จอน อึ๊งภากรณ์ : ขอบข่ายอำนาจกฎอัยการศึก การนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร
“..การคิดต่างทางการเมืองนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพอยู่แล้วในระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น สิ่งที่หลายคนถูกจับกุมอยู่ตอนนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความผิดแต่อย่างใดเลย .."
เมื่อเร็วๆ นี้ ภายหลังการประชุมหารือของอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในประเด็นจุดยืนและกรอบการทำงานเรื่องการปกป้องสิทธิของประชาชนท่ามกลางสถานการณ์ของการประกาศใช้กฎอัยการศึก การรัฐประหาร และการนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร
"จอน อึ๊ง ภากรณ์" ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงความกังวลต่อขอบข่ายอำนาจของกฎอัยการศึกและการนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร ตามคำสั่ง คสช.
โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ ขณะนี้ มีประเด็นใดที่กังวลเป็นพิเศษต่อกรณีที่มีการนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร
จอน : ผมคิดว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลหทาร เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว เพราะว่ามาตรฐานความยุติธรรมที่จะได้รับ ไม่เท่ากับความเป็นศาลพลเรือน ทั้งในแง่มุมของข้อกล่าวหา ที่ว่าความผิดซึ่งเกิดขึ้นระหว่างประกาศกฏอัยการศึก ก็จะไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ ฎีกา นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ดังเช่นการถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 และ มาตรา 116 ซึ่งเป็นคดีที่มีโทษหนัก
ขณะที่ถ้าหากพิจารณาในศาลชั้นต้น หรือศาลพลเรือน ข้อเท็จจริงที่ผ่านมามีหลายกกรณีที่เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่เมื่อ อุทธรณ์ ฎีกาแล้ว ผลของการตัดสินก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าเมื่อขึ้นศาลทหาร จะมีประเด็นเรื่องความยุติธรรมที่ได้รับไม่เท่าเทียมกับศาลในระบบปกติ
@ มีความเห็นอย่างไร ต่อองค์คณะตุลาการ หรือกระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหาร
จอน : ตอนนี้ถ้าขึ้นศาลทหาร ตุลาการก็ชัดเจนว่าเป็นทหารกรมพระธรรมนูญ แต่ยังไม่แน่ชัดว่า ตอนนี้ องค์คณะตุลาการมีเพียงคนเดียว หรือ มากกว่าหนึ่งคน ซึ่งถ้ามีมากกว่าหนึ่งคน ตุลาการส่วนที่เหลืออาจจะไม่ใช่ผู้ที่จบการศึกษามาทางกฎหมายก็ได้ เพราะรูปแบบของศาลทหาร เขาจะนำผู้บังคับบัญชาของจำเลยมาเป็นส่วนหนึ่งขององค์คณะด้วย ซึ่งส่วนนี้ ไม่เป็นธรรมกับพลเรือน เพราะพลเรือนไม่มีผู้บังคับบัญชา
@ ยังมีประเด็นใดอีกบ้าง เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ติดตามอยู่
จอน : ประเด็นที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ในขณะนี้ ที่เป็นการละเมิดสิทธิ คือ การเรียกบุคคลมารายงานตัว ตามคำสั่งของ คสช. แต่ขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศ เพราะขัดกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างชัดเจน เพราะบุคคลจะถูกจับกุมหรือกักขังโดยอำเภอใจ มิได้ และกรณีที่บุคคลซึ่งถูกจับกุม มีการถูกบังคับให้บอกรหัสเข้าเฟซบุ๊ค อีเมลล์ เพื่อเข้าถึงข้อมูล และมีการนำข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของเขามาตั้งข้อหาเพิ่มเติม กรณีเช่นนี้ ผมถือว่าขัดกับหลักการในกระบวนการนิติธรรม แม้แต่ การไม่แจ้งผู้ถูกจับกุมว่าพาไปที่ไหน การไม่ให้ญาติเข้าพบระหว่างการกักตัว การไม่ให้ญาติทราบว่าพาไปที่ไหน และไม่ให้มีการติดต่อ นี่คือการละเมิดสิทธิ
ส่วนข้ออ้างที่ว่าหากบอกว่าพาตัวไปไว้ที่ไหนแล้วกลัวจะเกิดความวุ่นวาย ผมว่า เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะโดยทั่วไป ไม่มีม็อบที่ไหนจะไปบุกค่ายทหาร
สำหรับผม นี่เป็นการสร้างความหวาดกลัว โดยเฉพาะการนำผ้ามาปิดตาก่อนจะพาไปค่ายทหารก็เป็นเรื่องน่ากลัว และละเมิดสิทธิ
@ แล้วคิดเช่นไรต่อกรณีที่เรียกผู้เห็นต่างทางการเมือง เข้ารายงานตัว
จอน : การคิดต่างทางการเมืองนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพอยู่แล้วในระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น สิ่งที่หลายคนถูกจับกุมอยู่ตอนนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความผิดแต่อย่างใดเลย เพราะเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย เขาไม่มีความผิดอะไร ขณะที่การยึดอำนาจ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 การยึดอำนาจการปกครองประเทศนั้น ทำไม่ได้ แต่กลายเป็นว่าผู้ที่ยึดอำนาจ กลายเป็นผู้ที่มีความชอบธรรม ต้องถามว่ามีสิทธิ์อะไรที่จะเรียกตัวคนไป เพราะถ้าในระบบปกติ ก็ต้องออกหมายเรียก
ต้องมีหลักฐานว่าเขากระทำความผิด แล้วจึงออกหมายเรียก ส่วนกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้อยู่ตอนนี้ ผมเห็นว่าประเทศไทยควรจะยกเลิกไปนานแล้ว เพราะเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมากที่สุด เมื่อเทียบกับพรบ.ความมั่นคง และพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
กฎอัยการศึกถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดและให้อำนาจทหารมากที่สุด ไม่ได้ให้ อำนาจพลเรือน
…....
** หมายเหตุ : จอน อึ๊งภากรณ์ เป็นบุตรชายคนโตของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ( อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ) และนางมากาเร็ต สมิธ-ศ.ดร.ป๋วย มีบุตร 3 คน คือ จอน, ไมตรี และ ใจลส์ ใจ อึ๊งภากรณ์
จอนตกเป็น จำเลยที่ 1 ในคดีบุกรัฐสภา ประท้วงการร่างกฎหมายของสมาชิกภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 โดยพนักงานอัยการกองคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องจอนร่วมกับจำเลยรายอื่นๆ ประกอบด้วยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), นายพิชิต ไชยมงคล อายุ 31 ปี ,นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท อายุ 46 ปี, นายนัสเซอร์ ยีหมะ, นายอำนาจ พละมี, นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ,น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กสทช. และน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ศาลพิพากษารอลงอาญา 2 ปี
ภาพประกอบจาก : www.manager.co.th