นักวิชาการชี้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่กระทบมั่นคง ดัน 10 จว.ต้นแบบ
‘จรัส สุวรรณมาลา’ ชี้เลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดปกครองตนเองไม่กระทบความมั่นคง ทำหน้าที่คล้ายกทม.-พัทยา หวัง 10 จังหวัดขับเคลื่อนต้นเเบบ เผยแนวคิดตั้ง 'ตำรวจจังหวัด' ดูแลความสงบท้องถิ่นไม่ใช่สะสมกองกำลัง ให้สิทธิพื้นที่กำหนดนโยบายยุบเลิกกำนัน-ผญบ.ตามเหมาะสม
จากกรณีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงรายละเอียด และยุทธศาสตร์ การจัดทำกรอบงบประมาณ ปี 2558 และ การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2557 ให้กับหัวหน้าส่วนราชการ และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต
โดยหนึ่งในหลายเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึง คือ ประเด็นไม่เห็นด้วยกับการยุบเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้านและเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนกรณีปฏิรูประบบตำรวจให้สังกัดท้องถิ่น ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า แม้ต่างประเทศทำได้ แต่ไทยทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะจะหางบประมาณส่วนไหนมาดูแล ที่สำคัญ ยังหวั่นว่า หากแต่ละพื้นที่มีกำลังเป็นของตนเองแล้วจะรบกันได้ง่าย
ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดปกครองตนเองทำให้ทหารกลัวเรื่องความมั่นคง ซึ่งจะทำให้ไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัดจากการแต่งตั้ง ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนจังหวัดปกครองตนเองพร้อมกันทั้งประเทศ แต่ให้ทำเฉพาะจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน เช่น จ.เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น ระยอง ชลบุรี ให้มีรูปแบบการปกครองแบบกรุงเทพฯ ที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่ไม่ต่างจากนายกเทศมนตรีระดับจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เห็นจะเกิดอะไรขึ้น
“รัฐจัดสรรงบประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท แทนที่จะจัดสรรผ่านกรมก็สามารถผ่านจังหวัดได้เลย ซึ่งในปัจจุบันมี 2 แห่ง คือ กรุงเทพฯ กับพัทยา” นักวิชาการ กล่าว และว่า คราวนี้จะจัดรูปแบบการปกครองพิเศษอีก 10 จังหวัดจะเป็นอะไรไป แล้วค่อยดูกันอีกครั้งว่าจังหวัดไหนมีความพร้อมก่อนลงประชามติ
เมื่อถามว่าจังหวัดปกครองตนเองจะต้องยุบเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือไม่ ศ.ดร.จรัส ระบุว่า จะมีหรือไม่มีขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด แต่จะต้องทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนองค์กรภาคประชาชนระดับล่าง ไม่จำเป็นต้องตั้งสถาบัน ซึ่งสามารถออกแบบภายในจังหวัดกันได้ เช่น เลือกยุบองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมกับเทศบาล เพื่อให้มีเขตพื้นที่ใหญ่ขึ้นก็ทำได้ ไม่ต้องมาทำที่ส่วนกลาง
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวถึงวิธีป้องกันผู้ว่าฯ รวบอำนาจเป็นเจ้าพ่อเสียเอง จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของประชาชนในจังหวัด โดยมีสภาจังหวัด และสภาประชาชน เปรียบเสมือนเวทีพูดคุย ปรึกษาหารือ เสนอร่างกฎหมาย รวมถึงการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร หากมีการทุจริตคดโกงเกิดขึ้น สภาเหล่านี้จะออกมาโวยวายให้เกิดการรับฟังเสียงของประชาชน
ศ.ดร.จรัส กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นการปฏิรูประบบตำรวจ แนวคิดหนึ่งต้องการให้ตำรวจระดับจังหวัดทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งสามารถทำได้ในแต่ละพื้นที่ ดังเช่น ญี่ปุ่น ที่มีตำรวจระดับจังหวัดหมดเลย หรือในหลายประเทศมีตำรวจเทศบาลและมลรัฐ ส่วนที่มีตำรวจระดับชาติอย่างอินโดนีเซียก็มีวิธีการบริหารโดยการกระจายอำนาจตำรวจด้วย
