านศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนไทยกำลังติดกับดักความสำเร็จการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์อำนาจสมัยรัชกาลที่ 5 จนไม่กล้าทำอะไร เพราะกังวลเรื่องความมั่นคง แต่ปัจจุบันจำเป็นต้องนำไปสู่การปฏิรูป เพราะการบริหารลักษณะดังกล่าวเป็นต้นตอการทุจริตคอร์รัปชั่น ฉะนั้นการกระจายอำนาจจึงเป็นวิธีเดินไปข้างหน้าของประเทศ
“จังหวัดปกครองตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายอำนาจ โดยแนวคิดนี้ไม่จำเป็นต้องทำพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งกระบวนการนั้นต้องผ่านการทำประชามติ และคนในพื้นที่ต้องมีความพร้อมและเข้าใจด้วย” นักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าว และคาดหวังให้เกิดการปฏิรูประบบตำรวจ ภายหลังถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐใช้ทางการเมือง ให้กลับมาสู่ระบบที่มีความเชื่อถือได้
เมื่อถามถึงการบอยคอตไทยของกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ศ.ดร.จรัส มองว่า วิถีการเมืองระหว่างประเทศ จะเห็นได้ทุกประเทศที่แสดงหรือมีท่าทีกับประเทศใดนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผลประโยชน์ ดังนั้น คสช.จะต้องทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างเต็มที่ และตัดทิ้งเรื่องความกังวลต่อกระแสกดดันจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การบอยคอตทางการค้านั้นคงไม่ถึงขั้นตัดความสัมพันธ์เลย
ขณะที่นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า เมื่อไทยมีสภาปฏิรูปประเทศขึ้น เรื่องการปฏิรูปที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เชิงกฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ด้วย ซึ่งประการหลังยังเป็นจุดอ่อนของไทย สำคัญที่สุด ควรขับเคลื่อนภาคพลเมืองทุกหย่อมหญ้าให้เกิดวิธีคิดใหม่ เช่น การร่วมตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น
เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ยังกล่าวถึงเบื้องหลังการเข้าร่วมประชุมกับ คสช.เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า มองเห็นถึงความตั้งใจในการเตรียมขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เตรียมกรอบไว้ 4 ด้าน คือ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ส่วนตัวรู้สึกประทับใจทีมงานของ คสช.ที่เป็นนายทหารวิชาการและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยไม่มีชื่อเสียง
“การที่ใช้คนแบบนี้ทำให้มีความนิ่งพอที่ไม่นำประเด็นของตัวเองเป็นตัวตั้ง ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่แต่ละฝ่ายส่งไปนั้น ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาอ่านจริงจัง ส่วนเนื้อหาสาระยังไม่สำคัญเท่าไหร่ แค่เตรียมตัวขึ้นโครงสร้างไว้ก่อน ก่อนจะส่งมอบกรอบประเด็นให้แก่สภาปฏิรูปประเทศต่อไป” นพ.พลเดช กล่าวในที่สุด .