การเมืองเรื่องตัวเลขแรงงานข้ามชาติกับมาตรการจัดระเบียบของคสช.
จากกระแสข่าวเรื่องนโยบายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่งผลกระทบให้มีแรงงานข้ามชาติกัมพูชาจำนวนมากทยอยเดินทางกลับประเทศต้นทาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการการประกอบกิจการและธุรกิจที่ใช้แรงงานข้ามชาติจนทำให้ทาง คสช.ต้องมีการแถลงข่าวยืนยันการไม่มีมาตรการส่งกลับแรงงานข้ามชาติ และอธิบายถึงสาเหตุการเดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติ โดยมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งให้เป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าว โดยมีเนื้อหาดังนี้
“เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 นายธนิต นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมจัดหางาน ชี้แจงตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย ผ่านการแถลงข่าวของ คสช. ว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยมี 3 สัญชาติ คือ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายประมาณ 408,507 คน และแรงงานที่ผิดกฎหมาย แต่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติประมาณ 1,800,000 คน โดยแรงงานกัมพูชามีจำนวนที่ถูกกฎหมายมากสุดกว่า 200,000 คน ขณะที่แรงงานที่ผิดกฎหมายคือแรงงานเมียนมาร์มีจำนวนกว่า 1,600,000 คน
อย่างไรก็ตาม มีข้อบังคับว่าแรงงานต่างด้าวที่ครบกำหนดวาระการจ้างงาน 4 ปี จะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ซึ่งในปี 2557 มีแรงงานกัมพูชาทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ครบวาระการจ้างงานกว่า 60,000 คน ส่วนแรงงานเมียนมาร์ครบกำหนดเดินทางกลับกว่า 260,000 คน และจะสามารถกลับเข้ามาทำงานใหม่ได้อีก 3 ปี
รองอธิบดีกรมการจัดหางานเปิดเผยด้วยว่า แรงงานส่วนใหญ่ที่เดินทางกลับมักชักชวนเพื่อนแรงงานให้เดินทางกลับด้วย ขณะเดียวกันบางส่วนได้กลับประเทศเพื่อทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน จากการประสานกับรัฐบาลกัมพูชา ยืนยันได้ว่าไม่มีหนังสือ หรือแจ้งประสานให้ส่งแรงงานกัมพูชากลับประเทศ”
หากพิจารณาข้อมูลของรองอธิบดีกรมการจัดหางงานที่นำเสนอในการแถลงข่าว (ถ้าหากตัวเลขดังกล่าวคือตัวเลขที่เป็นจริงในปัจจุบัน เพราะข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่ในเวบไซต์ของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวในวันที่ 17 มิถุนายน 2557 มีตัวเลขสถิติที่อ้างอิงได้ถึงเดือนเมษายน 2557ซึ่งตัวเลขพิสูจน์สัญชาติ 1,054,804 คน และนำเข้าตาม MoU 237,694 คน รวมทั้งหมด 1,292,498 คน อย่างไรก็ตามในที่นี้จำนวนอาจจะไม่ใช่ปัญหา จึงขอยึดตัวเลขจากการแถลงข่าวเป็นหลัก) ดูราวกับว่าในปัจจุบัน จะมีแรงงานผิดกฎหมายนับล้านคน โดยเฉพาะเป็นกลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ
ซึ่งในแง่ข้อเท็จจริงและสถานะตามกฎหมายของแรงงานกลุ่มพิสูจน์สัญชาติในปัจจุบันแล้ว แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้มีสถานะเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายผ่านกระบวนการปรับสถานะจากการรับรองของประเทศต้นทาง และได้รับการตรวจลงตราวีซ่าให้อยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายได้ ดังนั้นการนำเสนอว่าประเทศไทยมีแรงงานผิดกฎหมายนับล้านคนจากข้อมูลข้างต้นจึงเป็นข้อมูลที่น่าจะมีความเข้าใจคาดเคลื่อน และหากใช้ข้อมูลดังกล่าวในการจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายก็จะทำให้มาตรการจะผิดเป้าหมายไปค่อนข้างมาก
นอกจากนั้นกรณีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานครบตามเงื่อนไข 4 ปีซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เป็นการนำเข้าตาม MoU และกลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งข้อมูลของรองอธิบดีฯ ระบุว่ามีแรงงานกัมพูชาครบวาระการจ้างงานกว่า 60,000 คน และแรงงานพม่าครบกำหนด กว่า 260,000 คน ในแง่ข้อเท็จจริงแล้ว ได้มีมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานครบสี่ปีแล้ว และสิ้นสุดการอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทย โดยมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 25 มีนาคม 2557 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติซึ่งครบกำหนดวาระการจ้างงาน 4 ปี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติซึ่งครบกำหนดวาระการจ้างงาน 4 ปี ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติซึ่งครบกำหนดวาระการจ้างงาน 4 ปี ที่ถือหนังสือเดินทาง (Passport) หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) แต่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเกินกว่าระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเป็นเวลา 180 วัน หรือจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพื่อให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวไปขอรับการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ขอรับใบอนุญาตทำงาน ตามขั้นตอนและสถานที่ที่กรมการจัดหางานกำหนด
