ภาคปชช.ลุ้น! 24 มิ.ย. ศาลปค.สูงสุดรับฟ้องระงับไทยซื้อไฟเขื่อนไซยะบุรี
รอลุ้น! 24 มิ.ย. 57 ศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องระงับไทยซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เอ็นจีโอเผยกัมพูชา-เวียดนามต้านแรงก่อสร้าง เหตุกระทบสิ่งแวดล้อม-วิถีชีวิต ‘สฤณี’ ชี้ธนาคารไทยล้าหลังไม่รับหลักการมาตรฐานโลก ‘อีเควเตอร์’
วันที่ 19 มิถุนายน 2557 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนา ‘เขื่อนไซยะบุรี-แม่น้ำโขง ประเด็นการลงทุนในภูมิภาค’ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวถึงแม่น้ำโขงมีความยาวอันดับที่ 12 ของโลก และมีความหลากหลายของสายพันธุ์ปลาอันดับ 2 ของโลก รองจากแม่น้ำอะเมซอน ทำให้สะท้อนถึงลักษณะทางนิเวศวิทยาที่โดดเด่น แต่เมื่อจีนมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเมื่อ 20 ปีก่อน เริ่มส่งผลกระทบในพื้นที่ตอนล่างแล้ว โดยเฉพาะตะกอนดินปากแม่น้ำลดลง 50% พื้นที่ถูกกัดเซาะ 5 เมตร/ปี แร่ธาตุลดลง 5% ต่อปี
“ในปี 2550 ลาวได้เซ็นลงนามกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้พัฒนาโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งจะกลายเป็นเขื่อนแรกในแม่น้ำโขงตอนล่าง” ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าว และว่า เขื่อนดังกล่าวจะทำให้การประมงในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางตรงสูง 125 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะกัมพูชาและเวียดนามที่อาศัยโปรตีนจากการจับสัตว์น้ำในทะเลสาบ
ดร.สรณรัชฎ์ กล่าวต่อว่า ตลอดเวลาที่มีการริเริ่มก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี กัมพูชาและเวียดนามได้คัดค้านอย่างต่อเนื่อง แต่ลาวและไทยยังเดินหน้าโครงการอยู่โดยไม่รับฟังเสียงทักท้วงจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นการเคลื่อนไหวคัดค้านที่รุนแรงและชัดเจนขึ้น จนอาจสุ่มเสี่ยงต่อความสัมพันธ์ทางการทูตได้
ทั้งนี้ ในเวทีการประชุมภายในของเวียดนาม ได้มีการเรียกร้องให้ลาวระงับการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีชั่วคราว และให้ไทยยกเลิกสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้า รวมถึงธนาคารไทยต้องทบทวนผลประเมินความเสี่ยงในการลงทุน อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศจะไม่หยุดคัดค้านแน่นอน
“ยิ่งไทยลงทุนมากก็ต้องรื้อทิ้งมาก หากพบมีผลกระทบรุนแรงต่อแม่น้ำโขง ดังนั้นไทยควรพิจารณาให้ดี เพราะเรากำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ฉะนั้นควรจะอยู่ร่วมกันแบบได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายหรือได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว ?” ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าว
ด้านน.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวถึงความล้าหลังของสถาบันการเงินในไทยว่า ปัจจุบันไม่มีธนาคารรายใดในไทยลงนามรับหลักการอีเควเตอร์ (Equator Principles) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยประเมินความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเลย แต่กลับปล่อยให้เรื่องเหล่านี้อยู่นอกกระบวนการตัดสินใจ
นอกจากนี้ความเสี่ยงทางการเงินของเขื่อนไซยะบุรี น.ส.สฤณี กล่าวว่า ไทยมีแต่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ไม่มีบริษัทผู้เชี่ยวชาญไฟฟ้าพลังน้ำ ทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกัน โดยบริษัทผู้รับเหมามองเพียงเรื่องการก่อสร้างเท่านั้น แต่ไม่ได้มองถึงระบบนิเวศ เมื่อเกิดปัญหา เช่น จะทำอย่างไรให้ปลาสามารถผ่านเขื่อนไปได้ ก็ต้องสร้างทางปลาผ่านขึ้น จนไปกระทบต้นทุนสูงที่ขึ้นกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการตักตะกอนซึ่งยังสุ่มเสี่ยงลดรายได้และเพิ่มรายจ่ายด้วย
