"พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์" : แจงเหตุผลสอบ 8 โครงการส่อทุจริต
"พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์" : แจงเหตุผลสอบ 8 โครงการส่อทุจริต สั่งชะลอจัดซื้อแท็บเล็ต "สุวรรภูมิ" เฟส 2 ดำเนินการล่าช้าไป จี้ "กสทช." แจงคูปองซื้อกล่องดิจิตอล ชี้ 22 ล้านใบมากไป-มูลค่าพันต่อกล่องสูงเกิน
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557“พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์” ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) แถลงเหตุผลที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ 8 โครงการ ที่ส่อไปในทางทุจริต
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงนำรายละเอียดมานำเสนอ เพื่อให้เห็นเหตุผลความจำเป็นในการเข้ามาตรวจสอบโครงการของรัฐ
1.โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
พล.ท.อนันตชัย : ล่าสุด คตร.ได้จัดคณะอนุกรรมการไปที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยกระทรวงศึกษาธิการก็ได้มีการทบทวนตัวเอง และเสนอเองว่า จะชะลอโครงการของปี 56 ที่ยังค้างอยู่ราว 1 พันกว่าล้านบาท และชะลอโครงการปี 57 ที่เหลืออยู่ 5 พันกว่าล้านบาท รวมทั้งการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติในระดับ คสช. เพียงแต่ทางกระทรวงเสนอทบทวนเอง และทาง คตร.ก็มารายงานต่อหัวหน้า คสช.ก่อนที่ให้ทางฝ่ายสังคมจิตวิทยาที่ดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ไปดูว่ามีโครงการใดบ้างที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันแล้วมาเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงการ
สำหรับโครงการแท็บเล็ต เราได้รับข้อมูลบางส่วนจาก สตง.จึงเข้าไปตรวจสอบ แต่ไม่ได้คิดว่าโครงการผิดหรือถูกอย่างไร เพียงแต่เข้าไปช่วยเหลือในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น จะได้ใช้ประโยชน์ได้
2.โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช.
พล.ท.อนันตชัย : ขณะนี้ คตร.ได้เข้าตรวจในส่วนของการแจกคูปองให้แก่ประชาชนเพื่อซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล (Set top box) โดยดูในส่วนของความคุ้มค่า และวิธีการแจก โดยวิเคราะห์ว่าตัวเลขจำนวนคูปองสำหรับการซื้อ 22 ล้านกล่องนั้นมาจากอะไร รวมทั้งที่มาของมูลค่าคูปอง 1,000 บาทต่อใบมาจากไหน เพราะโดยส่วนตัวเห็นว่าสูงเกินไป และเห็นควรจะปรับลดลง ซึ่งกสทช.กำลังจะส่งเอกสารมาชี้แจง
“เบื้องต้นต้องมีการตีความกันอยู่ว่าวัตถุประสงค์ในการแจกคูปองเพื่อซื้อกล่องเพื่ออะไร ซึ่งวัตถุประสงค์ต้องชัดเจน หากไม่ชัดเจนก็จำเป็นต้องทบทวน เมื่อเสร็จแล้วก็สามารถดำเนินการได้เลย โดย กสทช.จะเข้ามาชี้แจงในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.) หากชี้แจงชัดเจน ก็ดำเนินการต่อได้”
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าคสช.จะให้กสทช. ส่งรายได้จากการประมูลต่างๆให้เป็นของภาครัฐนั้น กสทช.เป็นหน่วยงานที่มีรายได้พอสมควร หากรายได้ดังกล่าวมาทำประโยชน์ให้กับระบบงบประมาณได้ ก็จะทำให้สามารถทำงานด้านอื่นได้มากขึ้น ก็มีแนวคิดที่จะนำรายได้ส่วนอื่นเข้าสู่ระบบงบประมาณของภาครัฐได้หรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องดูด้วยว่า กสทช.มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ก็ต้องคำนวณออกมาด้วย
3.กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
พล.ท.อนันตพร : เป็นเพียงการเข้าไปตรวจสอบการอนุมัติเงินกองทุนให้แก่โครงการอนุรักษ์ต่างๆค่อนข้างเป็นเบี้ยหัวแตก จึงอยากให้ดำเนินการให้ได้ประโยชน์จริง โดยให้ไปดูว่ามีแผนแม่บท และการดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นอาจจะมีการปรับแผนให้กระชับและมีผลประโยชน์ต่อส่วนร่วมมากขึ้น ขณะที่โครงการโครงข่าย 3 จีของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นั้นก็เป็นการดูเรื่องความคุ้มค่าและการแบ่งสิทธิประโยชน์ให้แก่ภาครัฐว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
4.โครงการจัดหารถรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และโครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
พล.ท.อนันตพร : อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งคตร.จะเข้าไปตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ซึ่งเท่าที่ดูอาจจะมีการปรับราคากลาง และทำทีโออาร์ให้โปร่งใสมากขึ้น
5.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 (ปี 2554 – 2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)
พล.ท.อนันตพร : โครงการล่าช้ากว่าแผนมาก เพราะเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2554 แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการ คตร.จึงต้องเข้าไปดูแล คตร.จึงต้องเข้าไปตรวจสอบถึงสาเหตุที่ล้าช้า
6.โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
พล.ท.อนันตพร : คตร.ต้องการเข้าไปตรวจสอบความคุ้มค่าของระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างภาครัฐกับเอกชน รวมทั้งต้องการตรวจสอบด้วยว่าภาครัฐเป็นผู้เสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์ในโครงการเหล่านี้