เมื่อเฮโรอีนหาง่ายแค่เดินข้ามแม่น้ำ...กับการดึงชุมชนไม่ให้ "ตามน้ำ" ของศูนย์โอโซน
หากดูตามสถิติ แม้เฮโรอีนจะไม่ใช่ยาเสพติดยอดนิยมของนักเสพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็มีปริมาณคดีที่เจ้าหน้าที่จับกุมไม่น้อยเหมือนกัน...
ปัญหาสำคัญที่เกิดตามมาจากการใช้เฮโรอีนซึ่งแตกต่างจากยาเสพติดชนิดอื่นก็คือ การติดเชื้อเอชไอวีจากการใช้ "เข็มฉีดยา" ร่วมกัน
และนี่คือที่มาของการก่อตั้ง "ศูนย์โอโซน" เพื่อให้เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและดูแลผู้ใช้สารเสพติด รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เยาวชนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศมองเห็นถึงพิษภัยของยานรก และผลร้ายที่จะตามมา
"ศูนย์โอโซน" เป็นโครงการของมูลนิธิพีเอสไอ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหากำไร มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มประชากรที่ยากจนและด้อยโอกาสได้ดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาวะ
ที่ จ.นราธิวาส มีศูนย์โอโซน 2 ศูนย์ ตั้งอยู่ใน อ.สุไหงโก-ลก และ อ.แว้ง
สาเหตุที่เลือกพื้นที่ 2 อำเภอนี้ เพราะเป็นแหล่งจำหน่ายที่สำคัญ นักเสพสามารถหาซื้อได้ง่าย แถมยังราคาถูก
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเยาวชนที่นั่นหากต้องการเสพยา ก็แค่เดินข้ามแม่น้ำโก-ลกซึ่งมีหลายจุดที่น้ำน้อยจนสามารถเดินท่องข้ามไป-มาได้ โดยเฉพาะบริเวณหมู่ 2 ต.โละจูด อ.แว้ง มีช่องทางสั้นๆ เข้าไปในสวนยางพาราเพื่อไปยังริมแม่น้ำ จากนั้นก็เดินข้ามแม่น้ำไปเสพยาฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน มีเต็นท์ตั้งเป็นเพิงรออย่างโจ๋งครึ่มไม่อายสายตาใคร และมีผู้ค้ารอขาย เมื่อลูกค้าเดินข้ามไปก็จ่ายเงิน แล้วนำยาไปเสพตามพุ่มไม้ เสร็จแล้วก็แวะพักที่เต็นท์ สบายตัวเมื่อไรก็เดินข้ามแม่น้ำกลับ
สนนราคาการเสพครั้งละ 100 บาท โดยผู้เสพที่รู้งานจะเตรียมกางเกงขาสั้นไปเปลี่ยนเวลาเดินข้ามแม่น้ำด้วย!
เมื่อยาเสพติดหาง่าย คนก็ติดยากันงอมแงม อับดุลเลาะมาน กึจิ๊ หนุ่มวัย 22 ปี อาชีพรับจ้างกรีดยาง เล่าว่า ทำงานได้ค่าแรงวันละ 200 บาท แต่ไม่เคยมีเหลือ เพราะต้องนำเงินไปซื้อยาเสพ เนื่องจากหาเสพง่ายแถวๆ ตะเข็บชายแดนริมแม่น้ำโก-ลก ฉะนั้นทำงานเท่าไรก็ไม่พอกิน
ด้วยเหตุนี้เขาจึงหันหน้าเข้าพึ่งพา "ศูนย์โอโซน"
น.ส.ลัดดา นิเงาะ ผู้ประสานศูนย์โอโซน อ.สุไหงโก-ลก เล่าถึงวิธีการทำงานของศููนย์ฯว่า เน้นพัฒนาศักยภาพคนมากกว่าการสงเคราะห์ โดยสร้างเครือข่ายจากผู้เสพที่ต้องการเลิกยาให้มาสมัครเป็นสมาชิก จากนั้นทางศูนย์ฯจะฝึกอบรมจนแน่ใจว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็จะใช้สมาชิกเหล่านี้เป็นอาสาสมัครออกไปชักชวนเพื่อนพ้อง ญาติพี่น้องในชุมชนให้เข้าร่วมกิจกรรม
ศูนย์โอโซน อ.สุไหงโก-ลก เปิดมาตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันมีสมาชิกลงทะเบียนจำนวน 494 คน เป็นชาย 491 คน หญิง 3 คน สาระหลักของกิจกรรมคือการรณรงค์ให้เลิกยาโดยใช้ "เมทาโดน" หากยังไม่พร้อมหรือยังเลิกไม่ได้ก็ไม่ควรใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
