ครบ 2 ปี กฎกระทรวง ฉ. 14 ‘แจ๋วรับใช้’ ร้องสิทธิประกันสังคม มาตรา 33
เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านเรียกร้องกรมสวัสดิการฯ บังคับใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 14 คุ้มครอง ‘แจ๋วรับใช้’ จริงจัง เพิ่มสิทธิประกันสังคม มาตรา 33 ‘ผอ.สำนักคุ้มครองแรงงาน’ เผยล่าช้า เหตุไร้ฐานข้อมูล เตรียมขอความร่วมมือทุกฝ่าย ‘สุนี ไชยรส’ ชงโปรโมทผ่านสื่อเปิดลงทะเบียนจัดเก็บประวัติทั่วประเทศ
วันที่ 15 มิถุนายน 2557 เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ร่วมกับคณะทำงานเพื่องานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน จัดสัมมนา ‘ก้าวต่อไปในการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน ทุกชาติ ทุกภาษา ในประเทศไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม’ เนื่องในวันลูกจ้างทำงานบ้านสากล 16 มิถุนายน ของทุกปี ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ
โดยเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านประเทศไทย ได้มีข้อเรียกร้องให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 14 เพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านทุกคนในประเทศไทยอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และให้สำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33 พร้อมทั้งให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ได้ด้วย
นางระกาวิน ลีชนะวานิชพันธ์ ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ผลักดันให้เกิดอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งเมื่อปี 2555 ประเทศไทยได้ประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 14 เพื่อดำเนินนโยบายดังกล่าวแล้ว
ผู้แทนองค์การแรงงานฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีลูกจ้างทำงานบ้านราว 58 ล้านคน โดยอยู่ในเอเชียถึง 20 ล้านคน แต่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งฟิลิปปินส์ถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในการให้สิทธิคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านมากที่สุดในเอเชีย
“เราพบกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านจากหลายประเทศในอาเซียนได้รับสิทธิหยุดงานตามกฎหมาย แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศในโลกถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่” นางระกาวิน กล่าว และว่าดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดการคุ้มครองขึ้น ถึงแม้จะยากกว่าแรงงานนอกระบบอื่น แต่ก็มิใช่จะเป็นไปไม่ได้เลย
ด้านนายอนุชน วรินทร์เสถียร ผอ.สำนักคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ไทยมีการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด โดยเฉพาะกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 ได้เพิ่มสิทธิคุ้มครองจากเดิมมากขึ้นให้ลูกจ้างทำงานบ้านมีสิทธิหยุดงานได้ แม้จะไม่เท่าเทียมกับลูกจ้างในระบบ เนื่องจากบริบทการทำงานแตกต่างกัน
ส่วนการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้มาสองปี ผอ.สำนักคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า ยังไม่มีลูกจ้างรายใดร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานแรงงาน โดยอาจเกิดจากลูกจ้างไม่ทราบสิทธิของตัวเอง หรือได้รับการดูแลจากนายจ้างดีแล้ว และได้รับผลตอบแทนมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
นายอนุชน ยังกล่าวถึงปัญหาบังคับใช้กฎหมายที่ติดขัดเกิดจากกรมสวัสดิการฯ ไม่มีฐานข้อมูลลูกจ้างทำงานบ้านที่ชัดเจน โดยปัจจุบันมีจำนวนลูกจ้างทำงานบ้านถูกต้องตามกฎหมายราว 3 แสนคน หนึ่งในนั้นเป็นแรงงานข้ามชาติ 4.5 หมื่นคน จึงอยากขอความร่วมมือทุกภาคส่วนสร้างฐานข้อมูลเหล่านี้ขึ้น เพื่อมีทิศทางการคุ้มครองที่ดีต่อไป
ขณะที่นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ลูกจ้างทำงานบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หากกรมสวัสดิการฯ อ้างว่าไม่มีฐานข้อมูลก็สามารถดำเนินการได้ โดยการประกาศขึ้นทะเบียนลูกจ้างทำงานบ้านหรือรวบรวมข้อมูลจากบริษัทนายหน้า แต่ทั้งนี้จะต้องจัดกระบวนการนายหน้าใหม่ก่อน ไม่ให้มีการหักค่าหัวคิว เพราะมิเช่นนั้นก็จะไม่มีใครกล้าร้องเรียนหน่วยงานรัฐได้หากถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่เชิงนโยบาย
สุดท้ายนายอุกฤษณ์ กาญจนเกตุ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาว่าจะต้องมีการลงนามในสัญญาจ้าง แม้ไทยจะสามารถจ้างงานด้วยวาจาได้ก็ตาม แต่ควรมีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างทำงานบ้านด้วย นอกจากนั้นควรประชาสัมพันธ์ผ่านองค์กรต่าง ๆ ถึงสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ
“ลูกจ้างทำงานบ้านต้องพัฒนาตัวเองให้นายจ้างเห็นความสำคัญ จนรู้สึกว่าวันใดขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก” ผู้แทนสภาองค์การนายจ้างฯ กล่าว และฝากถึงแรงงานข้ามชาติให้พยายามเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย เพื่อป้องกันการถูกกดขี่ด้วย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญของกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 ให้สิทธิลูกจ้างทำงานบ้านมีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยมีระยะห่างไม่เกิน 6 วัน, มีวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี, วันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี และวันลาป่วยเท่าที่ป่วยจริง โดยให้ค่าจ้างได้ไม่เกิน 30 วันทำงาน/ปี ส่วนสิทธิอื่นเดิมตามกฎหมายให้ได้รับการคุ้มครองต่อไป .
อ่านประกอบ:งานบ้านควรได้รับการคุ้มครองเช่นงานทั่วไป