ค้านทหารคุมดับไฟใต้เบ็ดเสร็จ จี้เพิ่มบทบาท ศอ.บต.-ภาคประชาสังคม
การเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เที่ยวนี้ แตกต่างจากเมื่อครั้งที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค.ยึดอำนาจเมื่อปี 49 หลายประเด็น
หนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเมื่อปี 49 ถือเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญของการทำรัฐประหารเลยทีเดียว
ทว่าในปี 57 คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แทบไม่เคยพูดถึงปัญหาไฟใต้เลยในห้วง 1 เดือนแรกหลังเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง มีเพียงให้ฝ่ายปฏิบัติประชุมหารือกัน โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ ซึ่งได้คุยกันจนตกผลึกและเสนอให้หัวหน้า คสช.ในฐานะผู้ใช้อำนาจเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ให้ความเห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง
โครงสร้างที่ปรับใหม่จริงๆ แล้วมี 2 มิติ
มิติที่หนึ่ง คือ โครงสร้างการบริหารจัดการ ซึ่งหมายถึงการจัดโครงการการทำงานและจัดวางบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนนี้แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
- ระดับนโยบาย มีหัวหน้า คสช.เป็นประธาน มีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นที่ปรึกษา
- ระดับแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ มีคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นองค์กรหลักในการระดมสรรพกำลังและบูรณาการทุกหน่วยงานในส่วนกลาง โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมีรองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) เป็นประธาน และเลขาธิการ สมช.เป็นเลขานุการ
- ระดับปฏิบัติ มี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาทั้งหมดในระดับพื้นที่ ทั้งมิติด้านความมั่นคงและการพัฒนา โดย ศอ.บต.จะจัดตั้ง "ศอ.บต.ส่วนหน้า" หรือ "ศอ.บต.ส่วนแยก" ขึ้นกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด
มิติที่สอง คือ กระบวนการพูดคุยสันติภาพ จะมีการปรับองค์ประกอบของคณะพูดคุยใหม่ มีการออกระเบียบหรือประกาศรองรับ เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการทำงาน และการพูดคุยจะมีทั้งแบบเปิดเผย และปิดลับ ให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยต่อไป โดยมุ่งเน้นประโยชน์ของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก และจะไม่มีการพูดคุยหรือตั้งเงื่อนไขเรื่องการปกครองตนเอง
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผ่านความเห็นชอบของหัวหน้า คสช.แล้ว และตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปก็จะเริ่มลงรายละเอียด รวมทั้งเดินหน้าทำงานแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คิดอย่างไรกับการจัดวางโครงสร้างใหม่ทั้ง 2 มิติของ คสช.
ศอ.บต.หายไปไหน?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงสร้างการบริหารจัดการที่ปรับใหม่ เปลี่ยนแปลงไปจากยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มากพอสมควร เพราะในสมัยนั้นใช้ยุทธศาสตร์ "เดินสองขา" กล่าวคือแท่งงานด้านความมั่นคง รับผิดชอบโดย กอ.รมน. กับแท่งงานด้านการพัฒนาและอำนวยความยุติธรรม รับผิดชอบโดย ศอ.บต. ต้องเดินไปด้วยกันทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่
ทั้งสองหน่วยงานมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะ ศอ.บต.ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ผลักดันพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.) ออกมารองรับอำนาจหน้าที่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการโดยตำแหน่ง เหมือนกับพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ของ กอ.รมน.