หลังจากนั้นมีประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ และการยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะตามมติคณะรัฐมนตรี 25 มีนาคม 2557 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติสามสัญชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและทำงานครบเงื่อนไข 4 ปีผ่อนผันอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อรอการดำเนินการตรวจลงตราให้อยู่ในราชอาณาจักร และขออนุญาตทำงาน และให้รับการตรวจลงตราตามอายุของหนังสือเดินทางชั่วคราวที่เหลืออยู่
หมายความว่า จะมีแรงงานข้ามชาติที่เข้าทำงานในประเทศไทยครบสี่ปี และต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางตามเงื่อนไขของ MoU เฉพาะในกลุ่มที่นำเข้าตาม MoU และทำงานครบสี่ปีแล้วเท่านั้น ซึ่งกลุ่มจะมีประกอบไปด้วยแรงงานข้ามชาติที่นำเข้าตาม MoU กัมพูชา 41,745 คน ลาว 8,740 คน และพม่า 4,658 คน เท่ากับว่าจะมีแรงงานที่ต้องเดินทางกลับทั้งสามสัญชาติแค่ 55,143 คนเท่านั้น ไม่ใช่ประมาณ 400,000 คนดังที่ปรากฎในข้อมูลที่นำเสนอเป็นข่าว
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแรงงานที่ทำงานครบสี่ปีแล้วจะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางสามปี จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงในการดำเนินการตามนโยบายและกฎหมายที่ออกมาในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และไม่ใช่สาหตุที่แรงงานข้ามชาติจะต้องเดินทางกลับประเทศเป็นจำนวนมากตามทีปรากฎเป็นข่าวแต่อย่างใด การนำเสนอข่าวในการแถลงข่าวของคสช. ซึ่งมีการให้ข้อมูลโดยกรมการจัดหางาน ขณะเดียวกันก็มีแรงงานข้ามชาติอีก 324,709 คนที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการรอรับการตรวจลงตราวีซ่า และขออนุญาตทำงานในประเทศไทยต่อ ซึ่งมีความเสี่ยงว่าหากมีมาตรการตรวจจับส่งกลับ แล้วเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจพบเอกสารที่หมดอายุไปแล้วของพวกเขา และไม่มีความเข้าใจแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้รับผ่อนผันให้อยู่อาศัยได้ชั่วคราวระหว่างรอการดำเนินการเรื่องเอกสารภายใน 180 วัน ก็มีความเสี่ยงที่จะมีมาตรการจับกุมและส่งกลับแรงงานเหล่านี้ได้ ซึ่งจะกลายเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงทางเศรษฐกิจตามมา ดังนั้นกลุ่มนี้จึงต้องมีแนวทางในการทำความเข้าใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐและมีมาตรการให้การคุ้มครองตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรี 25 มีนาคม 2557 อย่างจริงจัง
การนำเสนอข้อมูลผ่านการแถลงข่าวดังที่ได้ข่าวไปแล้วข้างต้น อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ และน่ากังวลว่าหากมีมาตรการดำเนินการจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติบนข้อมูลที่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนเช่นนี้ จะมีผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและเศรษฐกิจไทยอย่างร้ายแรงได้
นโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติที่จะแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติได้จริงนั้นควรวางอยู่บนความเข้าใจในสถานการณ์ที่ชัดเจนรอบด้าน และมีข้อมูลที่ถูกต้อง เปิดให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนได้นำเสนอความคิดเห็นและจัดทำแผนแม่บทระยะยาวร่วมกัน เพื่อจะเป็นทิศทางในการนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในเรื่องแรงงานที่จะมีผลดีต่อประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนโดยรวมต่อไป
ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวของสำนักข่าวไทย เรื่องตัวเลขแรงงานต่างด้าว เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557
ขอบคุณภาพจาก :: กรุงเทพธุรกิจ