“เมื่อบริษัทมีรายได้จากการผลิตไฟฟ้าทำให้ไม่อยากหยุดเดินเครื่องบ่อย ๆ เพื่อตักตะกอน เพราะจะทำให้มีรายได้น้อยลง หากปล่อยให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเรื่อย ๆ จะมีรายได้มั่นคง เเต่การตักตะกอนจะน้อยลง” น.ส.สฤณี กล่าว และว่า ยิ่งหากเวียดนามและกัมพูชาเกิดผลกระทบ สองประเทศนี้มีสิทธิบอกให้หยุดโครงการได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธนาคารของไทยที่เสี่ยงจะไม่ได้รับเงินกู้คืน เป็นต้น
น.ส.สฤณี กล่าวด้วยว่า หากศาลปกครองสูงสุดรับฟ้อง ต่อมาอาจจะสั่งยกเลิกหรือชะลอสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับสปป.ลาว ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้ต้องระงับสินเชื่อโดยปริยาย โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะรัฐบาลปัจจุบันจะสั่งระงับสัญญาดังกล่าวตามเหตุผลของศาล เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นได้ ดังนั้น ธนาคารไทยควรทบทวนและมีท่าทีต่อโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี
" มีหลักฐานให้เชื่อได้ว่าลูกหนี้คือบริษัทผู้ดำเนินโครงการแจ้งเท็จ เช่น แจ้งเจ้าหนี้ว่าผ่านกระบวนการทั้งหมดตามข้อตกลงลุ่มน้ำโขงแล้ว ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิระงับสินเชื่อหรือคณะกรรมการธนาคารควรทบทวน หรือกรณีสุดท้าย ธนาคารเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งอาจถอนตัวไป แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะธนาคารส่วนใหญ่มีแนวคิด ‘ลงเรือลำเดียวกัน’ ก็จะรักษาความสัมพันธ์กับลูกหนี้"
ขณะที่นางเพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย International Rivers เปิดเผยความคืบหน้าคดีฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2557 ศาลปกครองกลางจะอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดจะรับพิจารณาคดีที่ชาวบ้านฟ้องร้องหน่วยงานรัฐทั้ง 5 แห่ง รวมถึง กฟผ. ตั้งแต่สิงหาคม 2555 ซึ่งทำความตกลงรับซื้อไฟฟ้า 95% จากเขื่อนไซยะบุรีหรือไม่
ส่วนศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้องจะมีกลไกขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร ผู้ประสานงานการรณรงค์ฯ กล่าวว่า การฟ้องร้องเป็นเพียงแนวทางหนึ่ง ซึ่งเราคาดหวังจะใช้คำสั่งศาลในการตรวจสอบในสิ่งที่ทำลายล้างภูมิภาค เพื่อชะลอและหาทางออกที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นและปฏิบัติตามสิ่งที่ควรทำตามกฎหมาย
ท้ายที่สุด นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นครราชสีมา กล่าวว่า โครงการเขื่อนไซยะบุรีจะเปลี่ยนโครงสร้างแม่น้ำโขงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติการณ์ โดยจะกระทบกระเทือนวิถีชีวิตของ 4 ประเทศ คือ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม
“แหล่งทุนของไทยมีการขยายตัวแบบสามานย์ ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อกฎหมาย วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ได้สร้างสมดุลมาเป็นล้านล้านปี” อดีต ส.ว.กล่าว และว่า ภายใน 2-3 ปี หากเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จจะทำลายธรรมชาติเหล่านี้ เพราะสร้างบนพื้นฐานไม่มีผู้เชี่ยวชาญสักคน และผู้สนับสนุนโครงการล้วนมีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงนับเป็นโครงการที่อัปลักษณ์ที่สุด
นายไกรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุรี เป็นการกระทำของทุนไทยโดยตรง และ ไม่ได้เกิดจากไทยต้องการไฟฟ้า แต่เป็นความโลภที่คุ้นเคยต่อพฤติกรรมที่จะทำอะไรก็ได้ ฉะนั้นการไม่เคารพกฎหมาย ธรรมชาติ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จึงไม่แตกต่างกันเลยกับสิ่งที่ม็อบเรียกว่า ‘สามานย์’
"ผมขอค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเต็มที่ เพราะข้อมูลยืนยันแล้วว่า เขื่อนในจีนได้ส่งผลกระทบแล้ว แล้วเขื่อนที่สร้างห่างไม่กี่กิโลเมตรจากไทยจะเกิดอะไรขึ้น"