"เมทาโดน" เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น มีฤทธิ์คล้ายเฮโรอีน วงการแพทย์จึงนำมาใช้บำบัดรักษาผู้ติดยา โดยให้เมทาโดนซึ่งออกฤทธิ์นานกว่าแต่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพแทน เพื่อลดอาการอยากเสพ ซึ่งเมทาโดนถูกบรรจุในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี 2551 ด้วย
ในแต่ละวัน...สมาชิกของศูนย์โอโซนจะลงพื้นที่ชุมชนเพื่อรณรงค์ชักชวนให้ลด ละ เลิกยาเสพติด คนที่ยังไม่พร้อมเลิกก็จะแจกเข็มฉีดยาให้ เพื่อให้ใช้เข็มใหม่ อย่างน้อยก็เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีในเบื้องต้นก่อน เมื่อพบปะกันบ่อยๆ จนมีความไว้วางใจกันแล้ว ก็จะดึงตัวผู้เสพจากในชุมชนเข้าไปอบรมที่ศูนย์ฯ และให้ยาเมทาโดนเพื่อปรับพฤติกรรมการเสพ กระทั่งเลิกได้ในที่สุด
ทั้งนี้ หากผู้เสพรายใดยอมให้ตรวจเลือด และพบมีเชื้อเอชไอวี ก็จะส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล
อย่างไรก็ดี การจัดกิจกรรม "แจกเข็มฉีดยา" และ "เมทาโดน" ในพื้นที่อ่อนไหวอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูจะมีอุปสรรคปัญหาไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากผู้ปกครองของเยาวชนหลายคนยังไม่ยอมรับวิธีการนี้ เช่นเดียวกับผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนอีกจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจหลักการทำงานที่ใช้ผู้เสพยาไปแจกเข็มฉีดยา
ที่สำคัญตำรวจ ทหารที่ตั้งจุดตรวจจุดสกัดอยู่ในพื้นที่ก็ไม่ค่อยเข้าใจ ทำให้สมาชิกศูนย์โอโซนเสี่ยงถูกจับกุมหรือถูกเพ่งเล็งได้เหมือนกัน
แต่ถึงกระนั้น ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เริ่มมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี...
สุชาดา พันธุ์นรา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก บอกว่า ชุมชนริมแม่น้ำโก-ลกเป็นทั้งแหล่งจำหน่ายและแหล่งเสพยาเสพติด ทำให้ผู้เสพเข้าถึงได้ง่าย
"ที่ผ่านมายาเสพติดระบาดหนักเพราะคนไม่มีความรู้ ส่วนหนึ่งทำงานใช้แรงงาน และผู้นำชุมชนก็ไม่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เรื่องนี้ทางเทศบาลได้ทำโครงการนำร่องให้เยาวชนเข้ารับการอบรมจากทหารและตำรวจ ระยะหลังมีหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนมากขึ้น ทำให้เทศบาลสามารถลดจำนวนผู้เสพลงไปได้มาก"
นายกเล็กหญิงจากสุไหงโก-ลก บอกด้วยว่า กำลังทำโครงการดึงเยาวชนกลุ่มเสี่ยงไปอบรมนอกพื้นที่ เช่น ป่าฮาลาบาลา จ.ยะลา เพื่อให้ได้อยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติและบรรยากาศที่อบอุ่น รวมทั้งจัดให้ผู้ปกครองสามารถตามไปดูบุตรหลานของตนเองได้ จะได้เกิดความไว้วางใจ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง โรงเรียนในเขตเทศบาลก็มีโครงการ "รั้วสีขาว" ทุกโรงเรียน และพร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมของศูนย์โอโซนด้วย
ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังในการแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : สิทธิชัย นครวิลัย เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
บรรยายภาพ :
1 ศูนย์โอโซนที่ จ.นราธิวาส
2 ตารางแสดงสถิติคดียาเสพติด ผู้ต้องหา และปริมาณของกลางที่ยึดได้ เปรียบเทียบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2555
ขอบคุณ : กราฟฟิกตารางโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