นักสิทธิฯ ระบุ 16 ปี 28 ศพ แกนนำชาวบ้านคัดค้านโครงการกระทบชุมชน
อดีต กก.สิทธิฯ เผยกระสุนปืนไม่เคยดับ เพราะรัฐเพิกเฉยสิทธิชุมชน คดีแกนนำชาวบ้านตาย ส่วนมากสาวไม่ถึงตัวการ โครงการต้นเหตุยังเดินหน้าได้ต่อในหลายพื้นที่ “เมียนักต่อสู้บ่อนอก” เปิดโปงผลประโยชน์มหาศาลถ่านหิน ตั้งแต่ทุนท้องถิ่น-ระดับประเทศ-บรรษัทข้ามชาติ
จากกรณีที่ นายทองนาค เสวกจินดา แกนนำคัดค้านโรงงานถ่านหิน ต.ท่าทราย จ.สมุทรสาคร ถูกสังหารเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 54 ล่าสุดตำรวจได้ตัวคนร้ายได้ 5 ราย และให้ซัดทอดผู้จ้างวานเป็นนักธุรกิจถ่านหินในจังหวัด และศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีถ่านหินจังหวัดสมุทรสาคร ให้ระงับการประกอบกิจการถ่านหินทุกกรณี
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2538-2554 พบว่ามีแกนนำชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านโครงการต่างๆ ที่สร้างผลกระทบกับชุมชน และถูกสังหารเสียชีวิต 28 ราย (เท่าที่ปรากฏต่อสาธารณะ) จาก 27 กรณีความขัดแย้ง ซึ่ง นางสุนีย์ ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชนว่า ความสูญเสียดังกล่าวสะท้อนบทเรียน 4 ประการ ได้แก่ หนึ่ง-สิทธิเสรีภาพนั้นจำเป็นต้องได้มาด้วยการต่อสู้ แต่ก็ไม่มีใครสามารถคุ้มครองชีวิตพวกเขาที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ได้
สอง-หลายกรณีเป็นการลุกขึ้นมาใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องฐานทรัพยากร และวิถีชุมชน ซึ่งสะท้อนว่าสถานการณ์แย่งชิงฐานทรัพยากรนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ข้อสาม-การเพิกเฉยไม่เคารพสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ของรัฐ กฎหมาย นโยบาย โดยไม่ได้ช่วยปกป้องหรือเยียวยาชาวบ้าน ทั้งที่รัฐมีหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหา หนำซ้ำเจ้าหน้าที่รัฐมักคิดว่า การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะต้องการเรียกร้องผลประโยชน์จากกลุ่มทุน เป็นเรื่องของการก่อความวุ่นวายหรือขัดขวางการพัฒนา
“ความขัดแย้งระหว่างทุนกับชาวบ้านเป็นคดีความมากมาย มีทั้งที่แกนนำชาวบ้านถูกยิงตาย หรือถูกจับติดคุก แต่รัฐที่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการต่างๆของนายทุนและปราบปรามการกระทำผิด กลับไม่ดำเนินการ ทำให้กลุ่มผู้มีผลประโยชน์ฮึกเหิมใช้อำนาจเหนือกฎหมายฆ่าชาวบ้านเพื่อยุติปัญหามาตลอด ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีกรณีใดเลยที่จะยกเป็นตัวอย่างได้ว่า รัฐเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านทันท่วงทีก่อนเกิดความรุนแรง ทั้งที่ส่วนใหญ่การต่อสู้ในพื้นที่ใช้เวลากว่า 5 -10 ปี” อดีต กสม. กล่าว
ข้อสี่- การต่อสู้และความสูญเสียของขบวนชาวบ้าน เชื่อมโยงไปถึงกระบวนการยุติธรรม ที่วันนี้ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตจำนวนมากยังต้องเจ็บปวดที่ไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ หรือสาวไปไม่ถึงคนบงการ
