เอ็นจีโออีสานมอง รัฐบาลใหม่ไม่ต่างจากทักษิณ “คิดว่าทรัพยากรมีไว้สร้างกำไร”
นักพัฒนา-ชาวบ้านอีสาน สรุปปัญหาทรัพยากรตั้งแต่แผนฯ 1-10 ชี้รากเหง้าจากรัฐรวมศูนย์จัดการ-มุ่งตัวเลขเศรษฐกิจ ใช้กฏหมายลิดรอนสิทธิชุมชน เสนอปรับสมดุลใหม่ให้ท้องถิ่นจัดการทรัพยากรเอง เอ็นจีโอชี้หากรัฐบาลใหม่มองเพียงแค่ “ทรัพยากรมีไว้สร้างกำไร” โครงการผลกระทบชุมชนคงตามมาอีกมาก
ร็วๆนี้ ที่ศูนย์ประชุมแก่งเลิงจาน จ.มหาสารคาม เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ร่วมกับกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดเวทีเสวนา “แลกเปลี่ยนถอดบทเรียนการจัดการทรัพยากรภาคอีสาน และทิศทางการจัดการทรัพยากรของภูมิภาคโดยภาคประชาชนในอนาคต”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีได้ถอดบทเรียนนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสานของรัฐบาล นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 จนถึงแผน 10 ครอบคลุมทั้งในมิติดิน น้ำ ป่า และแร่ธาตุ ซึ่งวงเสวนาต่างเห็นพ้องกันว่ารากเหง้าปัญหาการจัดการทรัพยากรที่สร้างผลกระทบให้ชุมชนท้องถิ่นอีสานในแต่ละภูมินิเวศน์นั้น ล้วนเป็นผลมาจากการรวมศูนย์อำนาจการจัดการทรัพยากรเข้าสู่ส่วนกลาง การมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและมุ่งตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงนำมาสู่การลิดรอนสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดขี่ข่มเหงชาวบ้าน
เวทีเสวนายังนำเสนอว่าทางออกของปัญหา คือต้องปรับดุลอำนาจในการจัดการทรัพยากรระหว่างภาคประชาชนกับรัฐเสียใหม่ เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรท้องถิ่นตนเองได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นนั้นๆ
นายบุญเลิศ เหล็กเขียว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่าอยากฝากให้รัฐบาลใหม่ ฟังเสียงประชาชนว่าแต่ละพื้นที่เขาต้องการอะไรบ้าง หน่วยงานรัฐไม่ควรมาบีบคั้นประชาชนให้ยอมรับโครงการต่างๆ ขณะที่พอชาวบ้านใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญคัดค้านก็เอาตำรวจมาจับอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างตามระบอบประชาธิปไตย
ด้านนายมนัส ถำวาปี คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จ.อุดรธานี กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก แผนการพัฒนาของรัฐยังมุ่งเก็งกำไร เอื้อประโยชน์นายทุนหรือรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก เช่น กรณีโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูง 500 Kv ในพื้นที่อุดรธานี ที่ชาวบ้านกำลังคัดค้านอยู่ อยากเสนอให้รัฐบาลใหม่ หันมาสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทางเลือกที่เรามีอยู่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถใช้ได้ตลอดชั่วลูกชั่วหลาน แม้ในระยะแรกอาจมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูง แต่ต่อๆไปก็จะเพียงค่าบำรุงรักษาเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้สร้างผลกระทบเหมือนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆที่รัฐได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
ส่วน นายสนั่น ชูสกุล ผู้อำนวยการโครงการทามมูล กล่าวว่า มองว่านโยบายของรัฐบาลใหม่คงไม่ได้ต่างกับนโยบายรัฐบาลทักษิณในอดีต ที่เน้นเรื่องการจัดการทุน มองฐานทรัพยากรว่าเป็นทุน ดังนั้นต่อจากนี้คงเกิดความขัดแย้งจากโครงการที่สร้างผลกระทบชุมชนมากกว่าเดิม แต่ในทางกลับกันก็จะกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความตื่นตัวตระหนักที่จะลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นกันมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวทีดังกล่าว ประกอบไปด้วยตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการทามมูล กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา สมาคมเพื่อนภู มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาทั่วภาคอีสาน อาทิ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าอุดรธานี เครือข่ายองค์กรชุมชนฟื้นฟูป่าภูกระแต กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนปากชม กลุ่มชาวบ้านลุ่มน้ำเสียวและลุ่มน้ำชี กลุ่มชาวบ้านพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าและกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา-ราษีไศล .
ที่มาภาพ : http://www.janwongsing.ob.tc/A4.htm