“การกระจายอำนาจบริหารงานของตำรวจไปขึ้นกับจังหวัดนั้นจะมีคณะกรรมการที่มีตัวแทนของตำรวจและประชาชนกำกับอยู่ มิได้ขึ้นกับผู้ว่าฯ” นักวิชาการ กล่าว และว่า ผู้ว่าฯ มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ นโยบายรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น แต่ส่วนอื่นให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตำรวจเหมือนญี่ปุ่น
ส่วนข้อกังวลมีตำรวจจังหวัดแล้วจะเกิดกองกำลังภายในนั้น ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า คงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะยังจำเป็นต้องมีตำรวจของประเทศอยู่ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มิใช่มีตำรวจจังหวัดแล้วจะไม่มีระดับบนเลย
จังหวัดปกครองตนเอง ทิศทางใหม่ของโลก
ด้านนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ วิทยาลัยจัดการทางสังคม กล่าวว่า ถ้าเราเข้าใจข้อเท็จจริงพื้นฐานของสังคมไทยจะพบว่า มีบริบทที่หลากหลาย ซึ่งการปกครองที่ผ่านมาแบบรวมศูนย์อำนาจไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เพราะฉะนั้นการปกครองดังกล่าวจึงไม่ตอบโจทย์
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีความพยายามกระจายอำนาจมาเป็นระยะ เริ่มตั้งแต่ การถือกำเนิดสุขาภิบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพียงแต่สาเหตุที่นำเสนอเรื่องจังหวัดปกครองตนเอง เพราะเป็นกระบวนการกระจายอำนาจเชิงคุณภาพที่ประชาชนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง รวมทั้งมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น
“จังหวัดปกครองตนเองเป็นทิศทางสำคัญของโลกด้วยซ้ำ เพราะประชาชนโตขึ้นและเรียนรู้มากขึ้น ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตนเองมากขึ้น หรือว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมมากขึ้น เรียกว่าเป็นพัฒนาการโดยธรรมชาติ ซึ่งเมื่อสังคมโตขึ้นก็เป็นแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วสังคมไทยควรพัฒนาการไปจุดนั้น”
เมื่อถามถึงความคาดหวังตั้งจังหวัดปกครองตนเอง นายชัชวาลย์ เชื่อว่าประชาชนจะเรียกร้องสิ่งนี้เสียงดังมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการประเมินในปัจจุบัน เพราะช่วงที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 50 จังหวัดมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ และเชื่อในที่สุด หากเป็นรัฐบาลที่ดีก็ต้องทำตามเสียงเรียกร้องหรือความต้องการของประชาชน แต่ใช้ระยะเวลายาวนานเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัย
“ถ้ารัฐบาลยังรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางก็จะเกิดความขัดแย้งระหว่างตรงกลางกับท้องถิ่นมากขึ้น เพราะว่าการกำหนดโครงการที่ตรงกลางส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นต่าง ๆนายชัชวาลย์ กล่าว และว่า จริง ๆ แล้วต้องให้ท้องถิ่นมามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยการกระจายอำนาจจะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นกับรัฐกลางเกิดความขัดแย้งลดลง และปรองดองกันได้อย่างแท้จริงมิใช่เป็นแค่ภาพ
ในส่วนการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนตำรวจจังหวัดนั้น นายชัชวาลย์ กล่าวด้วยว่า เป็นไปตามที่เราพยายามนำเสนอกัน คือ ให้มีจังหวัดปกครองตนเอง เเล้วระบบการจัดเก็บภาษีจะต้องเปลี่ยนไปด้วย โดยจากเดิมเคยจัดสรรให้จังหวัดเพียง 20% มาเป็น 70% เเละนำเข้าส่วนกลางเพียง 30% เเทน .