“มีหลายกรณีจับกุมผู้กระทำผิดไม่ได้ และส่วนที่จับกุมส่วนใหญ่สาวไม่ถึงผู้จ้างวาน ที่ผ่านมามีหลายคดีที่ดูเหมือนว่าป็นชัยชนะของชาวบ้าน แต่ภายหลังก็มีกลุ่มทุนเข้าไปเปิดกิจการในพื้นที่อีก เช่น กรณีการเสียชีวิตของนายพิทักษ์ โตนวุธ แกนนำคัดค้านโรงโม่หิน จ.พิษณุโลก”
ด้าน นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของนายเจริญ วัดอักษร อดีตแกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเรียกร้องให้ตรวจสอบการบุกรุกที่สาธารณะของนายทุนผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น จนถูกยิงเสียชีวิตในปี 2547 เปิดเผยว่า การที่ชาวบ้านสมุทรสาครออกมาต่อสู้ครั้งนี้ เพราะถ่านหินมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างมาก แต่การต่อสู้นี้ทำให้กลุ่มทุนเสียผลประโยชน์ ที่ไม่ใช่แค่ระดับท้องถิ่น แต่เป็นระดับประเทศ และเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงไปถึงบรรษัทข้ามชาติ
“เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐจะมองชาวบ้านและกลุ่มคัดค้านว่าเป็นพวกถ่วงความเจริญ และผู้ร้ายที่ขัดขวางผลประโยชน์ของประเทศชาติ” นางกรณ์อุมา กล่าว.
ล้อมกรอบ รายชื่อ แกนนำชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านโครงการต่างๆที่สร้างผลกระทบกับชุมชน และถูกสังหาร ปี 2538 1. อาจารย์บุญทวี อุปการะกุล ผู้นำการรณรงค์คัดค้านมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรม จ. ลำพูน ถูกทำร้ายตกรถไฟเสียชีวิต ปี 2539
4. นายทองอินทร์ แก้ววัตตา แกนนำคัดค้านการสร้างโรงงานกำจัดกากสารอุตสาหกรรมของบริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (เจนโก้) จ.ระยอง ถูกลอบสังหารเสียชีวิต
5. นายทุนหรือจุน บุญขุนทด ผู้นำสมัชชาคนจน แกนนำการคัดค้านการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภอ.หนองบัวระเหว ยิงเสียชีวิต
ปี 2542 6. กำนันทองม้วน คำแจ่ม ผู้นำการคัดค้านการให้สัมปทานโรงโม่หินจ.หนองบัวลำภู ถูกยิงเสียชีวิต
7. นายสม หอมพรหม ถูกยิงเสียชีวิตพร้อมกำนันทองม้วน
8. นายอารีย์ สงเคราะห์ ผู้นำการต่อต้านการบุรุกป่าและรณรงค์ปกป้องผืนป่าต้นน้ำคลองคราม จ.สุราษฎร์ธานี ถูกยิงเสียชีวิต
ปี 2544 9. นายจุรินทร์ ราชพล นักอนุรักษ์ที่ต่อสู้คัดค้านการทำลายพื้นที่ป่าชายเลน ต.บ้านป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ถูกยิงเสียชีวิต ภายหลังการเสียชีวิต ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นที่พยายามนำเสนอข่าว ก็ถูกข่มขู่คุกคาม
10. นายนรินทร์ โพธิ์แดง ชาวบ้านเขาชะอางกลางทุ่ง อ.เขาชะเมา จ.ระยอง แกนนำต่อต้านโรงโม่หินของนักการเมืองระดับชาติในเขตพื้นที่ จ.ระยอง ถูกยิงเสียชีวิต ปัจจุบันยังจับคนผิดมาลงโทษไม่ได้ และยังมีการข่มขู่กลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านอย่างต่อเนื่อง
11. นายพิทักษ์ โตนวุธ แกนชาวบ้านลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ลุกขึ้นต่อสู้คัดค้านโรงโม่หินของนักการเมืองระดับชาติ ที่บุกรุกป่าอนุรักษ์ ถูกยิงเสียชีวิต
12. นางฉวีวรรณ ปึกสูงเนิน เจ้าหน้าที่ อบต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ที่ตรวจสอบเปิดโปรงความไม่โปร่งใสในการประมูลงานก่อสร้างระหว่าง อบต.กับผู้รับเหมา ถูกยิงเสียชีวิต
