ศาลปค.สั่งรัฐศึกษาผลกระทบ-รับฟังความเห็น ปมซื้อไฟเขื่อนไซยะบุรี
ศาลปกครองสูงสุดแก้คำสั่งศาลชั้นต้นรับคดีพิจารณา ให้กฟผ.-กพช.-ก.พลังงาน-ก.ทรัพยากรฯ-ครม.ทำอีเอชไอเอ รับฟังความคิดเห็นเพียงพอ เเต่ไม่ยกเลิกสัญญาการซื้อไฟฟ้า
วันที่ 24 มิถุนายน 2557 ที่ศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ในคดีคำร้องที่ คส.11/2556 คำสั่งที่ คส.8/2557 จากการที่นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว แกนนำเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง กับพวกรวม 37 คน ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี (ครม.)
กรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ ส.493/2555 หมายเลขแดงที่ ส.59/2556 ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ภายหลังประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขง ทั้งในด้านระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนอย่างร้ายแรง
จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง ดังนี้
1.ให้พิพากษาว่าโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีของกฟผ.เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้มีคำสั่งยกเลิกโครงการดังกล่าว
2.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับอันตรายข้ามพรมแดนก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าโครงการเขื่อนไซยะบุรี
3.ให้ยกเลิกมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติให้กฟผ. ดำเนินโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี
ซึ่งผลปรากฏว่าศาลปกครองชั้นต้นไม่รับฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ อย่างไรก็ตาม ภายหลังชาวบ้านทั้ง 37 คนได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
ท้ายที่สุด ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์เเล้ว จึงมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องของชาวบ้านทั้ง 37 คน ในส่วนให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ไว้พิจารณา นอกเหนือจากนี้ให้แก้เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น
น.ส.ส.รัตนมณี พลกล้า หัวหน้าทีมทนายความฟ้องร้อง กล่าวหลังศาลมีคำสั่งว่า การชนะคดีในครั้งนี้ถือว่าเราเดินทางมาได้ครึ่งทาง เพราะการตัดสินครั้งนี้ยังไม่ได้ทำให้โครงการนี้หยุด ดังนั้นเราจะต้องมาช่วยกันรวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะร่างคำสั่งขอศาลคุ้มครองชั่วคราวการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และจะต้องเตรียมข้อมูลทุกอย่างเพื่อที่จะหยุดโครงการนี้ต่อไป ซึ่งจะรีบไม่ได้ ซึ่งจะต้องทำให้เร็วที่สุด โดยคาดหวังให้เกิดการชะลอคำสั่งการทำหน้าที่ทุกอย่างในเเง่การปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ เเต่ถึงขั้นระงับการก่อสร้างเราทำไม่ได้ เพราะคนสร้างไม่ใช่กฟผ.
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ไทยพับลิก้า