ทว่าในโครงสร้างใหม่ดูจะมีการลดทอนบทบาทของ ศอ.บต.ลงไป โดยเฉพาะบทบาทในพื้นที่ เพราะได้ย่อส่วนให้ ศอ.บต.กลายเป็น ศอ.บต.ส่วนหน้า หรือ ส่วนแยก ขึ้นตรงกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งมีฝ่ายทหาร (แม่ทัพภาคที่ 4) เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
แนวทางนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาติติง โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โครงสร้างใหม่ดูแล้วยังไม่เห็นความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับ ศอ.บต. เพราะเป็นการจัดโครงสร้างของฝ่ายความมั่นคง และยึดกฎหมายความมั่นคงเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ต้องทำงานควบคู่กับการพัฒนา จึงยังไม่ชัดเจนว่า ศอ.บต.อยู่ตรงไหนในโครงสร้างใหม่ และอยากฝากว่าทั้งส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน
คงไม่ดี...ทหารคุมเบ็ดเสร็จ
มุมมองของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สอดคล้องกับนักวิชาการในพื้นที่ชายแดนใต้อย่าง เอกรินทร์ ต่วนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ที่บอกว่า โครงสร้างใหม่เป็นการกระชับอำนาจของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งอาจไม่ส่งผลดีต่อการพัฒนาในระยะยาว ที่ผ่านมาการมี พ.ร.บ.ศอ.บต.มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างมาก ฉะนั้นต้องเปิดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ใช่ให้ทหารมาดูแลทั้งหมด เพราะจะได้รับความไว้วางใจน้อย
"หากเรามองว่าห้วงเวลานี้เป็นห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ผมก็อยาเสนอให้ คสช.ทำเรื่องชายแดนใต้ให้เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ของคนทุกสี ขอความร่วมมือจากพรรคการเมืองในพื้นที่ให้ทำงานร่วมกัน และสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างและเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน แต่หากใช้โครงสร้างที่อำนาจไปอยู่ที่ทหารทั้งหมด อาจทำให้เกิดปัญหามากกว่าแก้ปัญหา" เอกรินทร์ กล่าว
เปิดพื้นที่"ประชาสังคม"
ดร.ตายูดิน อุสมาน ประธานหลักสูตรปริญญาโทสาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มองว่า จุดเด่นของโครงสร้างใหม่คือการดึงหลายๆ ภาคส่วนเข้ามาร่วม ไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน. ตำรวจ หรือ สมช. ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าเป็นไปได้ควรเพิ่มช่องทางให้คนในพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ เข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาด้วย
"ในโครงสร้างที่ปรากฏเป็นข่าว เรายังไม่เห็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทั้งๆ ที่ควรมีคนกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างมาก เพราะเป็นคนที่รู้ปัญหามากที่สุด"
หนุนมาเลย์คนกลางพูดคุย
ส่วนการเชิญรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพต่อไปนั้น ดร.ตายูดิน บอกว่า ถือเป็นเรื่องดี เพราะว่าในภูมิภาคนี้ประเทศมาเลเซียใกล้ชิดกับประเทศไทยมากที่สุด
"เราต้องให้เกียรติเขา เพราะที่ผ่านมาเราเคยเชิญเขามาเป็นคนกลาง รอบนี้เราก็ต้องเชิญเขามาอีก และยังต้องให้ความสำคัญกับเขาในฐานะตัวช่วยในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นด้วย เพราะถ้าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหา มาเลเซียก็มีปัญหาไปด้วย" ดร.ตายูดิน ระบุ
อย่าข้ามหัวประชาชน
ส่วนความเห็นของภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดันย้าล อับดุลเลาะ จากกลุ่มดรีมเซาท์ กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำในกระบวนการสันติภาพ สิ่งสำคัญที่สุดคือการนำประเด็นที่คนในพื้นที่ต้องการไปพูดคุยในกระบวนการนั้น
"ผู้เกี่ยวข้องควรดูว่าอะไรเป็นประเด็นที่ประชาชนในพื้นที่เขาต้องการให้พูดคุย ยิ่งไปกว่านั้นการพูดคุยของทั้งสองฝ่าย (รัฐบาลกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ) ต้องไม่ข้ามหัวประชาชน ไม่ทอดทิ้งประชาชน สิ่งที่กังวลในกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมา (ตัวแทนรัฐบาลไทยนำโดยเลขาธิการ สมช. กับกลุ่มบีอาร์เอ็น) คือการหลงลืมประชาชนที่ได้รับผลโดยตรงจากการปฏิบัติการของทั้งสองฝ่าย ดังนั้นใครจะนำไม่สำคัญ แต่สำคัญในรายละเอียดว่าคุยอะไรกัน และฟังเสียงประชาชนหรือไม่"
ดันย้าล บอกด้วยว่า บทเรียนจากกระบวนการสันติภาพมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ คือ ต้องมีทุกฝ่ายอยู่ในวงพูดคุย ไม่ว่าจะสายชาตินิยม สายเสรีนิยม สายเหยี่ยว สายพิราบ หรือกลุ่มที่ได้ประโยชน์เสียประโยชน์ ทุกฝ่ายต้องอยู่ในวง หากมิเช่นนั้นแล้วกระบวนการสันติภาพก็จะสั่นคลอน
"ตอนนี้คนในพื้นที่ไม่ได้อยู่นิ่ง แต่ก็เคลื่อนอะไรไม่ได้มากนักเนื่องจากภาวะการเมืองไม่ปกติ ภาวะเช่นนี้น่าสนใจตรงที่เราจะดึงสันติวิธีกลับมาใช้ได้อย่างไร ในขณะที่ความรุนแรงมันถูกสถาปนาขึ้นมา คำถามคือทั้งฝ่ายที่ใช้และถูกใช้ความรุนแรงจะยอมร่วมขบวนสันติวิธีหรือไม่ และนั่นคือตัวสะท้อนว่าเวทีพูดคุยรับฟังเสียงประชาชนแค่ไหน" เขากล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