ลอตเตอรี่แพงเป็นเรื่อง 'ศักดิ์ศรีของรัฐบาล'
ล็อตเตอรี่ ๘๐ บาททำได้ไหม ทำอย่างไร
หนึ่งในเรื่องที่ผมทำไม่ทันในสมัยเป็นรัฐมนตรีคือการแก้ปัญหาเรื่ิอง 'ล็อตเตอรี่แพง'
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คิดไว้แล้วว่าจะแก้อย่างไร จึงเป็นความผิดหวังส่วนตัวที่ไม่มีเวลาพอในการแก้ปัญหา รอให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำต่อก็ไม่ยอมเดินหน้าเสียที ทั้งๆที่มีความพยายามโดยส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนที่เสนอให้รัฐบาลของเขาแก้ปัญหานี้โดยเร็ว
ดังนั้นพอเห็นคสช. ประกาศว่าจะเอาจริงผมก็เลยดีใจ เพราะสำหรับผม เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้าน (ที่หลายคนอาจบอกว่า แพงก็อย่าซื้อ ดีเสียอีกจะได้ไม่เล่นการพนัน) แต่ล็อตเตอรี่ราคาแพงเป็นหนึ่งในแหล่งเงินใต้ดินที่ควรถูกกำจัด และเป็นเรื่องศักดิ์ศรีของรัฐบาลด้วย เพราะล็อตเตอรี่เป็นสินค้าที่รัฐบาลผลิตเองขายเอง แต่กลับไม่สามารถควบคุมราคาตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ได้ รัฐบาล (ทุกรัฐบาล) จะมีความชอบธรรมอย่างไรที่ไปสั่งควบคุมราคาสินค้าของคนอื่นโดยอ้างความเดือดร้อนของประชาชน
แต่เท่าที่ติดตามข่าว คสช. ยังอาจคิดเรื่องนี้ไม่ทะลุ และยิ่งอ่านบทสัมภาษณ์ของกองสลากแล้ว ยิ่งเป็นห่วงว่าคสช. จะต้องผิดหวัง เพราะเรื่องล็อตเตอรี่นี้ ถ้าไม่แก้ที่โครงสร้าง ออกมาฮึ่มใส่ใครก็ไม่สำเร็จ
ถามว่า ราคาที่แพงนั้นมาจากอะไร
ที่กองสลากอ้างว่า ตนไม่เกี่ยว และโยนบาปไปให้ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วนั้น ถูกแค่ครึ่งเดียว แต่ครึ่งที่ไม่ถูกนั้นเป็นผลหลักที่ทำให้มีปัญหา เพราะต้นตอปัญหามาจากเงื่อนไขการขายของกองสลากว่า ในการขายแต่ละงวดนั้น 'ต้องขายหมด' เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องมี 'รายใหญ่' มาวางเงินคํ้าประกัน (ทำหน้าที่เหมือน underwriter คือผู้ประกันการจำหน่าย) และรายใหญ่กลุ่มนี้มีหน้าที่คอยดูแลรับซื้อส่วนที่แม่ค้าตามถนนขายไม่ได้อีกด้วย
ในระบบนี้กองสลากไม่ต้องออกแรงอะไรเลย แต่เป็นต้นเหตุให้ผู้ที่เข้ามารับความเสี่ยงต้องขายในราคาที่สูงขึ้น ความเสี่ยงนี้เกิดขึ้นเพราะตามจริง แต่ละงวดนั้นไม่สามารถขายหมดได้ เพราะคนไทยเลือกเบอร์ซื้อ หมายความว่า เบอร์สวยจะแย่งกันซื้อ เบอร์ธรรมดาไม่มีใครเอา แต่ผู้รับช่วงมาต้องจ่ายราคาเต็มให้รัฐบาลทุกใบ แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าในชีวิตจริง จะให้พ่อค้าขายสินค้าที่มีความต้องการสูงในราคาเดียวกันกับสินค้าที่ไม่มีใครต้องการไม่ได้ เบอร์สวยต้องราคาแพงเพื่อเอาส่วนต่างมาชดเชยใบที่ขายไม่ออก
และนโยบายโควต้าก็ทำให้สถานะการณ์แย่ลง เพราะผู้รับโควต้ามากรายไม่ขายเอง แต่ส่งต่อทันทีให้กับรายใหญ่ที่มีเครือข่ายที่กว้างไกล แต่ละช่วงการขายก็ต้องมีการบวกกำไร กว่าจะถึงมือผู้บริโภคก็ต้องแพงขึ้นแน่นอน
และนี่ยังไม่นับการจ่ายส่วยที่ผู้ได้รับโควต้าต้องให้กับข้าราชการและนักการเมืองระหว่างทาง ดังนั้นตามหลักเศรษฐศาสตร์ ถ้าต้องการแก้ปัญหานี้อย่างถาวร ต้องยกเลิกระบบที่มีปริมาณล็อตเตอรี่ตายตัวในแต่ละงวด และการกำหนดว่า 'ต้องขายหมด' และหันมาใช้ระบบขายเท่าไร-เอาเท่านั้น และขายตรงต่อประชาชนในราคาตามประกาศโดยไม่ผ่านมือใคร ไม่ต้องมีระบบ 'โควต้า' อีกต่อไป และถ้าปรับเป็นระบบนี้ ประชาชนต้องเข้าใจว่า มูลค่ารางวัลจะผันผวนตามยอดขายจริง งวดไหนคนซื้อมากรางวัลก็มาก งวดไหนคนซื้อน้อยรางวัลก็น้อยไปด้วย
หนึ่งในสาเหตุที่เราเดินหน้าเรื่องนี้ไม่ได้สมัยที่เป็นรัฐบาล ก็เพราะช่วงนั้นยังมีคดีความฟ้องร้องค้างมาหลายรัฐบาลเรื่อง 'หวยตู้' ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาตามแนวที่ผมเสนอ ควรจะมีการขายล็อตเตอรี่โดยตรง (จะผ่านตู้พิเศษหรือ ATM ก็ได้) ให้กับประชาชน และให้แม่ค้าล็อตเตอรี่ใช้เครื่องอัตโนมัติที่พกพาได้เดินหาลูกค้า (แทนที่จะเดินเร่ขายเป็นใบๆเหมือนปัจจุบัน)
ข้อดีคือลูกค้าก็จะเลือกเบอร์เองได้เลย ๖ เบอร์ หรือ จะ ๒ เบอร์ ๓ เบอร์ก็ว่ากันไป เบอร์ไหนซํ้าเยอะตัวหารรางวัลก็เยอะไปด้วย
ส่วนสมาคมผู้พิการต่างๆ ที่ขาดรายได้จากโควต้าก็สามารถได้รับเงินชดเชยโดยตรงจากกองสลากตามความเหมาะสม ประชาชนได้ซื้อล็อตเตอรี่ที่ใบละ ๘๐ บาท และแหล่งทุจริตสำคัญหายไปทันทีอีกหนึ่งแหล่ง
เรื่องนี้แก้ที่ปลายเหตุอย่างเดียวไม่ได้ เพราะแม่ค้ารับมาก็แพงกว่า ๘๐ บาทแล้ว ถ้าทำจริงต้อง 'ปฏิรูป' เหมือนปัญหาเรื้อรังเรื่องอื่นๆ และถ้าทำจริงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมพร้อมสนับสนุน