โครงการแท็บแล็ต สู่ห้องเรียนอัจฉริยะ ตอบโจทย์การศึกษาไทย...จริงหรือ?
"ความเห็นจากคุณครูได้ให้ความเห็นว่า สมาร์ทคลาสรูม ยังไม่จำเป็น แค่มี คอมพิวเตอร์ pc + projector+เครื่องเสียง+อินเทอร์เน็ต ก็เพียงพอแล้ว ทุกวันนี้ เด็กนักเรียนยังต้องนั่งร่วมกัน 2-3 คน ใช้ pc เครื่องเดียวอยู่เลย แค่เด็กมี pc เพียงพอ ประสิทธิภาพการเรียนการสอนก็ดีขึ้น"
โครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย ( One Tablet Per Child : OTPC ) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการระงับไปแล้ว ทำให้มีงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2556 และปีงบประมาณ 2557 ที่คงเหลือรวมจำนวน 6,970 ล้านบาท และจะมีการนำไปใช้ในโครงการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับการศึกษามากกว่านั้น
รายงานข่าวจากสื่อมวลชนได้อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า
" อนาคตหากจะพัฒนาโครงการไอซีทีรูปแบบใดขึ้นมาแทนการแจกแท็บเล็ตนั้น ควรจะให้ความสำคัญเรื่องเนื้อหาและการเชื่อมโยงกับเครือข่ายความรู้บนอินเตอร์เน็ตต่างๆ ด้วย เพื่อให้การใช้ไอซีทีเพื่อการศึกษาทำได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่ใช่จะสนใจแค่เรื่องฮาร์ดแวร์อย่างเดียว
รวมถึงต้องมีการอบรมครูให้มีความพร้อมสำหรับใช้ไอซีทีในการเรียนการสอน ซึ่งทั้ง 10 หน่วยงานที่มีงบฯ จัดซื้อแท็บเล็ต มีความเห็นตรงกันว่ าโครงการใหม่ควรเป็นลักษณะของห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกระดับชั้นได้ใช้แท็บเล็ตร่วมกัน อาทิ ห้องเรียนสมาร์ตคลาสรูม "
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของเยาวชนไทย ได้ร่วมกันแสวงหาทางเลือกที่ดีที่สุด เสียงสะท้อนจากครูผู้สอนในพื้นที่โรงเรียนชายขอบของประเทศไทยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนนั้น คือ คำถามที่จะช่วยให้เราก้าวต่อไปอย่างถูกต้อง
ถาม : คุณครูมีความเห็นอย่างไรกับโครงการ สมาร์ทคลาสรูม ?
ตอบ ความเห็นจากคุณครูได้ให้ความเห็นว่า สมาร์ทคลาสรูม ยังไม่จำเป็น แค่มี คอมพิวเตอร์ pc + projector+เครื่องเสียง+อินเทอร์เน็ต ก็เพียงพอแล้ว ทุกวันนี้ เด็กนักเรียนยังต้องนั่งร่วมกัน 2-3 คน ใช้ pc เครื่องเดียวอยู่เลย แค่เด็กมี pc เพียงพอประสิทธิภาพการเรียนการสอนก็ดีขึ้น
- ควรดูความพร้อมของบริบทในแต่ละพื้นที่ด้วย โครงสร้างพื้นฐานควรจะเรียบร้อยก่อน สายสัญญาณเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ก็จะทำให้เสริมการเรียนการสอนได้ดีขึ้น ส่วนไหนที่มีความพร้อมแล้ว สร้างสมาร์ทคลาสรูมได้ก่อนเลย
- ควรมีระบบติดตามตรวจสอบ ซ่อมบำรุง จุดเสี่ยงที่จะชำรุดง่าย ควรเน้นให้ดี
- ครูต้องจัดการเรียนรู้เก่ง ไม่ใช่เน้นที่อุปกรณ์อย่างเดียว โรงเรียนหนึ่งควรมีคนเป็นมากกว่า 1 คน
- มีการประเมินความคุ้มค่าของอุปกรณ์ที่ใช้
- มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างครูในโรงเรียน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบบำรุงรักษา
- มีศูนย์ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ศูนย์ฝึกอบรม
- วิธีวัดผลสัมฤทธิ์ในการเรียน ให้นักเรียนทำแบบทดสอบ แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ครู+ครูผู้ช่วยประเมินความตื่นตัวของนักเรียน
คุณครูวิชาอื่นๆ ไม่ค่อยได้ใช้สมาร์ทคลาสรูม
- สมาร์ทคลาสรูม ใช้เฉพาะด้าน โดยเฉพาะวิชาคอมพิวเตอร์
- ความสามารถของ smart/active board แทบจะไม่ได้ใช้เลย ใช้แต่เป็น projector อย่างเดียว
- สื่อการสอนที่ส่วนกลางทำมาให้คุณครูไม่ค่อยได้ใช้จริง เพราะยังไม่เหมาะกับบริบทในการสอน
หากไม่ทำ สมาร์ทคลาสรูม ก็ควรเปลี่ยนงบประมาณเป็นการจัดหาคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอกับนักเรียนไปเลยจะดีกว่า ทุกวันนี้จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอต่อการใช้งานสำหรับโรงเรียนใหญ่ สำหรับโรงเรียนเล็กก็ให้สำรวจดูว่ามีความต้องการใช้คอมพิวเตอร์แค่ไหน
โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดยังมีคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ smart board ไม่จำเป็นต้องมี เปลี่ยนคอมพิวเตอร์ pc ทั้งหมด พร้อม projector กับเครื่องเสียง ก็เพียงพอแล้ว ควรมีตัวอย่าง tablet ให้เด็กแต่ละระดับได้ใช้ในโรงเรียนด้วย ไม่จำเป็นต้องมีทุกคน
ประเด็นสำคัญอยู่ที่โครงการที่กล่าวมานั้นไม่ได้เป็นโครงการใหม่ เป็นโครงการที่ได้ดำเนินงานมาก่อนหน้านี้ จึงมีคำถามว่าผลที่ได้ "นักเรียนของเรามีคุณภาพขึ้นแล้วหรือยัง” ตัวชี้วัดเดิมๆคือ จำนวนอุปกรณ์ เทคโนโลยีที่ใช้ ฯลฯ สิ่งที่กล่าวมานั้นไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาที่ดีของเยาวชนไทยนั้นจุดที่สำคัญที่สุดอยู่ที่เนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย เปิดโอกาสให้ครูผู้สอนสามารถดัดแปลงทรัพยากรที่มีหรือจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมตามความต้องการ นำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิผล โดยใช้เครื่องมือทางด้านไอทีเป็นตัวช่วยและตัวชี้วัดสุดท้ายน่าจะอยู่ที่ "เยาวชนไทยได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ” ตัวชี้วัดจึงไม่น่าจะใช่ จำนวนห้องเรียน จำนวนคอมพิวเตอร์ จำนวนอุปกรณ์...... ฯลฯ
เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง จากครูผู้สอนในพื้นที่โรงเรียนชายขอบของประเทศไทย และเชื่อว่าในแต่ละภูมิภาคก็ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกันไป ความสำเร็จจึงไม่ได้อยู่ที่การกำหนดรูปแบบของโครงการเป็นแบบเดียวกันทั้งหมดแล้วทำเหมือนกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ความสำเร็จอยู่ที่ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้าใจและเห็นเป้าหมายความสำเร็จร่วมกัน ส่วนวิธีการนั้นเชื่อแน่ว่าผู้ปฎิบัติจะสามารถดัดแปลงเครื่องมือที่มีให้สอดคล้องกับเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ได้แน่นอน
ขอบคุณภาพจาก tech.mthai.com