"กรมข้าว" เร่งประเมินนาล่มจากฝนหนัก ช่วยเกษตรกรหลังน้ำท่วม
กรมการข้าว สำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรกรรมจากอุทกภัย เตรียมงบฉุกเฉินช่วยเกษตรกรไร่ละ 606 แนะนำวิธีชะลอความเสียหายผลผลิตหลังน้ำท่วม
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากสถานการฝนตกหนักในหลายพื้นที่ขณะนี้ เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้บ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย เบื้องต้นกรมการข้าวได้เร่งให้เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ลงไปในพื้นที่ประสบภัยเพื่อสำรวจและประเมินความเสียหาย ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย
โดยแบ่งเป็นพื้นที่นาที่สามารถกลับมาฟื้นฟูได้ และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง และจะนำข้อมูลที่ได้รายงานไปยังคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด เพื่ออนุมัติเงินงบกลางในการช่วยเหลือฉุกเฉิน ไร่ละ 606 บาท
ทั้งนี้ กรมการข้าวได้ให้คำแนะนำเกษตรกรในการชะลอความเสียหายของข้าวระยะสุกแก่ในแปลงนา เนื่องจากสภาพฝนตกหรือน้ำท่วม โดยในการเก็บเกี่ยวข้าวระยะที่เหมาะสมก็คือ ระยะพลับพลึง ประมาณ 28 - 30 วัน หรือ 4 สัปดาห์ หลังข้าวออกดอก 80% จะทำให้ได้ผลผลิตและคุณภาพข้าวดีที่สุด แต่ในสภาวะที่มีฝนตกชุก และมีสภาพน้ำท่วมขัง เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวเร็วขึ้นที่ระยะ 21 วัน หลังข้าวออกดอก 80% โดยสามารถปฏิบัติได้ 2 ลักษณะ
คือ 1.การใช้รถเกี่ยวนวดเมล็ดข้าวที่ได้จะมีความชื้นสูง (มากกว่า 25%) ให้รีบนำไปลดความชื้นทันที หรือภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันความเสียหายจากเชื้อรา และจุลินทรีย์ต่างๆ โดยจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการหรือโรงสี เพื่อดำเนินการลดความชื้นตามวิธีการที่ถูกต้องต่อไป เช่น การใช้เครื่องอบ หรือการตากลาน เพื่อลดความชื้นข้าวให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย (ประมาณ 14–15%) หากเกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายได้ทันที หรือภายใน 24 ชั่วโมง ควรนำข้าวที่เก็บเกี่ยวมาผึ่งตากลดความชื้น โดยเกลี่ยให้มีความหนา 5–10 เซนติเมตร และพลิกกลับทุกๆ 1–2 ชั่วโมง หากพื้นที่ตากมีจำกัด สามารถเพิ่มความหนาของข้าวในการตาก แต่ต้องพลิกกลับให้บ่อยครั้งขึ้น และควรระมัดระวังไม่ให้ข้าวโดนฝนซ้ำอีก
2.การเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคน กรณีข้าวถูกน้ำท่วมขังในระยะสุกแก่ ไม่สามารถใช้รถเกี่ยวนวดได้ ให้เก็บเกี่ยวข้าวด้วยเคียว แล้วนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ มัดเป็นฟ่อนนำไปตากแขวนราว การปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชะลอการเสื่อมคุณภาพของข้าว เนื่องจากการตากแบบแขวนราว จะทำให้เกิดการระบายถ่ายเทของอากาศภายในฟ่อนข้าวได้ดี และหากมีฝนตก น้ำฝนจะหยดลงสู่พื้นดิน ไม่ถูกดูดซับหรือขังอยู่ในฟ่อนข้าว ให้ทำการนวดเมื่อสามารถกระทำได้ แล้วลดความชื้นให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัยอีกครั้ง
ทั้งนี้ เกษตรกรที่มีข้อสงสัยในการลดความชื้นข้าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว โทร 02-579-7892 หรือ E-mail : [email protected] หรือศูนย์วิจัยข้าวในพื้นที่ .