ก.แรงงานฯ ร่าง 10 นโยบาย ต้อนรับรัฐบาลใหม่
ปลัดแรงงานฯเผย ตั้งร่าง 10 นโยบายเตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ หนุนค่าจ้าง 300 บาท ทำมาตรฐานฝีมืออาเซียน ตั้งกองทุนช่วยเอสเอ็มอี ส่งเสริมคนงานไทยโกอินเตอร์ ปรับปรุงประโยชน์ประกันสังคมแรงงานนอกระบบ
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานจัดเตรียม 10 นโยบายด้านแรงงานเชิงรุกเตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ โดย นโยบายสำคัญ ได้แก่ “ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” ที่มุ่งยกระดับรายได้ของแรงงาน และเน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน รวมทั้งการปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งประกาศใน 11 อาชีพแรกแล้วตั้งแต่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา และในเดือน ต.ค.นี้จะประกาศใช้อีก 11 สาขาอาชีพ
สำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยหรือ เอสเอ็มอี ซึ่งจะได้รับผลกระทบการปรับค่าแรง ก็จะจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี ส่วนผู้ประกอบการทั่วไปต้องใช้มาตรการทางภาษีเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย
นายสมเกียรติ กล่าวว่า นโยบายต่อมาคือ เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมหลัก วางยุทธศาสตร์ 2 ด้าน 1.เพิ่มกำลังแรงงานเชิงปริมาณและคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้งผู้จบการศึกษาใหม่และผู้ว่างงาน ผู้ที่ทำงานไม่เต็มศักยภาพ ผู้พิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งนำเข้าแรงงานต่างด้าวเท่าที่จำเป็น 2.การเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยเพิ่มทักษะฝีมือ สนับสนุนให้สถานประกอบการใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ตลอดจนเน้นการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ และขณะนี้กำลังเร่งจัดทำฐานข้อมูลกำลังแรงงาน “ Labour Bank ” ที่จะสามารถเชื่อมโยงความต้องการจ้างงานและกำลังคนในวัยแรงงานด้วย
นโยบายแร่งส่งเสริมทักษะพัฒนาอาชีพแรงงาน เร่งรัดจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีหลักสูตรที่สถานประกอบการสามารถนำไปฝึกอบรมเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้น ประกอบกับการเตรียมเข้าสู่การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 คือการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานกลางอาเซียน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานระดับภูมิภาค
นโยบายส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะฝีมือออกไปสู่ภาคบริการต่างๆนอกประเทศ ด้วยการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานต่างประเทศ รวมทั้งภาษาและพื้นฐานความรู้การปรับตัวในการทำงานและการใช้ชีวิตในต่างแดน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงานไทยในต่างประเทศ รวมทั้งยังคงรักษาฐานตลาดแรงงานไร้ฝีมือที่มีอยู่ในต่างประเทศ
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า นโยบายการจัดระบบสวัสดิการสังคม ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้มากขึ้น เช่น ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล ขยายสิทธิการประกันสังคมกรณีว่างงานเป็นการประกันการมีงานทำ การขยายความคุ้มครองประกันสังคมตามมาตรา 40 สำหรับแรงงานนอกระบบ ส่งเสริมสถานประกอบการจัดสวัสดิการเพิ่มเติมจากที่กฎหมายกำหนดโดยใช้มาตรการจูงใจด้านภาษี
นโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พัฒนาระบบการขออนุญาตทำงานให้มีความสะดวก รวดเร็วและถูกต้องยิ่งขึ้น ควบคุมการใช้แรงงานต่างด้าวเฉพาะแรงงานถูกกฎหมายตามสาขาอาชีพที่จำเป็น รวมทั้งคุ้มครองแรงงานต่างด้าวตามกฎหมาย
นโยบายเน้นการใช้กลไกระบบไตรภาคีในการสนับสนุนให้มีการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน นโยบายสนับสนุนรณรงค์ลดปัญหาการระบาดของยาเสพติดในสถานประกอบการ มีโครงการโรงงานสีขาว
นโยบายด้านต่างประเทศ มีหน่วยงานดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศ และดูแลเรื่องการขยายตลาดแรงงานในพื้นที่ 13 แห่ง 11 ประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศด้วยระบบการจัดส่งโดยรัฐ (G to G) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการให้ความคุ้มครองดูแลการรักษาสิทธิประโยชน์ที่รวมถึงสิทธิมนุษยชนของแรงงานไทยและการป้องกันการปราบปรามการค้ามนุษย์ .
ที่มาภาพ : http://www.smesmarket.com/news/article/368