13. นายแก้ว ปินปันมา สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ แกนนำชาวบ้านที่เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่กิ่ง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ขัดแย้งกับนายทุน ถูกยิงเสียชีวิต
14. นายสุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิตย์ ชาว อ.บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แกนนำชาวบ้านคัดค้านโครงการกำจัดขยะราชาเทวะ ซึ่งเป็นโครงการที่ผิดกฎหมาย ถูกยิงเสียชีวิต
15. นายสมพร ชนะพล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำกระแดะ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี คัดค้านการสร้างเขื่อนคลองกระแดะ ถูกยิงเสียชีวิต
ปี 2545 16. นายบุญสม นิ่มน้อย แกนนำกลุ่มอนุรักษ์และคัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงแยกคอนเดนเสทในพื้นที่ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ถูกยิงเสียชีวิต ไม่มีใครกล้าเป็นพยานในคดีเพราะถูกข่มขู่คุกคาม
17. นายปรีชา ทองแป้น สารวัตรกำนัน ต.ควนกรด อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช แกนนำเรียกร้องสิทธิชุมชนจากโครงการก่อสร้างบำบัดน้ำเสียเทศบาล ต.ปากแพรก อ.ทุ่งสง นครศรีธรรมราช ถูกสังหาร
18. คุณบุญฤทธิ์ ชาญณรงค์ แกนนำชาวบ้านเรียกร้องสิทธิชุมชนและต่อต้านการค้าไม้เถื่อนตำบลคลองพา อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี
19. คุณบุญยงค์ อินต๊ะวงศ์ แกนนำชาวบ้านร่องห้า ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ลุกขึ้นต่อสู้กับโรงโม่หินดอยแม่ออกรูของนักการเมืองระดับชาติที่บุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ ถูกยิงเสียชีวิตคาบ้านพัก
ปี 2546
20. นายคำปัน สุกใส แกนนำชาวบ้านป่าชุมชนเชียงดาว ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ลุกขึ้นต่อสู้ขัดขวางการบุกรุกพื้นที่ป่าชุมชน ถูกยิงเสียชีวิต 21. นายชวน ชำนาญกิจ แกนนำชุมชนต้านยาเสพติด อ.ฉวาง จ.นครราชสีมา ถูกยิงเสียชีวิต
22. นายสำเนา ศรีสงคราม ประธานชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น แกนนำชาวบ้านต่อสู้กับการโรงงานที่ทำให้แม่น้ำพองเน่าเสีย ถูกยิงเสียชีวิต
ปี 2547
23. ทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่ทำคดีช่วยเหลือชาวบ้านมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกอุ้มหายตัวไปกลางกรุงเทพฯ โดยน้ำมือเจ้าหน้าที่รัฐ 24. นายเจริญ วัดอักษร แกนนำชาวบ้านบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเรียกร้องให้ตรวจสอบการบุกรุกที่สาธารณะของนายทุนผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ถูกยิงเสียชีวิต
25. นายสุพล ศิริจันทร์ แกนนำชาวบ้านเครือข่ายป่าชุมชนแม่มอก จ.ลำปาง ต่อสู้ขัดขวางขบวนการค้าไม้เถื่อน ถูกยิงเสียชีวิต
26. คุณพักตร์วิภา เฉลิมกลิ่น แกนนำชาวบ้านหัวกระบือ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนทราย ถูกยิงเสียชีวิต
ปี 2548 และ ปี 2554 (ขอบคุณ : ข้อมูลบางส่วนจาก คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน). |